xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กแอร์พอร์ตลิงก์แจงไม่ผิด พ.ร.บ.จัดซื้อฯ อ้างเร่งด่วน ลุยเซ็นจ้างซ่อมอาณัติสัญญาณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บิ๊กแอร์พอร์ตลิงก์แจงจ้างบริษัทเดิมซ่อมบำรุงระบบอาณัติสัญญาณไม่ผิดกฎหมายจัดซื้อ เร่งเซ็นสัญญาระยะเวลา 2 ปี วงเงิน 142.5 ล้านไปแล้วเมื่อ 30 พ.ย. ชี้เหตุเลือกเฉพาะเจาะจงเพราะเป็นตัวแทนจากซีเมนส์ ด้านคนในแอร์พอร์ตลิงก์เผยมีบริษัทตัวแทนซีเมนส์อีกรายซึ่งไม่เชิญร่วมประมูล ไม่เข้าข่ายใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ด้าน “อาคม-ไพรินทร์” เพิ่งรู้ รับไปตรวจสอบข้อมูล
 
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รับทราบถึงกรณีการดำเนินการจ้างเหมางานซ่อมบำรุงรักษาระบบอาณัติสัญญาณ (Signalling System) รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์อาจมีความเร่งรีบไม่เหมาะสมและดำเนินการล็อกสเปกหรือไม่แล้ว ซึ่ง นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ซึ่งกำกับดูแล บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด จะไปตรวจสอบเรื่องนี้ ทั้งนี้ ระบบอาณัติสัญญาณของแอร์พอร์ตลิงก์ ยังเป็นระบบของซีเมนส์ ก่อนหน้านี้ได้มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนเพื่อให้อาณัติสัญญาณเป็นระบบเปิด ซึ่งได้ให้ดำเนินการ ศึกษาข้อดี ข้อเสีย ว่าจะเป็นระบบเปิด หรือเป็นระบบเดิม ซึ่งมีตัวอย่างรถไฟฟ้าบีทีเอสที่เปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณจากซีเมนส์ไปเป็นบอมบาดิเอร์ ซึ่งพบว่ายังมีปัญหาอยู่บ้าง ดังนั้นในขณะนี้ระบบอาณัติสัญญาณเดิมของแอร์พอร์ตลิงก์ยังให้บริการได้ไม่มีปัญหา
         
ส่วนกรณีจ้างซ่อมบำรุง ระยะ 2 ปี จากที่ก่อนหน้านี้ทำสัญญาจ้างแบบปีต่อปีนั้น ทางแอร์พอร์ตลิงก์ต้องชี้แจงเหตุผลความจำเป็น  
       
ขณะที่ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ระบุว่า ขอรับฟังข้อมูลทั้งหมดก่อน ซึ่งตนจะเร่งไปดูปัญหาของแอร์พอร์ตลิงก์

ด้านนายวิสุทธิ์ จันมณี กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ได้ทำหนังสือชี้แจง นสพ.ผู้จัดการรายวัน 360 องศา สรุปว่า การจ้างดังกล่าวเป็นการจ้างเหมาบริการทั้งระบบอาณัติสัญญาณ ทั้งผู้ปฏิบัติงาน ผู้เชี่ยวชาญ อุปกรณ์ เพื่อให้ระบบรถไฟฟ้าสามารดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกี่ยวกับ โครงการปรับเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณ วงเงิน 1,918 ล้านบาท ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีมติเห็นชอบ และการที่บอร์ดแอร์พอร์ตลิงก์เห็นชอบให้ทำสัญญาจ้างซ่อมบำรุงระบบอาณัติสัญญาณ 2 ปีนั้น เนื่องจากต้องการลดความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการเดินรถ

และเป็นการจ้างรายเดิมที่เป็นตัวแทนโดยตรงจากบริษัท ซีเมนส์ จำกัด และต้องการให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน และครอบคลุมระยะเวลาที่จะมีการดำเนินการปรับปรุงระบบบางส่วนที่หมดอายุการใช้งาน และไม่มีผลิตแล้ว ซึ่งผู้รับจ้างมีความเชี่ยวชาญในระบบโดยตรง สามารถประเมินอะไหล่สำรองโดยผู้รับจ้างได้เหมาะสมกว่าจ้างปีต่อปี นอกจากนี้ยังเป็นการลดความแปรผันของราคาที่จะเกิดขึ้นในกรณีจ้างงานปีต่อปี 

ยืนยันว่า บริษัท  เอส.ที.มาสเตอร์เทค จำกัด เป็นตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทซีเมนส์ เป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 56 วรรค (2) วิธีเฉพาะเจาะจง (ค) การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีผู้ประกอบการ ซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียวหรือการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบการและไม่มีพัสดุอื่นใช้ทดแทนได้ ยืนยันบริษัท เอส.ที.มาสเตอร์เทค จำกัด มีคุณสมบัติเป็นผู้เสนอราคาตามข้อกำหนด
         
อีกทั้งยืนยันไม่ได้เร่งดำเนินการ โดยกระบวนการเป็นไปตามวงรอบซ่อมบำรุงที่จะหมดสัญญาลงในวันที่ 30 พ.ย. 2560 ใช้เวลาดำเนินการตั้งแต่เสนอเรื่อง ร.ฟ.ท.จนถึงลงนามกว่า 3 เดือน คือตั้งแต่ 28 ก.ย. 2560 และบอร์ด ร.ฟ.ท.เห็นชอบให้แอร์พอร์ตลิงก์ดำเนินการจ้างแทน ร.ฟ.ท. วันที่ 4 ต.ค. 2560 และบอร์ดแอร์พอร์ตลิงก์เห็นชอบวงเงินจ้างไม่เกิน 137,164,224.48 บาท และได้ลงนามสัญญาเมื่อ 30 พ.ย. 2560 และสัญญาเริ่มในวันที่ 1 ธ.ค. 2560 ส่วนค่าจ้างจะจ่าย 24 งวด งวดละเท่าๆ กัน ไม่มีการจ่ายล่วงหน้า 15% ของมูลค่าสัญญาแต่อย่างใด
 
แหล่งข่าวจาก บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด กล่าวว่า การเลือกจ้างรายเดิมโดยไม่เปิดประมูลอาจเข้าข่ายทำสัญญาต่อเนื่อง (Repeat Order) หรือไม่ ขณะที่เลือกใช้วิธีเฉพาะเจาะจงตาม พ.ร.บ.จัดซื้อฯ ปี 2560 ซึ่งจะต้องเริ่มจากกระบวนการแรกก่อนคือเปิดประมูล นอกจากนี้ เมื่อเทียบจากสัญญาซ่อมบำรุงเดิมเมื่อปี 2560 ที่แอร์พอร์ตลิงก์ได้เปิดประมูลวิธีพิเศษ ระยะสัญญา 1 ปี โดยปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดซื้อฯ ฉบับเก่า มีการเรียกตัวแทนของซีเมนส์มายื่นเสนอราคา ซึ่งขณะนั้นได้เชิญ 3 ราย คือ ซีเมนส์ เจ้าของระบบ อีก 2 บริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซีเมนส์ คือ บริษัท เอส.ที.มาสเตอร์เทค จำกัด และ บริษัท พีซีเอ็ม ทรานสปอร์ต แอนด์ อินดัสเตรียล ซัพพลายส์ จำกัด

ขณะที่ล่าสุดกำหนด TOR ข้อ ฒ. มีเงื่อนไขให้ผู้รับจ้างต้องเปลี่ยนอะไหล่อุปกรณ์ประกอบวัสดุสิ้นเปลืองให้ตรงกับยี่ห้อ รุ่น ขนาด และมีคุณสมบัติเดิมตามที่ติดตั้งไว้ โดยเพิ่มเติมว่า “ในกรณีอุปกรณ์ประกอบวัสดุสิ้นเปลืองเลิกผลิต ไม่สามารถหาซื้อได้ ให้ผู้รับจ้างหาอะไหล่ อุปกรณ์ประกอบวัสดุสิ้นเปลืองที่มีสามารถใช้ทดแทนอุปกรณ์เดิมได้” ดังนั้น นอกจากไม่ตรงตาม พ.ร.บ.จัดซื้อฯ แล้ว การไม่เชิญบริษัทที่เป็นตัวแทนซีเมนส์เข้าร่วมเป็นการดำเนินการที่ถูกต้อง และโปร่งใสหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น