แอร์พอร์ตเรลลิงก์เปิดบริการรวม 6 ปี ขนผู้โดยสารรวมถึง 108.3 ล้านคน เตรียมปรับแผนเร่งจัดหาตู้รถไฟฟ้าเพิ่มอีก 15 ตู้ใช้งานช่วงจัดซื้อรถใหม่ 7 ขบวนยังไม่คืบ เตรียมทำแผนชงการรถไฟฯ ภายในปีนี้ ส่วนการซ่อมบำรุงใหญ่รถ 9 ขบวนเริ่มตั้งแต่ พ.ค. 60
นายวิสุทธิ์ จันมณี กรรมการ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟฟท.อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดหาตู้รถไฟฟ้าเพิ่มให้เพียงพอต่อการรองรับผู้ใช้บริการ โดยปัจจุบันรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์รวม City Line และ Express Line มีทั้งหมด 9 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ จะปรับเพิ่มเป็นขบวนละ 6-7 ตู้ ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าต้องจัดหาอีก 15 ตู้ โดยกำลังหารือกับบริษัทซีเมนส์ ซึ่งเป็นระบบและรถไฟฟ้าที่แอร์พอร์ตเรลลิงก์ใช้อยู่ปัจจุบัน เพราะต้องดูรายละเอียดเรื่องระบบ และการใช้งานต่างๆ ด้วย
ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ก่อนนำเสนอไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อขออนุมัติงบประมาณ และเริ่มการสั่งผลิตช่วงปี 2561 เมื่อนำมาวิ่งบริการแล้วจะสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มได้อีก 40,000 คนต่อวัน นอกจากนี้ รฟฟท.ยังเตรียมดำเนินการซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul) รถไฟฟ้าทุกขบวน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่ง 1 ขบวนจะใช้เวลา 1 เดือน แต่มั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อการให้บริการ เพราะที่เหลืออีก 8 ขบวนยังบริหารจัดการให้รองรับเพียงพอต่อความต้องการได้
ขณะเดียวกัน รฟฟท.ยังมีแผนที่จะปรับปรุงตู้สัมภาระ ซึ่งอยู่ในขบวนรถไฟฟ้า Express Line ที่ปัจจุบันปรับตู้โดยสารมาเป็นแบบ City Line ทั้งหมดแล้วด้วยการเพิ่มที่นั่งจากเดิมมี 200 ที่นั่ง เป็น 700 ที่นั่ง เหลือเพียงตู้สัมภาระที่ยังไม่ได้ปรับปรุง โดยมีทั้งหมด 4 ตู้ (ขบวนละ 1 ตู้) ซึ่งจะต้องมีการทำที่นั่งผู้โดยสารและติดเครื่องปรับอากาศและระบบต่างๆ เพิ่มเติม วงเงินรวมประมาณ 20 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดพร้อมให้บริการได้ช่วงปลายปีนี้
“ยอมรับว่าแผนจัดซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 7 ขบวนจะเดินไปลำบากและคงอีกยาวไกล ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะจบ ดังนั้นเราก็ต้องมาบริหารจัดการเท่าที่เราสามารถทำได้ก่อน เช่น การจัดหาตู้รถมาเพิ่ม ซึ่งเป็นนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สั่งการมาช่วงปลายปี 2559” นายวิสุทธิ์กล่าว
นายวิสุทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า รฟฟท.ยังมีแผนปรับปรุงการให้บริการเพื่อความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร ด้วยการย้ายเครื่องจำหน่ายตั๋วโดยสารอัตโนมัติทั้ง 8 สถานีให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม และมีแผนจะเพิ่มปริมาณตู้ให้มากขึ้นภายในสถานีที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เช่น สถานีพญาไทเดิมมีอยู่ 9 เครื่อง จะเพิ่มอีก 3 เครื่อง สถานีลาดกระบังเดิมมี 5 เครื่อง จะเพิ่มอีก 3 เครื่อง และสถานีสุวรรณภูมิเดิมมี 9 เครื่อง จะเพิ่มอีก 1 เครื่อง
ด้านนายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มสายงานปฏิบัติการ และซ่อมบำรุง รฟฟท. เปิดเผยว่า แผนการจัดซื้อรถไฟฟ้า 7 ขบวนนั้น ล่าสุดคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟฟท. และบอร์ด ร.ฟ.ท.ได้มีมติเห็นชอบให้ รฟฟท.ทำการปลดล็อกระบบของซีเมนส์ก่อน เพื่อให้สามารถรองรับการเชื่อมต่อสายทางรถไฟฟ้าอื่นๆ ได้ในอนาคต โดยมีวงเงินปลดล็อก 1,900 ล้านบาท ซึ่งทราบว่า ร.ฟ.ท.ได้ส่งเรื่องไปตามขั้นตอนเพื่อเสนอของบประมาณแล้ว และเมื่อปลดล็อกระบบเรียบร้อยแล้วจึงจะสามารถดำเนินการเปิดประกวดราคาเพื่อจัดหาขบวนรถใหม่ได้
ทั้งนี้ ในปี 2559 รฟฟท.มีผู้โดยสาร 21.1 ล้านคน โดยจากที่เปิดให้บริการมารวม 6 ปี ตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบันวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพบว่ามีปริมาณผู้โดยสารรวมที่ 108.3 ล้านคน เฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 10-12% ต่อปี โดยขณะนี้ รฟฟท.มีผู้โดยสารวันธรรมดาที่ 6.8-7 หมื่นคนต่อวัน วันเสาร์-อาทิตย์เฉลี่ยที่ 5 หมื่นคนต่อวัน
นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังมีนโยบายด้านการให้บริการเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาใช้บริการอีกด้วย โดยนโยบายที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ การปรับเปลี่ยนภายในขบวนรถไฟฟ้าด่วน 4 ขบวน และการปรับเปลี่ยนตารางเดินรถทั้งวันจันทร์-ศุกร์ และวันเสาร์-อาทิตย์ ให้มีความถี่มากขึ้น ซึ่งทั้ง 2 นโยบายได้ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย และเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสารในแต่ละวัน สังเกตได้จากยอดจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นจนทำลายสถิติยอดผู้โดยสารสูงสุด (New High) ไปเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ที่จำนวน 80,706 คน
รายงานข่าวแจ้งว่า ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ รฟฟท.ได้ร่วมกับสายการบินเวียตเจ็ท จัดทำโปรโมชันกระตุ้นการขาย โดยผู้โดยสารที่มีบัตรสมาร์ทพาสของแอร์พอร์ตเรลลิงก์สามารถนำมาใช้เป็นส่วนลดในการซื้อตั๋วโดยสารเวียตเจ็ท 10% และสายการบินเวียตเจ็ทจะมีการจำหน่ายบัตรสามาร์ทพาสแอร์พอร์ตเรลลิงก์บนเครื่องบินด้วย