“อาคม” ดันประมูลรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน ราคากลางเดิม ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อฯ เดินหน้าเชิญ 9 บริษัท ลุ้น 7 ธ.ค.จะมียื่นเสนอราคาหรือไม่ ด้าน ขสมก.ยอมรับเอกชนเมินประมูล เหตุราคากลางต่ำ รับประกันโหด 10 ปีมีแต่ขาดทุน “ไพรินทร์” ยันนโยบายซื้อเมล์NGV ตามเดิม โดยจะเร่งให้เร็วที่สุด ส่วนล็อตใหม่เล็งรถเมล์ไฟฟ้า ชี้เป็นเทรนด์พลังงานที่เหมาะสมของอนาคต
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสาร จำนวน 489 คัน ราคากลาง 4,020 ล้านบาทด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ว่า หลักการ ขสมก.ต้องเดินตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.จัดซื้อฯ 60) ซึ่งหลังจากประมูลรอบแรกแล้วไม่มีผู้เสนอราคาฯ ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อฯ ให้ใช้ขั้นตอนที่ 2 คือ วิธีคัดเลือก ซึ่ง ขสมก.ได้ส่งหนังสือเชิญเอกชนมาเสนอราคาวันที่ 7 ธ.ค. หากมีคนยื่นและต่ำกว่าราคากลางก็ไม่มีปัญหา แต่หากสูงกว่าราคากลางสามารถเจรจาต่อรองให้อยู่ในกรอบ แต่หากไม่สามารถเลือกได้ต้องไปสู่ขั้นตอนที่ 3 คือ เรียกเฉพาะเจาะจง มาตกลงราคา ซึ่ง พ.ร.บ.จัดซื้อฯ ให้ขั้นตอนการทำงานไว้แล้ว ตอนนี้คงต้องรอวันที่ 7 ธ.ค.ก่อน
ด้าน นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า การจัดซื้อรถเมล์ NGV จำนวน 489 คันนั้น ขณะนี้ถือว่าเวลาล่วงเลยมามากแล้ว และถึงเวลาที่คนกรุงเทพฯ ได้รับของขวัญปีใหม่จะได้มีรถเมล์ใหม่ใช้ ส่วนประเด็นจะเป็นรถเมล์ NGV หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การไม่มีรถเมล์ใหม่สำคัญกว่าจะเลือกพลังงานเชื้อเพลิงไหน ซึ่งปัจจุบันราคา NGV ได้ลอยตัวแล้ว แต่เมื่อมีแผนจัดหา NGV จำนวน 489 คันไว้แล้วก็เห็นควรให้เดินหน้าต่อไปและต้องเร็วที่สุด ส่วนล็อตใหม่ที่จะจัดหาเพิ่มจะต้องมาพิจารณาเชื้อเพลิงที่เหมาะสมอีกครั้ง ซึ่งพลังงานไฟฟ้าเป็นทิศทางที่จะเกิดขึ้นและจะมีความนิยมในไม่ช้า
นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า ปัญหาการจัดหารถเมล์ NGV จำนวน 489 คันเปิดประมูลหลายครั้งไม่สำเร็จมี 2 เรื่องหลัก คือ ราคากลางที่คันละ 3.549 ล้านบาท ซึ่งเอกชนที่เข้าร่วมยืนยันว่าไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่ง ขสมก.ได้สอบถามบริษัทขายรถทั้งในและต่างประเทศ ยืนยันว่าเป็นราคาที่ต่ำเกินไป ผู้เข้ามาดำเนินการจะประสบปัญหาขาดทุน และประเด็นเรื่องหลักประกันสัญญา วางระยะเวลา 10 ปี ทั้งตัวรถและซ่อมบำรุง ซึ่งเอกชนมองว่าในเรื่องตัวรถควรจะจบเมื่อส่งมอบรถแล้ว ส่วนซ่อมบำรุง 10 ปี พอรับได้
ทั้งนี้ ในวันที่ 7 ธ.ค. ขสมก.จะให้เอกชนรวม 9 บริษัทเข้าเสนอราคา ซึ่งเป็นวิธีคัดเลือก ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อฯ 60 หากไม่มีเอกชนรายใดยื่นเสนอราคาก็อาจจะต้องพิจารณาทบทวนเรื่องราคากลาง หรือหากจำเป็นต้องปรับราคาเพื่อให้มีผู้เสนอราคาได้มากรายแข่งขันได้