xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาเยอะ! ขสมก.สั่งยุติเครื่องหยอดเหรียญ เรียก “ช ทวี” เจรจาแก้สัญญาจ่ายแค่ 800 คัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ขสมก.สั่งเลิกติดตั้งเครื่องหยอดเหรียญ (cash box) บนรถเมล์ หลังพบปัญหาใช้งานไม่ได้ ไม่เหมาะกับสภาพจริง เตรียมเจรจา ช ทวี แก้ไขสัญญาใหม่ ส่วน 800 คันสั่งของมาแล้วต้องยอมจ่ายค่าเช่า “ไพรินทร์” ลั่นทุกโครงการต่อจากนี้ต้องทดสอบว่าใช้งานได้จริงก่อนประมูล “ณัฐชาติ” เผยอนาคตไม่ใช้เงินสด ใช้ E-Ticket และมีตั๋วร่วม พร้อมเร่งปรับแผนฟื้นฟู ชะลอปลดพนักงาน ซื้อเมล์ไฟฟ้า 35 คันทดลองวิ่งก่อน หลังพบข้อจำกัด และต้นทุนแพง

นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บอร์ด ขสมก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้สั่งบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ยุติการติดตั้งเครื่องเก็บค่าโดยสาร หรือ Cash box บนรถโดยสารแล้ว หลังจากที่พบมีปัญหาทางเทคนิคทำให้ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตามสัญญาจะมีการติดตั้งบนรถเมล์ 2,600 คัน ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการติดตั้งล็อตแรกจำนวน 800 คันอยู่ ดังนั้นจะให้เดินหน้าทำให้เสร็จภายในวันที่ 12 ธ.ค. 2560 ตามสัญญาไปก่อน ซึ่งหากไม่เสร็จในส่วนนี้จะปรับส่วนที่เหลืออีก 1,800 คันนั้นจะเร่งเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญา

นอกจากปัญหาทางเทคนิคของเครื่องหยอดเหรียญ หรือ Cash box แล้วยังมีข้อจำกัดในการใช้งาน เช่น ในชั่วโมงเร่งด่วน (Rush Hour) ที่อาจจะรองรับไม่ไหวจนทำให้เกิดปัญหาจราจรเพิ่ม อีกทั้งเทคโนโลยีจะพัฒนาไปเป็น E-Ticket และบัตรแมงมุม หรือตั๋วร่วมทั้งหมด ภายใน 2 ปีจะไม่มีการใช้เงินสดทุกอย่างจะใช้บัตรหมด ซึ่งประชาชนจะมีการปรับตัวแล้ว

ส่วนบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (E-Ticket) บนรถ 2,600 คันจะไม่มีการแก้ไข โดยขณะนี้ บ.ช ทวีได้ติดตั้งครบ 800 คันแล้ว อยู่ระหว่างทดสอบการใช้งาน ส่วนที่เหลือจะต้องติดตั้งให้ครบภายในเดือน มิ.ย. 2561

“ผมเข้ามารับหน้าที่ประธานบอร์ด เมื่อทำสัญญานี้แล้ว ถ้าผมมาก่อนจะไม่ให้ทำแน่นอน เพราะทราบว่ามีการทดลองจริงแต่บนรถ 1-2 คันและเป็นรถที่จอดแล้วก็คิดว่าใช้ได้ ซึ่งน้อยไป ควรทดลอง 40-50 คันและกำหนดพื้นที่ทดลองเวลา 3-6 เดือนเพื่อให้มั่นใจว่าใช้งานได้จริง ไม่มีปัญหาในแต่ละพื้นที่แต่ละช่วงเวลา แล้วค่อยประมูล ตอนนี้สั่งให้ทำแค่ 800 คันเพราะทางเอกชนสั่งของมาแล้ว ส่วนที่เหลือยุติ ส่วนเงินจะจ่ายตามจริงเพราะเป็นสัญญาเช่า”

***“ไพรินทร์” สั่งทุกโครงการต้องทดสอบว่าใช้งานได้จริงก่อนประมูล

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขสมก.รายงานว่ามีปัญหาทางเทคนิคและการใช้งานของระบบ E-Ticket และเหรียญ (Cash Box) ซึ่งได้ให้นโยบายว่า ก่อนที่จะเปิดประมูลจัดซื้อใดๆ ควรทำพื้นที่ในการทดลองพิเศษ หรือ sandbox ก่อน โดยเชิญผู้สนใจเข้ามาทำโครงการในพื้นที่ทดลองก่อนเพื่อประเมินข้อมูล ซึ่งจะเห็นปัญหาก่อนจากนั้นแก้ไขแล้วค่อยเปิดประมูลจัดซื้อ

“ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยให้ธนาคารต่างๆ ทำการทดลองการจ่ายเงินด้วยระบบคิวอาร์โค้ด โดยจะมีพื้นที่ทดลอง ระยะเวลาทดลอง เพื่อสรุปข้อมูล ดังนั้น โครงการในอนาคต ขสมก.จะต้องทำพื้นที่ทดลองก่อนไปจัดซื้อจัดจ้าง และไม่ต้องมีปัญหาทะเลาะกันภายหลัง เพราะเทคโนโลยีจากต่างประเทศเมื่อนำมาใช้ในประเทศไทยอาจจะมีข้อจำกัด และเกิดปัญหาได้”

ทั้งนี้ ขสมก.ได้ทำสัญญากับ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ในการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (E-Ticket) และเครื่องเก็บค่าโดยสาร หรือ Cash box บนรถโดยสารจํานวน 2,600 คัน มูลค่าโครงการ 1,665,000,000 บาท ระยะสัมปทาน 5 ปี

***ปรับแผนฟื้นฟู ชะลอลดพนักงาน ซื้อเมล์ไฟฟ้า 35 คันทดลองวิ่ง

สำหรับแผนพื้นฟู ขสมก.นั้น นายณัฐชาติกล่าวว่า จะมีการปรับแผนลดจำนวนพนักงานใหม่ จากเดิมที่จะเร่งลดภายใน 2 ปี กว่า 2,000 คน และเพื่อให้สอดคล้องกับการนำ Cash box มาใช้ แต่พบว่าพนักงานเก็บค่าโดยสารยังมีความจำเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่านไปใช้ระบบบัตรแมงมุม ดังนั้นเมื่อยกเลิก Cash box ทำให้พนักงานจะทยอยลดไปตามปกติ ผ่านการเกษียณอายุ เฉลี่ย 400-500 คนต่อปี และโครงการ Early Retire สำหรับผู้ที่สมัครใจ ซึ่งภายใน 4 ปีจะลดลงได้ 2,000 คน

ส่วนการจัดหารถเม์ล์ใหม่ตามมติ ครม.เดิม จำนวน 3,183 คันนั้น จะปรับเหลือ 3,000 คัน โดยเป็นรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน ซึ่งอยู่ระหว่างประมูลรถเมล์ไฟฟ้าจำนวน 35 คัน และรถไฮบริด 2,476 คัน ทั้งนี้ ต้นทุนต่อหน่วยของรถเมล์ไฟฟ้าแพงที่สุด เมื่อคำนวณราคารถ ค่าเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุง อายุการใช้งาน 10 ปีต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ จึงสรุปจัดหาเพียง 35 คันเพื่อนำมาทดลองใช้ในเขตเดินรถที่ 4 อู่พระราม 9 ทดแทนรถที่มี 35 คันเดิมและวิ่งในเส้นทาง ที่ต้องคำนึงถึงการลดมลภาวะ
กำลังโหลดความคิดเห็น