ส่องระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) บนรถเมล์ 1 ต.ค. ยังไม่ครบ 800 คัน ขสมก.เผยล็อตแรกติดตั้งได้แค่ 200 คัน ส่วนอีก 600 คันจะเป็นแบบโมบายล์โฟนแทนซึ่งอ่านบัตรคนจนได้เหมือนกัน ยันติดตั้งครบ 800 คันกลาง พ.ย. พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์การใช้งานเพื่อไม่ให้สับสน ขณะที่เดินแผนฟื้นฟู ลดพนักงาน 2,000 คนใน 2-3 ปี
นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมนำระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) มาใช้บนรถโดยสารประจำทางว่า ขณะนี้ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ได้ทยอยติดตั้งระบบ E-Ticket เพื่อรองรับการใช้งานบัตรสวัสดิการของรัฐ หรือบัตรผู้มีรายได้น้อยในวันที่ 1 ต.ค. 2560 โดยจำนวน 800 คัน จะสามารถให้บริการในกว่า 70 เส้นทาง ซึ่งจะเป็นเส้นทางเดิมของรถเมล์ฟรี โดยจะติดตั้งจำนวน 200 คันเสร็จก่อนในปลายเดือน ก.ย. ส่วนอีก 600 คันจะเป็นระบบอ่านบัตรแบบมือถือ หรือโมบายล์โฟนไปก่อน และจะติดตั้งเครื่อง E-Ticket ได้ครบ 800 คันในวันที่ 15 พ.ย.เพิ่มเป็น 1,500 คันในเดือน ธ.ค. 2560 และจะติดตั้งครบทั้ง 2,600 คัน ในเดือน มิ.ย. 2561 ขณะที่เครื่องเก็บค่าโดยสารแบบเหรียญ (Cash Box) จะทยอยติดตั้งในภายหลัง
โดยยืนยันรถพร้อมใช้งานกับบัตรคนจน โดยขณะนี้รอเพียงกระทรวงการคลังแจกบัตร จากนั้นจะนำมาทดลองใช้เท่านั้นกับเครื่อง ส่วนกรณีที่อาจจะมีการขยายเวลาการใช้บัตรคนจนออกไปจากวันที่ 1 ต.ค.นั้น ขสมก.ยังไม่ได้รับการประสานใดๆ แต่ทั้งนี้จะยังคงเร่งติดตั้งระบบเพื่อให้เริ่มใช้งานวันที่ 1 ต.ค.นี้ตามเป้าหมายเดิม และในอนาคต ขสมก.วางแผนที่จะออกบัตรตั๋วร่วม ซึ่งมีชิปแมงมุมอยู่ในบัตรจำนวน 500,000 ใบเพื่อจำหน่ายสำหรับบริการในระบบรถเมล์เองด้วย
ทั้งนี้ ขสมก.จะทยอยนำรถที่ติดตั้งเสร็จแล้วออกทดลองก่อนที่จะเริ่มให้บริการจริง รวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ และวิดีโอแนะนำเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในการใช้งาน เนื่องจากอัตราค่าโดยสารในหลายราคา เช่นในรถร้อน อัตราปกติ 6.50 บาท อัตราส่วนลด 50% และอัตรารถที่ขึ้นทางด่วน นอกจากนี้ ยังได้ทยอยอบรมเพื่อให้ความรู้พนักงานทั้งหมด โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการรถเมล์ประมาณ 1.5-1.6 ล้านคนต่อวัน ดังนั้น จะต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านการบริการและระบบบริหารจัดการภายในเพื่อให้มีความคล่องตัวและไม่ผิดพลาด
โดยมีรถทั้ง 2,600 คัน เป็นรถร้อน 1,562 คัน รถปรับอากาศกว่า 2,000 คัน สาเหตุที่ช่วงแรกได้เพียง 200 คันเนื่องจากรถมีหลายแบบ เช่น รถร้อนประตูอยู่ตรงกลาง ส่วนรถปรับอากาศมีประตูหน้า และตรงกลาง อย่างไรก็ตาม ผู้ถือบัตรคนจนจะต้องนำมาบัตรมาแตะที่เครื่องอ่านบัตรในขณะที่ขึ้นและลงเพื่อเป็นการตัดค่าโดยสารอัตโนมัติ โดยรถทั้ง 800 คันจะติดสติกเกอร์สีเขียวมีข้อความ “รถคันนี้ใช้ระบบเก็บเงินอัตโนมัติ” แทนที่ข้อความ “รถเมล์ฟรีจากภาษีประชาชน” ที่กระจกด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังรถ
นายประยูรกล่าวว่า ในช่วง 2 ปีแรกจะยังคงมีพนักงานเก็บค่าโดยสารบนรถ เนื่องจากจะมีทั้งผู้ใช้บัตรคนจน ผู้ใช้เงินสด จึงต้องมีพนักงานคอยแนะนำจนกว่าจะมีระบบ E-Ticket เต็มรูปแบบ ซึ่งตามแผนฟื้นฟูองค์กร ขสมก.จะลดพนักงานลงตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์ลีรีไทร์) แบบสมัครใจในปี 2562-2564 รวม 2,000 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประเมิน และมีการศึกษาเพิ่มเติมแผนจัดหารถใหม่อีก 3,000 คัน ในการเลือกระบบเชื้อเพลิงที่เหมาะสม ได้แก่ NGV, ไฮบริด, ไฟฟ้า, ดีเซล คาดว่าจะสรุปแผนฟื้นฟูได้ใน 1-2 เดือนนี้
สำหรับแผนการบริหารจัดการบุคลากรด้านเดินรถเพื่อรองรับ E-Ticket คือ 1. โครงการฝึกขับรถโดยสาร สำหรับพนักงานเก็บค่าโดยสารที่ประสงค์จะปรับเปลี่ยนหน้าที่เป็นพนักงานขับรถ ตั้งแต่ ต.ค. 59 มีพนักงานผ่านการอบรมได้รับใบอนุญาตขับรถ 240 คน ขณะที่แต่ละปีมีพนักงานขับรถเกษียณอายุประมาณ 200 คน พนักงานเก็บค่าโดยสารเกษียณอายุ 150 คน 2. ส่งเสริมพนักงานให้มีความรู้ความสามารถในการสอบเลื่อนตำแหน่งเป็นพนักงานประจำสำนักงานเพื่อทดแทนพนังานที่เกษียณอายุ ปีละ500-600 คน 3. โครงการจ้างเหมาพนักงานขับรถที่เกษียณอายุ ซึ่งอายุไม่เกิน 65 ปี มาเป็นพนักงานขับรถทดแทนอัตรากำลังที่ขาด