xs
xsm
sm
md
lg

“ตั๋วร่วม” อืด รถไฟฟ้า 4 สายส่อหลุดเป้า มิ.ย. 60 คาด ขสมก.เช่า E-Ticket ใช้งานใน ต.ค.ได้ก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คมนาคมเร่ง “ตั๋วร่วม” คาดหลุดเป้า มิ.ย. 60 ยังเปิดไม่ได้ เหตุรถไฟฟ้า “BTS-MRT” ภาคเอกชนต้องใช้เวลาปรับปรุงระบบ คาดเร็วสุดต้นปี 61 ขณะที่รถเมล์ใช้ได้เจ้าแรก เคาะราคาเช่า E-Ticket 1.7 พันล้าน ติด 800 คันนำร่อง ส่วนแอร์พอร์ตเรลลิงก์และสีม่วงจะทยอยเปิดใช้ตามไปภายในปีนี้
 
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดการดำเนินการระบบตั๋วร่วมซึ่งมีเป้าหมายต้องการให้เริ่มใช้ได้ในเดือน มิ.ย. 60 นี้ แต่เนื่องจากยังมีการดำเนินการหลายส่วน ซึ่งอาจจะทำให้ไม่สามารถเปิดใช้ได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะฝ่ายนโยบายที่ต้องการให้เริ่มใช้กับระบบรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบันเป็นลำดับแรก ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (เฉลิมมหานคร MRT) สายสีม่วง สายสีเขียว (BTS)  ละแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เนื่องจากการเจรจากับผู้ให้บริการภาคเอกชน 2 ราย คือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในการลงทุนปรับปรุงระบบเดิม ซึ่งต้องใช้เงินรายละกว่า 100 ล้านบาทนั้นยังไม่เรียบร้อย และแม้เอกชนจะยอมรับหลักการและจะเร่งปรับปรุงทางเทคนิคของระบบจากเดิม 15 เดือนให้เร็วขึ้น เป็น 10-12 เดือน ซึ่งตั๋วร่วมจะเริ่มใช้งานได้อย่างเร็วสุดต้นปี 61
 
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วง และแอร์พอร์ตเรลลิงก์จะเริ่มปรับปรุงระบบได้ก่อนเนื่องจากเป็นของรัฐ โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ได้ของบประมาณหน่วยงานละกว่า 100 ล้านบาท และจัดทำร่าง TOR เปิดประมูลหาผู้ปรับปรุงระบบแล้ว โดยคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 7-8 เดือน ซึ่งจะเร็วกว่า BTS และสายสีน้ำเงิน (MRT)
 
ขณะที่ระบบรถโดยสารประจำทางนั้น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้เปิดประมูลเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (E-Ticket) วงเงิน 1,786.59 ล้านบาท เพื่อติดตั้งกับรถ 800 คันแล้ว โดยได้เคาะราคาเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา ใช้เวลาติดตั้งระบบ 6 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จใน ต.ค. 60 และจะขยายการติดตั้งระบบ E-Ticket อีก 2,600 คันในต้นปี 61 ดังนั้น ตั๋วร่วมน่าจะเริ่มใช้งานได้กับรถเมล์เป็นลำดับแรก ซึ่งระบบตั๋วร่วมยังได้ออกแบบให้รองรับระบบการจ่ายเงินสวัสดิการสังคมและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ของรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังได้กำหนดแผนบูรณาการเข้ากับระบบจ่ายเงินสวัสดิการภาครัฐสำหรับพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ให้เริ่มใช้ได้ในเดือน ต.ค. 2560
 
สำหรับแผนการดำเนินงานตั๋วร่วมนั้น ระยะเริ่มต้นคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (CTAC) มีมติมอบให้ รฟม.จัดตั้งหน่วยธุรกิจ (BU) ซึ่งบอร์ด รฟม.ได้มีมติจัดตั้งสำนักธุรกิจบัตรโดยสารเป็น BU แล้ว เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบ (CTC) และให้สิทธิ รฟม.ใช้ศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House (CCH) โดยสำนักงานจัดระบบการจราจรทางบก (สนข.) อยู่ระหว่างทำเรื่องส่งมอบงาน ซึ่งจะเสนอบอร์ด รฟม.เห็นชอบอีกครั้งในวันที่ 19 เม.ย.นี้ และในอนาคต รฟม.จะต้องตั้งบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือเป็น CTC โดยให้ผู้ประกอบการเอกชนเข้าร่วมถือหุ้นต่อไป
 
รายงานข่าวแจ้งว่า นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ได้ให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อให้เปิดใช้ระบบตั๋วร่วมได้ตามนโยบายในเดือน มิ.ย.นี้ โดยตามแผนงานนั้นต้องการให้เปิดใช้กับรถไฟฟ้า 4 สายในปัจจุบันก่อนเป็นกลุ่มแรก รวมถึงรถเมล์ และทางด่วน, กลุ่มที่ 2 เป็นรถไฟฟ้าสายใหม่ ใช้ได้ทันทีเมื่อเปิดให้บริการ และส่วนที่ 3 เป็นระบบนอกภาคขนส่ง เช่น ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ธนาคารต่างๆ ที่ผู้ถือบัตรจะสามารถเข้าไปชำระเงินหรือเติมเงินได้สะดวก โดยได้มีการหารือกับเครือเซ็นทรัลและซีพีเบื้องต้นแล้ว ซึ่งส่วนนี้หากติดระบบจะสามารถใช้งานได้ทันทีเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น