เปิดสิทธิประโยชน์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้วงเงินใช้เดือนละ 2-3 ร้อยบาท พร้อมส่วนลดค่าก๊าซหุงต้มทุก 3 เดือน 45 บาท แถมได้รับสิทธิ์รถเมล์ฟรี รถไฟฟ้าฟรี รถ บขส. และรถไฟฟรี สูงสุดถึง 500 บาท
หลังจากที่รัฐบาลเปิดลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (29 ส.ค.) มีมติอนุมัติโครงการประชารัฐสวัสดิการการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
โดยประชาชน 11.67 ล้านคน จากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 14.1 ล้านคน จะได้รับบัตรชิปการ์ด ชื่อว่า “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” (VELFARE CARD) ระบุชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน วัน เดือน ปีเกิด และรูปถ่าย มีอายุบัตร 5 ปี ซึ่งจะเริ่มแจกในวันที่ 21 ก.ย. และใช้ได้ตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป
ประชาชนสามารถขอรับบัตรได้ ณ จุดที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย โดยจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติได้ช่วงต้นเดือนกันยายน 2560 ที่เว็บไซต์ http://welfare2560.epayment.go.th/
สิทธิประโยชน์สำหรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะมีสิทธิพิเศษ 2 ส่วน ได้แก่
1. มาตรการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ให้วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่นๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยใช้วิธีรูดบัตรผ่านเครื่องรูดบัตรอัตโนมัติ แบ่งออกเป็น
- รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้วงเงินคนละ 300 บาทต่อเดือน
- รายได้ตั้งแต่ 30,000-100,000 บาทต่อปี จะได้วงเงินคนละ 200 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้ ยังมีวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม จากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนด 3 เดือน 45 บาท
2. มาตรการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง มีดังนี้
- วงเงินค่าโดยสารรถเมล์ ขสมก. และรถไฟฟ้า 500 บาทต่อเดือน ผ่านเครื่องแตะบัตรโดยใช้ระบบตั๋วร่วมที่เรียกว่า “บัตรแมงมุม”
แต่ ใช้ได้เฉพาะผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มี 2 ชิป (อีกชิปหนึ่งฝังอยู่ด้านใน) ที่มีภูมิลำเนา กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และ พระนครศรีอยุธยา
- วงเงินค่าโดยสาร รถโดยสาร บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) 500 บาทต่อเดือน
- วงเงินค่าโดยสารรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 500 บาทต่อเดือน
โดยใช้วิธีรูดบัตรผ่านเครื่องรูดบัตรอัตโนมัติ คนต่างจังหวัด จะไม่สามารถใช้บัตรขึ้นรถเมล์ ขสมก. และรถไฟฟ้าได้ ต้องเปลี่ยนภูมิลำเนาเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และมาแจ้งเปลี่ยนบัตรที่มี 2 ชิปได้
ข้อควรรู้สำหรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็คือ วงเงินที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเป็นวงเงินในบัตรแบบเดือนต่อเดือน โดยเปลี่ยนวงเงินใหม่ทุกวันที่ 1 ของเดือน
หากเดือนไหนใช้ไม่หมด ถือว่าหมดสิทธิ์ในเดือนนั้นๆ จะทบไปใช้เดือนหน้าไม่ได้ ถือว่ายกประโยชน์ให้รัฐบาลกันไป เพราะรัฐบาลจะจ่ายให้หน่วยงานต่างๆ ที่ประชาชนขอรับสวัสดิการตามจริง
กรณีบัตรหาย ต้องทำบัตรใหม่ทดแทนบัตรเดิม แบ่งออกเป็นบัตรแบบ 1 ชิป (เฉพาะชิปด้านหน้า) 50 บาทต่อใบ
ส่วนบัตรแบบ 2 ชิป เฉพาะกรุงเทพฯ และ 6 จังหวัด (รวมทั้งชิปด้านในสำหรับแตะบัตรขึ้นรถเมล์ หรือรถไฟฟ้า) 100 บาทต่อใบ
คนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน อยากได้บัตรใบนี้ รัฐจะเปิดลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมในปีหน้า แต่สำหรับคนที่ลงทะเบียนไปก่อนหน้านี้ ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่
โดยกระทรวงการคลังจะตรวจสอบว่ายังมีสิทธิหรือไม่ จากข้อมูลการเสียภาษีอากร ข้อมูลบัญชีธนาคารและข้อมูลการถือครองอสังหาริมทรัพย์
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเที่ยวนี้ รัฐบาลใช้วงเงินงบประมาณในการอุดหนุนสวัสดิการให้กับหน่วยงานต่างๆ ประมาณเดือนละ 3,495 ล้านบาท หรือปีละ 41,940 ล้านบาท
โดยรัฐบาลได้ตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากขึ้นมาแล้ว และได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วในปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 46,000 ล้านบาท
ถือเป็นผลประโยชน์สำหรับคนจนและผู้มีรายได้น้อยจากภาษีประชาชนแบบเป็นเรื่องเป็นราว หลังรัฐบาลยุคที่ผ่านมาลดค่าครองชีพแบบหว่านแหทั้งรถเมล์ฟรี และรถไฟฟรี มานานเกือบ 10 ปี