xs
xsm
sm
md
lg

ต.ค.นี้ยังไม่ได้ใช้ “ตั๋วร่วม” คมนาคมชงเข้า ครม. 29 ส.ค. เร่ง MOU ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทุกระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนข.เผยเตรียมชงระบบตั๋วร่วมเข้า ครม. 29 ส.ค.นี้ ก่อนเดินหน้า เซ็น MOU ร่วมกับผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าทุกราย 31 ส.ค.นี้ ทั้ง รฟม.-BTS-BEM-แอร์พอร์ตลิงก์ โดยให้ รฟม.ทำหน้าที่ CTC ชั่วคราว ส่วนร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ เปิดรับฟังความเห็นจบใน ส.ค.เพื่อเร่งเสนอ ครม.เช่นกัน

นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ( สนข.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนารับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ว่า ในวันที่ 29 สิงหาคมนี้ สนข.เตรียมเสนอรายละเอียดโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (บัตรแมงมุม) ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ จากนั้นในวันที่ 31 สิงหาคมจะมีการลงนามความร่วมมือ หรือ MOU ระหว่าง สนข. กระทรวงคมนาคมกับบริษัทเอกชนผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า ประกอบด้วย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์

ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินงานระบบตั๋วร่วม โดยในวันที่ 1 กันยายน รฟม.จะเปิดตัวการให้บริการระบบตั๋วร่วม ซึ่งในเบื้องต้น รฟม.จะทำหน้าที่บริหารจัดการและบำรุง รักษาระบบตั๋วร่วมหรือตั๋วแมงมุม (CTC) ชั่วคราว

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้นำรายละเอียดผู้มีรายได้น้อยที่มีสิทธิ์จำนวน 1.3 ล้านคน ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ 11 ล้านคน ซึ่งในช่วงแรกจะใช้บริการรถไฟฟรี รถเมล์ฟรี จะสามารถใช้ร่วมกับบัตรผู้มีรายได้น้อยเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

นางวิไลรัตน์กล่าวว่า ในขณะเดียวกัน สนข.ได้ดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ..... คู่ขนานไปด้วย ซึ่งขณะนี้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว อยู่ในขั้นตอนเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ โดยจะเสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้น สนข.จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปประกอบการจัดทำรายงานผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอย่างรอบคอบและเป็นระบบ จากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป

“ที่ผ่านมา สนข.ได้ทำการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ทั้ง 4 เว็บไซต์ โดยการใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกับโครงการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และในวันที่ 24-25 สิงหาคม 2560 สนข.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากเอกชนในระบบขนส่งและนอกระบบขนส่งอีกครั้ง” นางวิไลรัตน์กล่าว

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ดำเนินการพัฒนาระบบตั๋วร่วม (Common Ticketing System) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 เพื่อจัดทำนโยบายกำหนดมาตรการ/มาตรฐานระบบตั๋วร่วม ดำเนินการจัดหาผู้พัฒนาระบบตั๋วร่วมและจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) และการกำกับดูแลการดำเนินงานของผู้พัฒนาระบบ รวมทั้งการดำเนินงานอื่นๆ ที่เป็นการสนับสนุนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมให้ประสบความสำเร็จ เป็นการเพิ่มศักยภาพการให้บริการของระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลในภาพรวม ให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางและเชื่อมต่อระหว่างระบบรถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง เรือโดยสาร และทางพิเศษ

ทั้งนี้ การจัดทำระบบตั๋วร่วมต้องอาศัยกลไกด้านกฎหมายในการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงาน และขอบเขตความร่วมมือการให้บริการ การมอบอำนาจหน้าที่ และกำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ การดำเนินงานที่มีความชัดเจน รวมถึงการจัดตั้งกองทุนบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ระบบตั๋วร่วมและระบบขนส่งในประเทศไทย

ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ... จะมีการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนและมีความเป็นรูปธรรมในด้านต่างๆ ได้แก่
1. โครงสร้างองค์กรที่มีหน่วยงานรับผิดชอบงานในระดับนโยบาย ระดับกำกับดูแล และระดับปฏิบัติการ ที่มีอำนาจหน้าที่ชัดเจน และสามารถดำเนินการด้านระบบตั๋วร่วมโดยตรง
2. มีหน่วยงานกำหนดมาตรการ/มาตรฐาน หลักเกณฑ์ วิธีการเชื่อมต่อ เพื่อให้การใช้งาน และการให้บริการระบบตั๋วร่วมมีมาตรฐานเดียวกัน และมีหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม รวมถึงกำหนดกรอบโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม
3. มีหน่วยงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วมเพื่อให้การให้บริการระบบตั๋วร่วมของผู้ประกอบการระบบขนส่งสาธารณะมีมาตรฐานเดียวกัน
4. มีกองทุนบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมซึ่งเป็นเครื่องมือในการสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาระบบตั๋วร่วม และ/หรือระบบขนส่งสาธารณะ โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณภาครัฐ
5. ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ โดยใช้บัตรโดยสารเพียงใบเดียว และได้รับส่วนลดค่าเดินทางเชื่อมต่อระหว่างระบบจากการใช้ตั๋วร่วม รวมถึงการได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้วย

นางวิไลรัตน์กล่าวว่า สนข.จะนำข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ไปประกอบการจัดทำรายงานผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... อย่างรอบด้านและเป็นระบบ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น