ขสมก.สั่งลุยติดระบบ E-ticket รถเมล์ฟรี 800 คัน รองรับบัตรผู้มีรายได้น้อย ดีเดย์ 1 ต.ค.นี้ พร้อมนำร่องใช้ร่วมกับ “บัตรแมงมุม” ระบบตั๋วร่วม โดยยังคงมีพนักงานเก็บค่าโดยสารบนรถในช่วง 2 ปีแรกเพื่อแนะนำประชาชนไม่ให้สับสนในการใช้งาน “พิชิต” เผย E-ticket จะช่วยลดต้นทุนและลดการขาดทุนแก้หนี้ ขสมก.ได้ ด้าน “ช.ทวี” ยันร่วมประมูลเมล์ NGV 489 คันที่ราคากลาง 4 พันล้าน ยันราคาสุดท้ายของเบสท์รินฯ 3.4 พันล้านไม่มีใครทำได้แน่นอน
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมอุปกรณ์ (E- ticket) ระหว่างองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กับ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย คนพิการ ผู้สูงอายุ และสามารถใช้ร่วมกับระบบตั๋วร่วม ภายใต้ชื่อ “บัตรแมงมุม” มาใช้ในการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ประกอบด้วย รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน รถโดยสารประจำทาง และเรือโดยสาร พร้อมจัดตั้งสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการกำหนดมาตรฐานกลางตั๋วร่วม เร่งรัดดำเนินการให้สามารถใช้งานระบบดังกล่าวได้ และตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไปเพื่อนำร่องในระบบรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. จำนวน 800 คัน รองรับการใช้บัตรผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ระบบ E-ticket จะช่วยเรื่องการปฏิรูป ขสมก. ลดต้นทุนการบริหารจัดการด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วย ในระยะยาวจะลดการขาดทุนลง และแก้ภาระหนี้สิน
นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม และรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.กล่าวว่า โครงการเช่าระบบบัตรโดยสาร E-ticket พร้อมอุปกรณ์ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ สรรหาบริษัทที่จะมาติดตั้งระบบและอุปกรณ์ ทั้ง เครื่องอ่านบัตร และเครื่องเก็บค่าโดยสาร บนรถโดยสารประจำทาง จำนวน 2,600 คัน มูลค่าโครงการกว่า 1,665 ล้านบาท ระยะสัมปทาน 5 ปี โดยบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคา พร้อมทั้งมั่นใจว่าการนำระบบบัตรโดยสาร E-ticket มาใช้บนรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. ช่วงแรกครบ 800 คันซึ่งเป็นรถเมล์ฟรีในวันที่ 1 ต.ค. 2560 ต้องใช้งานได้ และพร้อมกับรองรับบัตรแมงมุมได้ด้วย
โดยช่วงแรกจะมีพนักงานเก็บค่าโดยสารประมาณ 2,000 คนบนรถเพื่อให้คำแนะนำผู้โดยสารในการใช้งานระบบ จากนั้นภายใน 2 ปีจะทยอยลดพนักงานลง ในโครงการเกษียณก่อนอายุ ซึ่งระยะยาวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บค่าโดยสารประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าระบบซ้ำซ้อน และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร
พร้อมยืนยัน ขสมก.จะไม่มีการให้พนักงานออกจากงานแต่อย่างใด แต่จะมีโครงการปรับเปลี่ยนหน้าที่ในตำแหน่งอื่นซึ่งจะพิจารณาจากความรู้ความสามารถของพนักงานเป็นหลัก
ด้านนายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากลงนามสัญญาแล้ว ภายในระยะเวลา 100 วันบริษัทจะติดตั้งระบบ E-ticket บนรถโดยสารประจำทางไม่น้อยกว่า 100 คัน ภายใน 120 วันหลังลงนาม จากนั้นจะทยอยติดตั้งครบ 800 คันภายใน 180 วัน และครบทั้ง 2,600 คันภายในระยะเวลา 300 วัน
ทั้งนี้ บมจ.ช.ทวี ได้ร่วมกับพันธมิตร 4 รายในนามกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ได้แก่ บริษัทจัมป์ อัพ จำกัด, บริษัท เอเซนเทค (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอ็มโอแอล เพย์เมนท์ จำกัด บริษัท Tmoney จากประเทศเกาหลี มูลค่างาน 1,665 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2561-2565 จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ปีนี้ เนื่องจาก ขสมก.ขอปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในสัญญา จากเดิมจะรับเงินหลังติดตั้งระบบบนรถเมล์ 200 คันแรกเลย แต่เปลี่ยนเป็นชำระเงินให้หลังติดตั้งระบบเสร็จครบ 2,600 คัน หรือหลังจากนี้ 330 วัน โดยจะได้รับเป็นค่าเช่ารายเดือน
นายสุรเดชยืนยันว่า บริษัทฯ จะเข้าร่วมประมูลรถเมล์ NGV จำนวน 485 คัน ที่ราคากลางเดิม 4,021 ล้านบาท แต่หากมีการปรับราคากลางไปเป็นราคาที่ทางเบสท์รินฯ ประมูลได้ที่ 3,389 ล้านบาท หรือต่ำลงจาก 600 กว่าล้านบาท คงไม่สามารถยื่นได้ เพราะเป็นราคาที่ไม่มีใครทำได้ เพราะถ้าจะทำได้ก็คงเป็นการขายอย่างเดียวไม่สามารถดูแลการซ่อมได้ ซึ่งจะผิดสัญญา บริษัทฯ อยู่ในตลาดหลักทรัพย์คงทำไม่ได้ และเป็นการทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนด้วยเพราะหากรถไปเสียกลางทางแล้วจะไม่มีคนดูแล
ส่วนรถเมล์ไฟฟ้า 200 คันจะเข้าร่วมประมูลเช่นกัน โดยขณะนี้มีซัปพลายเออร์จากประเทศจีนมาหารือด้วย ซึ่งรถเมล์ไฟฟ้าราคาเฉลี่ย 12-15 ล้านบาท/คัน เพราะจะแพงที่แบตเตอรี่
นายสุรเดชกล่าวว่า ในปีนี้บริษัทฯ จะมีกำไรจากที่ขาดทุนสะสมจะหายไป และจะปันผลได้ในปีหน้า จะเริ่มเห็นรายได้เข้าในช่วงครึ่งปีหลังจากที่มีการส่งมอบงานออกไป เช่น ตะวันออกกลาง เวียดนาม และงานในประเทศส่วนหนึ่ง ปัจจุบันมูลค่างานในมือ (Backlog) มีประมาณ 600 ล้านบาท ทั้งปีจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5-6% จากปีก่อน โดยกำไรจากการผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 20% ส่วนการซื้อมาขายไปกำไรจะอยู่ที่ประมาณ 3-5% ซึ่งตอนนี้งานซื้อมาขายไปค่อนข้างมาก มีงานที่รอประมูลของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่า 140 ล้านบาท งานตะวันออกกลางประมาณ 300 ล้านบาท และรถเมล์ NGV ขสมก.และงานกองทัพ ด้านยุทโธปกรณ์ ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นผลในช่วงครึ่งปีหลัง
หลังจากนี้จะมีการประชุมกับ ขสมก.เพื่อวางระบบ และกำหนดเส้นทางของรถด้วย โดย ขสมก.จะเป็นผู้กำหนด ใช้เทคโนโลยีของบริษัท Tmoney ประเทศเกาหลี เป็นผู้มีประสบการณ์ระบบตั๋วร่วมมากกว่า 20 ปี ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีของอังกฤษมาช่วยในเครื่องหยดเหรียญ ให้สามารถรับเหรียญคราวละมากๆ ไม่ต้องเสียเวลาหยอด
“บริษัทเริ่มที่รถเมล์จังหวัดขอนแก่น บริการในรถประมาณ 30-40 คัน มูลค่า 100 กว่าล้านบาท ดำเนินการมากว่า 2 ปี โดยบริษัทจัมป์ อัพ จำกัด ซึ่งสามารถนำประสบการณ์มาประมูลงาน ขสมก. มูลค่ากว่า 1,665 ล้านบาทได้ เป็นการเริ่มต้นนโยบายไทยแลนด์ 4.0” นายสุรเดชกล่าว