xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการผังเมือง ชี้ ย้าย “สถานีขนส่งหมอชิต” ต้องศึกษา 5 ประเด็นนี้ก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักวิชาการผังเมือง สจล. ย้ำ ก่อนย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 กลับมาหมอชิตเก่า ต้องศึกษา 5 ประเด็นหลักก่อน ทั้งงบประมาณ การเข้าถึงพื้นที่ ปริมาณผู้โดยสาร ให้คุ้มค่ากับการลงทุน ควบคู่ศึกษาผลกระทบสภาพแวดล้อมและชุมชน

ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประธานหลักสูตรการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต และทีมวิจัยการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ กล่าวว่า จากกรณีที่ประชุมเพื่อพิจารณาสถานีกลางบางซื่อ มีมติเห็นชอบให้ บขส. ย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 กลับมายังหมอชิตเก่า ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส เนื่องจากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในศูนย์กลางบางซื่อ จะก่อให้เกิดปัญหาการจราจรบริเวณหมอชิตเก่าติดขัดมากยิ่งขึ้นจนอาจถึงขั้นเป็นอัมพาต ในช่วง 2 สัปดาห์ ที่ผ่านมา สร้างความกังวลใจให้กับประชาชนโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก เนื่องจากตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นโยบายด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการวางแผนระบบคมนาคมขนส่งของไทย ไม่มีความแน่นอนและชัดเจน ดังนั้น การกำหนดนโยบายของภาครัฐในการสร้าง ย้าย หรือพัฒนา ควรพิจารณาและหาทางแก้ไขเพื่อลดความวิตกกังวลของประชาชน ในประเด็นดังต่อไปนี้

1. ความคุ้มค่าในการลงทุนศึกษาและพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสาร การศึกษา และพัฒนาสถานีขนส่งต้องใช้งบประมาณและเวลาในการศึกษาค่อนข้างสูง และมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง หากมีนโยบายที่ไม่ชัดเจนจะยิ่งทำให้ต้องใช้งบประมาณในการศึกษา การออกแบบ การลงทุน ปรับใหม่ทั้งหมด ดังนั้น เมื่อมีการลงทุนศึกษาและสร้างจริง ต้องให้เกิดความคุ้มค่ากับลงทุนและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ความสอดคล้องในการวางแผนแม่บทการขนส่งและแผนการพัฒนาเมือง การวางแผนสถานีขนส่งผู้โดยสารควรพิจารณาถึงตำแหน่ง ทำเลที่ตั้ง ที่สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้า บีทีเอส และรถไฟฟ้ามหานคร เส้นทางรถ ขสมก. และเส้นทางรถตู้โดยสารสาธารณะได้ง่าย ถ้าห่างออกไปควรมีการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าให้เข้าไปถึงสถานีขนส่งโดยตรง รวมไปถึงต้องสอดรับกับการวางผังเมืองกรุงเทพมหานคร ทั้งในปัจจุบันและที่กำลังปรับปรุงอยู่ โดยเฉพาะข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ควรมีการปรับให้สอดคล้องกับกิจกรรมโดยรอบ

3. ความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่สถานีขนส่ง โดยเฉพาะทางเข้าและออกสถานีขนส่ง ควรมีการวางแผนในการจัดการทางเข้าออก การเชื่อมทางด่วน จุดกลับรถ ป้ายจราจร การระบายรถช่วงเวลาเร่งด่วน ระบบสัญญาณไฟจราจร โดยการจำลองผลกระทบจากการจราจร ที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่และชุมชนโดยรอบ เช่น กรณีหมอชิตเก่า ซึ่งมีสถาบันการบินพลเรือน สวนจตุจักร และกรมขนส่งทางบก ตั้งอยู่ด้วย และควรเพิ่มรถโดยสารประจำทาง หรือระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ในการเชื่อมต่อกับสถานีขนส่ง ทั้งจำนวนเที่ยวและความถี่ในการให้บริการ

4. การรองรับปริมาณผู้โดยสารทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ทั้งในแง่ของทำเลที่ตั้งและขนาดของพื้นที่ และไม่ควรมีการปรับเปลี่ยนบ่อย ซึ่งสร้างความสับสนให้กับผู้โดยสาร นักลงทุนและหน่วยราชการอื่นๆ ในการเตรียมแผนรองรับ

5. ความสอดคล้องในการบริหารจัดการกับพฤติกรรมและรูปแบบในการเดินทาง สถานีขนส่งควรคำนึงถึงรูปแบบและพฤติกรรมการเดินทางของประชาชนที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น การเดินทางในระยะสั้น ระยะกลางและระยะไกล สถานีขนส่งผู้โดยสารควรคำนึงถึง การมารับ-ส่งของญาติ พื้นที่พักรอ พื้นที่การให้บริการของรถ ห้องน้ำ ร้านค้า ร้านอาหาร เป็นต้น

ดร.ประพัทธ์พงษ์ กล่าวว่า นอกจากประเด็นหลักข้างต้นแล้ว โครงการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 ยังต้องคำนึงถึงความชัดเจนและความสอดคล้อง ในการวางแผนโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุขนาดใหญ่ของกรมธนารักษ์ด้วย โดยนโยบายของกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม ควรมีความชัดเจนและสอดคล้องกัน เพราะการพัฒนาที่ราชพัสดุหรือหมอชิตเก่า จะต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับการวางแผนสถานีขนส่งที่เปลี่ยนแปลงไป ควบคู่ไปกับการศึกษาผลกระทบกับสภาพแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ โดยเฉพาะผลกระทบจากเสียงฝุ่น กลิ่น และการจราจร ที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่โดยรอบและสภาพของสวนสาธารณะ จากการเดินทางเข้ามาใช้บริการของประชาชน ทั้งผู้โดยสาร ญาติและจำนวนรถโดยสารที่วิ่งเข้าออกสถานีของผู้ให้บริการ

ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติควรมีการเตรียมสาธารณูปโภคมารองรับ เช่น ถนน ประปา ไฟฟ้า น้ำเสีย โทรศัพท์ ระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสาธารณูปการอื่นๆ เช่น ห้องปฐมพยาบาลเบื้องต้น จุดแจ้งเหตุ และจุดตรวจ เป็นต้น โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาพื้นที่ให้มีความพร้อมและปลอดภัย ผ่านการวางแผนรองรับความเสี่ยงกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ และแผนรองรับประชาชนในช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ติดต่อกันหลายวัน ซึ่งเป็นช่วงที่มีประชาชนใช้บริการสถานีขนส่งพร้อมกัน

“การพัฒนาสถานีขนส่งกรุงเทพต้องรีบสร้างและพัฒนาให้ทัน ความสะดวกสบายเทียบเท่าการใช้รถยนต์ส่วนตัว เครื่องบิน หรือรถขนส่งสาธารณะประเภทอื่น ที่ทุกวันนี้มีการแข่งขันให้บริการอย่างดุเดือด ยิ่งการเดินทางมายังสถานีขนส่งมีความยุ่งยากสับสน หรือใช้เวลามากและค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูง จะยิ่งทำให้ประชาชนเปลี่ยนไปใช้ระบบอื่นๆ ทดแทน ปัจจุบันบริษัทเดินหลายแห่งเริ่มตั้งสถานีขนส่งเองที่อู่ซ่อมบำรุง ในอนาคตภาครัฐควรเข้าไปควบคุมและกำกับดูแล เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ” ดร.ประพัทธ์พงษ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น