สผ.อนุมัติ EIA รถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาแล้ว จบปัญหาโรงปูน จ.สระบุรี ปลดล็อก 3.5 กม. ลุยตอกเข็ม 21 ธ.ค. ร.ฟ.ท.เตรียมเสนอ ครม.ขออนุมัติจ้างกรมทางหลวงถมคันดิน คิกออฟเคลียร์สเปกวัสดุก่อสร้างในประเทศกรุยทางก่อนเปิดประมูลผู้รับเหมา 14 สัญญา
นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. มีมติเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.35 กิโลเมตร แล้วเมื่อวันที่ 30 พ.ย. หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 พ.ย. คณะกรรมการชำนาญการพิเศษ หรือ คชก.ได้พิจารณาพื้นที่ผ่านโรงปูน จ.สระบุรี แล้ว โดยคาดว่าภายในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ธ.ค.นี้จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติให้กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการก่อสร้าง ตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม. (สถานีกลางดง-ปางอโศก) ซึ่งได้กำหนดเริ่มต้นก่อสร้างในวันที่ 21 ธ.ค. 2560
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ความพร้อมในการดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงตอนแรก ระยะทาง 3.5 กม. กรอบงบประมาณ 425 ล้านบาท ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะว่าจ้างกรมทางหลวง (ทล.) ในรูปแบบหน่วยงานรัฐต่อรัฐเพื่อให้ก่อสร้างงานโยธา โดยที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ได้หารือกับกรมทางหลวงเพื่อวางแผนการก่อสร้าง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน นอกจากนี้ ยังได้มีการถอดแบบก่อสร้างโดยรายละเอียดเพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องการใช้วัสดุก่อสร้างภายในประเทศ
“ข้อดีที่ให้กรมทางหลวงดำเนินการก่อสร้างงานปรับพื้นดินและการยกคันดิน ซึ่งเป็นงานโยธาของช่วง 3.5 กม. เพื่อจะได้ตรวจสอบแบบก่อสร้างที่จีนออกแบบมาว่ามีการใช้วัสดุก่อสร้างในประเทศได้จริงๆ ซึ่งกรมทางหลวงมีวิศวกรมากพอที่จะช่วยตรวจสอบ และจะทำให้การประมูลก่อสร้างในตอนที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร 11 กม., ตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา 119.5 กม., ตอนที่ 4 แก่งคอย-บางซื่อ 119 กม. ดำเนินการได้สะดวกมากขึ้น” นายอานนท์กล่าว
สำหรับรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงินลงทุนรวม 179,412.21 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 13,069.60 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 122,593.92 ล้านบาท ซึ่งตลอดระยะทาง 252.35 กิโลเมตรจะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 14 สัญญา นอกจากนี้ ยังมีค่างานระบบไฟฟ้า (M&E) 34,078.38 ล้านบาท จัดหาตู้รถไฟ 4,480 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษา 5,190.31 ล้านบาท