“สมคิด” ดันรถไฟไทย-จีนลากถึงหนองคาย เชื่อมต่อลาวเพื่อเชื่อมอีกหลายประเทศ ย้ำให้มองที่ผลทางเศรษฐกิจ อย่ามองแค่ผลทางการเงิน มั่นใจมาตรา 44 ปลดล็อกปัญหากฎหมาย เร่งกระบวนการ “อาคม” ยันชง ครม.ขออนุมัติโครงการใน มิ.ย. คาดบอร์ด สศช. ประชุมนัดพิเศษพิจารณาให้ทันกรอบเวลา
จากที่มีคำสั่งมาตรา 44 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินการ โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และหัวหน้า คสช.จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทําสัญญาจ้างรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีประสบการณ์ตรงด้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพ ให้กระทรวงคมนาคมประสานให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจัดให้ มีหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่บุคลากรดังกล่าวตามความเหมาะสม โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ใช้ผลการเจรจาต่อรองของคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้อง และผลประชุมของคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน มาเป็นกรอบในการพิจารณา โดยจะต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน
ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การใช้มาตรา 44 จะสามารถปลดล็อกปัญหาต่างๆ ได้ เช่น ระเบียบที่ต่างกันทำให้เกิดความล่าช้าไปบ้าง ซึ่งการที่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจดังกล่าวจะทำให้โครงการเดินหน้าได้เร็วมากขึ้น อุปสรรคต่างๆ ก็จะหมดไป อีกทั้งด้านงานก่อสร้างก็จะรวดเร็วมากขึ้นเพราะคนไทยมีความเชี่ยวชาญในด้านการก่อสร้างอยู่แล้ว
โดยหลังจากนี้จะต้องมีการเร่งดำเนินการให้เร็ว และตั้งเป้ารถไฟไทย-จีนต้องสร้างไปให้ถึงหนองคาย เพราะจะเกิดประโยชน์สามารถเชื่อมต่อโครงการรถไฟของประเทศลาว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการเดินทางมากขึ้น มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่สูง อย่ามองที่ผลตอบแทนทางการเงินอย่างเดียว เนื่องจากเป็นโครงการที่ต่อเนื่องทุกประเทศ จะให้มาหยุดชะงักที่ประเทศไทยไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศไทย ซึ่งคาดว่าในเดือน ก.ย.จะสามารถตอกเสาเข็มได้
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า คำสั่งมาตรา 44 ช่วยให้การดำเนินโครงการรถไฟไทย-จีนเร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังยกร่างสัญญา (EPC2) จำนวน 3 สัญญา โดยคาดว่าสัญญาจ้างออกแบบ (2.1) จะลงนามได้ในเดือน ก.ค.นี้ จะทำให้การออกแบบตอนที่ 2 (ปากช่อง-คลองขนานจิตร) ระยะทาง 11 กม. ตอนที่ 3 (แก่งคอย-โคราช) ระยะทาง119 กม. ตอนที่ 4 (กรุงเทพฯ-แก่งคอย) ระยะทาง 119 กม.ตามออกไปได้ และสำหรับการประมูลช่วงที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม.จะเริ่มได้ทันที
โดยภายในเดือน มิ.ย.นี้จะเสนอ ครม.ขออนุมัติโครงการเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย โดยจะดำเนินการช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กม. มูลค่า 179,412.21 ล้านบาทเป็นเฟสแรก จากนั้นจะมีการลงนามระหว่าง ไทย-จีน โดยรัฐบาลมอบหมายตัวแทนของจีนมาลงนาม ซึ่งในมาตรา 44 มีการยกเว้นข้อกฎหมายต่างๆ ที่จะเป็นสิ่งที่ทำให้ล่าช้า เช่น กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง, กระบวนการประกวดราคา, กระบวนการกำหนดราคากลางที่จะใช้เวลามาก จะปลดล็อกได้
รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้วิศวกรและผู้ออกแบบของจีนซึ่งจะปลดล็อกให้ โดยให้กระทรวงคมนาคมประสานกับสภาวิศวกรและสภาผู้ออกแบบ และจีนเพื่อให้มีการร่วมมือในการทำงาน
ทั้งนี้ ได้กำหนดกรอบเวลาให้แล้วเสร็จใน 120 วัน ซึ่งจะต้องตอกเข็มตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม.
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้เสนอเรื่องไปยัง ครม.เพื่อขออนุมัติโครงการแล้ว โดยอยู่ระหว่างสอบถามความเห็นหน่วยงาน คือ สภาพัฒน์, สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง โดยในส่วนของสภาพัฒน์นั้นจะมีการเรียกประชุมบอร์ดนัดพิเศษเพื่อพิจารณาให้ความเห็นสำหรับโครงการรถไฟไทย-จีน เป็นกรณีพิเศษเพื่อให้สามารถเสนอ ครม.ได้ทันภายในเดือน มิ.ย.นี้