ปรับแผนรถไฟไทย-จีน เจรจาครั้งที่ 17 ถอดแบบ 3.5 กม.เคลียร์ สเปกวัสดุมาตรฐานเป็นสากล ตั้งเป้าเปิดประมูลได้ใน ก.ค. ตอกเข็ม ส.ค. “อาคม” ถกสเปกยันใช้วัสดุในประเทศทั้งหมด ด้าน ร.ฟ.ท.เร่งสรุปรายงานปรับปรุงตัวเลขผู้โดยสารหลังตัดตอนสร้างช่วงกรุงเทพฯ-โคราชก่อน เร่งชง ครม. มิ.ย.นี้ก่อนลงนามสัญญาจ้างออกแบบและคุมงาน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 17 ณ เมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ในเรื่องร่างสัญญางานออกแบบ (EPC1), สัญญาควบคุมงาน (EPC 2) จะเสร็จในเดือน เม.ย.นี้ ขณะที่การถอดแบบก่อสร้างและรหัสวัสดุมาตรฐานสากล ในตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม. (สถานีกลางดง-ปางอโศก) ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ได้มีการถอดรหัสเป็นสากล สามารถเทียบเคียงราคากลางได้ โดยให้ใช้วัสดุก่อสร้างที่ผลิตภายในประเทศไทย ซึ่งเหลือรายละเอียดเรื่องเดียวคือ ข้อแตกต่างสเปกคุณภาพเหล็ก ซึ่งจีนออกแบบใช้เหล็กที่มีส่วนประกอบของคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นมาตรฐานยุโรป ขณะที่เหล็กข้ออ้อยที่ผลิตในไทยมีคาร์บอนสูงกว่า ซึ่งเมื่อเป็นมาตรฐานรถไฟความเร็วสูง ดังนั้นได้สรุปให้ปรับการผลิตเหล็กข้ออ้อยในประเทศโดยลดคาร์บอนลง ซึ่งไม่มีปัญหาสามารถสั่งผลิตพิเศษในประเทศไทยได้ และไม่ได้กระทบต่อโครงสร้างใดๆ
สำหรับการผลิตเหล็กข้ออ้อยในประเทศไทยมีมาตรฐาน มอก. ซึ่งมีคาร์บอนเป็นส่วนประกอบสูงกว่าที่จีนออกแบบไว้นิดหน่อย ซึ่งไทยนั้นสามารถผลิตเหล็กข้ออ้อยโดยลดส่วนประกอบคาร์บอนลงมาให้เป็นไปตามมาตรฐานที่จีนออกแบบได้ ไม่มีปัญหา ไม่ต้องซื้อเหล็กจากจีน โดยจีนจะเข้ามาทดสอบคุณภาพ คุณสมบัติวัสดุต่างๆ อีกครั้ง ซึ่งมีความก้าวหน้าที่สามารถถอดราคากลางสำหรับเปิดประกวดราคาก่อสร้างได้
ทั้งนี้ แผนงานล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ปรับปรุงรายงานโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 845.27 กม. และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง 118.14 กม. กรณีที่จะดำเนินการในช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กม. มูลค่า 179,412.21 ล้านบาทก่อน ซึ่งต้องปรับตัวเลขประมาณการผู้โดยสาร และจะนำเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้จะดำเนินการเรียบร้อย และจะลงนามในสัญญางานออกแบบ, สัญญาควบคุมงาน ได้ในเดือน มิ.ย.เช่นกัน โดยตั้งเป้าจะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างก่อสร้างในตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม. ในเดือน ก.ค. และเริ่มก่อสร้างในเดือน ส.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อถอดแบบระยะทาง 3.5 กม.แล้ว จะมีส่งแบบในส่วน 11 กม. หรือตอนที่ 2 (ปากช่อง-คลองขนานจิตร) ตามด้วย ตอนที่ 3 (แก่งคอย-โคราช) ระยะทาง 119 กม. ตอนที่ 4 (กรุงเทพฯ-แก่งคอย) ระยะทาง 119 กม. จะทยอยส่งมาภายใน 6 เดือน ดังนั้น การออกแบบจะมีความต่อเนื่อง ซึ่งในเดือน ก.ค.จะเริ่มกระบวนการคัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างในตอน 3.5 กม.ได้ และจะเร่งรัดตอนที่ 2 ระยะทาง 11 กม. ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะเร่งรัดตรวจแบบต่อไป
“ตามแผนงานคาดว่าจะไม่มีปัญหา ขณะที่ได้เสนอผลการศึกษา EIA คู่ขนานไปด้วย ส่วนปัญหาวิศวกรจีนที่ออกแบบจะต้องมาสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรของไทยได้ตกลงกันแล้ว อยู่ในขั้นตอนการส่งวิศวกรจีนมาอบรมตามมาตรฐานของสภาวิศวกรไทยกับสภาสถาปนิกไทย ซึ่งเมื่อถอดแบบราคากลาง 3.5 กม.เรียบร้อย ในส่วนของ 11 กม.จะตามไป หากเป็นไปได้อาจจะเปิดประมูลพร้อมกัน โดยหารือกับจีนแล้วว่าการก่อสร้างในแต่ละตอนควรมีความต่อเนื่องกัน” นายอาคมกล่าว
สำหรับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นั้น ในช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชี EIA อนุมัติแล้ว แต่ช่วงบ้านภาชี-โคราช ยังไม่ผ่าน EIA ซึ่งเป็นจุดก่อสร้างของตอนที่ 1, 2 โดยได้ทำรายงานและข้อมูลเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ไปรวม 4 ครั้งแล้ว เนื่องจากมีการปรับแนวเส้นทางบ้างจากแนวเดิม จะเร่งประสานกับกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อขอให้เร่งรัดอนุมัติ EIA ให้ทันกับการก่อสร้าง เนื่องจากหากประมูลแล้วจะยังลงนามสัญญาไม่ได้จนกว่า EIA จะผ่าน แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา