อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อประชาธิปัตย์ ไม่เชื่อรถไฟความเร็วสูง กทม.-นครราชสีมาจะสำเร็จ ชี้ปัญหาอยู่ที่คนรับผิดชอบ จี้เปลี่ยนบิ๊กคมนาคม-ร.ฟ.ท. บอกประหลาดสร้างระยะแรกแค่ 3.5 กม. ทำเสร็จเอาไปใช้อะไรไม่ได้ ฟังไม่ขึ้นอ้างทดสอบความสามารถการออกแบบ แนะทำทีเดียว 252.5 กทม. 3 ปีเสร็จ ค่อยขยายไปหนองคายต่อ ให้จีนร่วมลงทุนที่เหมาะสม จะทำเอกชนเชื่อมั่น แนะพัฒนาเมืองด้วย
วันนี้ (16 มิ.ย.) นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจ ม.44 แก้ปัญหาความล่าช้าในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ว่าตนไม่เชื่อว่าจะทำให้การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นดังกล่าวประสบความสำเร็จได้ เพราะปัญหาหลักที่ทำให้โครงการนี้ล่าช้านั้นอยู่ที่ผู้รับผิดชอบมากกว่าปัญหาทางกฎหมาย แต่ควรเปลี่ยนผู้รับผิดชอบตั้งแต่ระดับกระทรวงคมนาคมลงมาถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพราะตนไม่แน่ใจว่าผู้รับผิดชอบโครงการนี้บางคนมีความตั้งใจจริงที่จะผลักดันรถไฟความเร็วสูงให้เป็นรูปธรรมหรือไม่ เนื่องจากการเจรจากับผู้แทนจีนยืดเยื้อมาถึง 18 ครั้ง เป็นเวลายาวนานเกือบ 3 ปี ที่น่าแปลกประหลาดที่สุดก็คือ การเสนอให้ก่อสร้างระยะที่ 1 แค่เพียง 3.5 กม.เท่านั้น ไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกันเช่นนี้ สร้างเสร็จแล้วก็นำไปใช้อะไรไม่ได้ หากจะอ้างว่าเพื่อต้องการทดสอบความสามารถในการออกแบบรถไฟความเร็วสูงของวิศวกรจีนก็ฟังไม่ขึ้น เพราะวิศวกรจีนมีประสบการณ์การออกแบบและก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงมาเป็นระยะทางกว่า 20,000 กม.
นายสามารถระบุว่า นอกจากนี้ยังควรเปลี่ยนกำหนดการก่อสร้างให้ก่อสร้างรวดเดียวจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กม. ซึ่งบริษัทรับเหมาที่มีประสบการณ์สามารถทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นก็ควรขยายเส้นทางไปจนถึงหนองคายทันที โดยให้จีนร่วมลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสมด้วย การทำเช่นนี้จะทำให้เอกชนที่สนใจจะลงทุนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟเกิดความเชื่อมั่น เนื่องจากผู้ลงทุนเห็นว่าโครงการนี้มีโอกาสสำเร็จแน่ และต้องพัฒนาเมืองควบคู่กับรถไฟความเร็วสูง ตนไม่อยากให้รัฐบาลมุ่งก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อยากให้พัฒนาเมืองควบคู่ไปด้วย หรือเป็นการพัฒนาทางรถไฟกับเมืองในเชิงบูรณาการ ซึ่งจะช่วยให้มีผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาเมืองอาจจะประกอบด้วยการก่อสร้างเมืองใหม่ เมืองอุตสาหกรรม เมืองมหาวิทยาลัย และเมืองราชการ เป็นต้น มั่นใจว่าหากรัฐบาลทำได้เช่นนี้ คนไทยก็จะมีโอกาสได้ใช้รถไฟความเร็วสูงของไทยในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน