xs
xsm
sm
md
lg

ดีแทค แจ้ง กสทช. พร้อมประมูลคลื่น 900 MHz

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไม่รู้แฮปปี้เอนดิงมั้ย ดีแทค ยื่นจดหมายถึง กสทช. ยินดีประมูลคลื่น 900 MHz จำนวน 5 MHz แต่ขอใช้ 10 MHz ไปก่อน 2 ปี เพื่อปรับปรุงการใช้งานให้สอดคล้องกับคลื่นย่านใหม่ ส่วนเงินสร้างการ์ดแบนด์ 2,000 ล้านบาท กสทช. ให้หักออกจากค่าประมูลได้ ขณะที่คลื่น 1800 MHz ที่ประชุมเห็นชอบตามคณะอนุกรรมการให้ประมูล 9 ใบ แต่ต้องนำไปประชาพิจารณ์ออนไลน์ก่อน 3 วัน ยืนยัน หากดีแทคต้องการเยียวยา ต้องยื่นซองแสดงความต้องการประมูลทั้ง 2 คลื่น มั่นใจประมูล 900 MHz วันที่ 18 ส.ค. และ 1800 MHz วันที่ 19 ส.ค. นี้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ประชุม กสทช. รับทราบหนังสือของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ว่ามีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz โดยหนังสือของดีแทค ระบุว่า เสนอให้ กสทช. ประมูลคลื่นในย่านที่ 890-895 MHz คู่กับ 935-940 MHz หากดีแทคเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz และชนะการประมูล ดีแทคมีความจำเป็นต้องขอใช้คลื่นทั้งหมด 10 MHz ตามสัมปทานเดิมไปก่อนเป็นเวลาประมาณ 2 ปี ระหว่างที่ยังไม่ได้นำคลื่นย่านนี้ไปใช้ในกิจการรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาล

เนื่องจากปัจจุบัน ดีแทค มีจำนวนอุปกรณ์สถานีฐานภายใต้ระบบสัมปทานอยู่ประมาณ 13,000 สถานีที่จะต้องใช้เวลาในการปรับปรุงการใช้งานให้สอดคล้องกับคลื่นย่านใหม่ด้วย ส่วนการลงทุนสร้างการ์ดแบนด์ เพื่อไม่ให้สัญญาณไปรบกวนกิจการรถไฟความเร็วสูง ผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz สามารถหักเงินจากการประมูลออกไป 2,000 ล้านบาท ที่ต้องจ่ายให้ กสทช. ออกไปได้ โดยราคาประมูลเริ่มต้นที่ 37,988 ล้านบาท

ส่วนคลื่น 1800 MHz ที่ประชุมมีมติให้สำนักงาน กสทช. นำร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช. ในส่วนที่เกี่ยวกับใบอนุญาตที่จะปรับเป็นใบอนุญาตแบบใบเล็ก 9 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 MHz ตามคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม เป็นเวลา 3 วัน ในวันที่ 26-28 มิ.ย. 2561 ก่อนจะนำมาพิจารณาในที่ประชุม กสทช. อีกครั้งในวันที่ 2 ก.ค. 2561

การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz แบบใบเล็ก ใบอนุญาตละ 5 MHz ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นต่อหนึ่งใบอนุญาต (5 MHz) ราคา 12,486 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท โดยผู้เข้าร่วมการประมูลจะต้องวางหลักประกันการประมูล 2,500 ล้านบาท

“การเยียวยาต้องดูตามสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อเราเปิดให้ประมูลอีกครั้ง และยังไม่มีใครมาประมูล ตรงนี้ก็ไม่ได้รับการเยียวยา ดังนั้น ดีแทคต้องมายื่นซองประมูลถึงจะได้รับสิทธิ์เยียวยา เพื่อแสดงให้เห็นว่า เขามีความประสงค์ในการใช้คลื่น หากไม่มายื่นซอง เขาจะไม่สามารถรับสิทธิ์การเยียวยาได้ ถ้าทั้งสองคลื่นยื่นรายเดียวก็เก็บไว้ 30 วัน และรายนั้นก็มาเคาะอีกครั้งหนึ่ง และได้ไปเลย เมื่อคลื่น 1800 MHz เราเปิดประมูลเป็นใบใหญ่แล้วไม่มีใครมาประมูล เราก็เปลี่ยนเป็นใบเล็กก็เชื่อว่าจะมีคนสนใจ ส่วนคลื่น 900 MHz ที่จัดประมูลก่อน เพราะเรายังไม่ได้นำมาประมูลในครั้งที่แล้ว และผ่านเวทีประชาพิจารณ์มาแล้ว จึงนำมาประมูลก่อน ส่วนคลื่น 1800 MHz ต้องนำหลักเกณฑ์การประมูลใบเล็กไปประชาพิจารณ์ออนไลน์ก่อน 3 วัน ส่วนดีแทค เขาก็เพิ่งรู้ว่า การประมูลเป็นใบเล็ก ดังนั้น ก็ให้เขานำเข้าที่ประชุมเพื่อตัดสินใจก่อนว่า เขาจะประมูล 1800 MHz หรือไม่” นายฐากร กล่าว

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กสทช. ยังได้เห็นชอบกรอบเวลาในการจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ที่จะดำเนินการคู่ขนานกันไป ดังนี้

- วันที่ 5 ก.ค. 2561 จะนำร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ทั้งย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ทั้งสองฉบับไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

-วันที่ 6 ก.ค.-7 ส.ค. 2561 ดำเนินการเชิญชวนและรับเอกสารคำขอผู้สนใจเข้าร่วมการประมูล

-วันที่ 8 ส.ค. 2561 เปิดให้ยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูล

-วันที่ 9-13 ส.ค. 2561 พิจารณาคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูล

-วันที่ 15 ส.ค. 2561 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ

-วันที่ 16-17 ส.ค. 2561 ชี้แจงกระบวนการประมูลและ Mock Auction

-วันเสาร์ที่ 18 ส.ค. 2561 กำหนดให้เป็นวันประมูลคลื่น 900 MHz

-วันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค. 2561 กำหนดให้เป็นวันประมูลคลื่น 1800 MHz


กำลังโหลดความคิดเห็น