xs
xsm
sm
md
lg

“ฐากร” ชี้หากไม่มีคนประมูล 1800 MHz ดีแทคได้เปรียบใช้คลื่นต่อฟรีเป็นปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ฐากร ตัณฑสิทธิ์
“ฐากร” มั่นใจประมูล 1800 MHz เกิดขึ้นจริง ชี้หากไม่มีคนเข้าร่วมประมูล จะทำให้ดีแทคเข้าสู่มาตรการเยียวยาใช้คลื่นฟรี จำนวน 55 MHz ทั้งคลื่น1800 MHzและ 850 MHz นานกว่า 1 ปี

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดให้มีการชี้แจง และให้ข้อมูลด้านกิจการโทรคมนาคมต่อสื่อมวลชน ในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz โดยมี นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. และนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. เป็นผู้ชี้แจง

นายฐากร กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 ส.ค.2561 นี้ หากไม่มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) รายใดสนใจเข้าประมูล จะทำให้บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค มีความได้เปรียบในการประมูลครั้งนี้ เนื่องจากคลื่นความถี่ที่หมดอายุสัญญาสัมปทานระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับดีแทค จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ก.ย.2561 หากยังไม่ได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวให้แก่โอเปอเรเตอร์ได้ จะต้องเข้าสู่ประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการเยียวยา ซึ่งจะทำให้ ดีแทค ถือครองคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 45 MHz รวมทั้งคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz อีก 10 MHz รวมทั้งสิ้น 55 MHz

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กสทช.ได้จัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 885-890 MHz (ขาขึ้น) และ 930-935 MHz (ขาลง) รวมความกว้าง 5 MHzให้กระทรวงคมนาคมเพื่อใช้ในกิจการขนส่งทางรางของประเทศ เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และยังไม่แล้วเสร็จ จึงทำให้ดีแทคสามารถใช้คลื่นย่านดังกล่าวได้ ขณะเดียวกัน ในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ จะมีตัวแทนจาก ดีแทค และ กสท โทรคมนาคม เข้าพบเพื่อยื่นเรื่องขอความชัดเจนหากไม่มีโอเปอเรเตอร์เข้าร่วมประมูล และการเข้าสู่มาตรการเยียวยา

นายฐากร กล่าวว่า ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้มั่นใจว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูลอย่างแน่นอน แม้ว่าจะยังไม่ถึงกำหนดเวลาในการยื่นแสดงความจำนงในการเข้าประมูลคลื่นวันที่ 15 มิ.ย. เพราะ ดีแทค มีสิทธิที่จะเข้าสู่การใช้มาตรการเยียวยาได้ 1 ปี ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีมติ หรือการแก้ไขกฏระเบียบ ส่วนคลื่น 850 MHz ที่ กสทช.ได้อนุมัติให้กระทรวงคมนาคมไปใช้ในการให้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงยังสร้างไม่เสร็จ น่าจะอีก 2 ปี ดีแทคก็ยังใช้คลื่น 850 MHz ได้

ทั้งนี้ การเข้าประมูลครั้งนี้เป็นสิ่งที่โอเปอเรเตอร์ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในเรื่องของคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูล ซึ่งคลื่นความถี่จะมีความถี่ขนาด 2x 45 MHz โดยจัดเป็น 3 ชุดคลื่นความถี่ (Lot) ชุดละ 2x15 MHz รายละไม่เกิน 1 ชุด ที่จะนำมาประมูลที่ กสทช.ได้สร้างสภาวะให้เกิดการแข่งขัน ด้วยการออกแบบการประมูลให้การเคาะราคาคลื่นแต่ละชุด ที่ออกไปจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการแต่ละราย

โดยโอเปอเรเตอร์ที่เข้าร่วมประมูลแล้วชนะการประมูลหากมีความต้องการชุดคลื่นความถี่ชุดใด สามารถขอสลับชุดคลื่นความถี่เพื่อให้ใกล้กับความถี่เดิมที่มีอยู่ได้ ตามประกาศ กสทช. เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่านความถี่ 1800 MHz ในเงื่อนไขการใช้งานคลื่นความถี่ ที่ระบุว่า ในกรณีที่ กสทช.กำหนดให้มีการปรับเปลี่ยนการใช้คลื่นความถี่ในย่านความถี่ตามแผนความถี่วิทยุนี้ เพื่อให้การใช้งานคลื่นความถี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ หรือผู้ได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม หรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ต้องดำเนินการปรับเปลี่ยนการใช้คลื่นความถี่ตามที่ กสทช.กำหนด

อย่างไรก็ตาม ความได้เปรียบเสียเปรียบในการประมูลครั้งนี้คือ การเลือกชุดคลื่นความถี่ หากมีผู้เข้าร่วมประมูลรายเดียว กสทช.จะเปิดประมูลชุดคลื่นความถี่ที่ 3 ซึ่งโอเปอเรเตอร์รายอื่นๆ ที่ไม่เข้าร่วมประมูลจะต้องใช้เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายเพิ่มขึ้นเนื่องจากชุดคลื่นความถี่ไม่ติดกันและไม่สามารถเลือกชุดคลื่นความถี่ได้ทำให้เกิดการเสียบเปรียบในการลงทุน แต่หากมีผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 3 ราย ซึ่งทั้ง 3 ราย สามารถเลือกสลับชุดคลื่นความถี่เพื่อให้เกิดความสะดวกในการให้บริการ และใช้งบประมาณในการลงทุนในการติดตั้งโครงข่ายการให้บริการที่เหมาะสม

ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. กำหนดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตในวันที่ 15 มิ.ย.2561 จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติขั้นแรก ระหว่างวันที่ 16-28 มิ.ย.2561 หลังจากนั้น จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมประมูลภายในวันที่ 29 มิ.ย.2561 ส่วนในระหว่างวันที่ 1-3 ส.ค.2561 จะทำการจัด ชี้แจงการประมูล (Information Session) และการทดสอบการประมูล (Mock Auction) สำหรับผู้เข้าร่วมการประมูล และกำหนดจัดการประมูลในวันที่ 4 ส.ค.2561

ขณะเดียวกัน หากมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 1 ราย กรอบเวลาในการประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมประมูลจะเร็วขึ้น ซึ่งกำหนดให้ประกาศรายชื่อเป็นวันที่ 22 มิ.ย.2561 และขยายเวลาออกไปอีก 1 เดือน เพื่อเปิดรับคำขอรับใบอนุญาตเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 30 วัน คือวันที่ 22 ก.ค.2561

สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่จะนำมาประมูลครั้งนี้มีจำนวนทั้งหมด 45 MHZ โดยกำหนดขนาดคลื่นความถี่ที่จะประมูลออกเป็น 3 ชุดๆ ละ 15 MHz ต่อ 1 ใบอนุญาตโดยผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 1 ชุดคลื่นความถี่ โดยกำหนดราคาเริ่มต้นของการประมูลไว้ที่ 37,457 ล้านบาท และกำหนดหลักประกันการประมูล เท่ากับ 1,880 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในครั้งก่อน โดยใช้สูตร N-1 ใบอนุญาตมีระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี ราคาที่เพิ่มต่อการเคาะในแต่ละครั้ง 75 ล้านบาท กรณีที่จะมีการทิ้งการประมูลสำนักงาน กสทช. จะยึดหลักประกันการประมูล 1,880 ล้านบาท และคิดค่าปรับอีก 5,620 ล้านบาท เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 7,500 ล้านบาท

ด้านการจัดเก็บรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz จาก บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือทรู และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ในเครือเอไอเอส โดยคลื่นย่าน 1800 MHz ที่เปิดประมูลไปแล้วเมื่อวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2558 และคลื่นย่าน 900 MHz ที่เปิดประมูล 2 รอบ เมื่อวันที่ 15-19 ธันวาคม 2558 และครั้งที่ 2 วันที่ 27 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยในปี 2561 นี้ กสทช.จะต้องส่งเงินเข้ากระทรวงการคลังรวมทั้งสิ้น 28,234.50 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น