วันนี้ (15 มิ.ย. 2561) เป็นวันเปิดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) เข้ามายื่นซองประมูลคลื่น 1800 MHz แต่กลับไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้าร่วมประมูล ซึ่งบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ส่งจดหมายแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าไม่เข้าร่วมประมูล ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.
รวมถึง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ที่ได้ส่งจดหมายมาว่า ไม่เข้าร่วมประมูลในช่วงเช้าของวันนี้ ทำให้บรรยากาศการรับซองประมูลเงียบเหงา
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การที่ กสทช. สามารถเตรียมการประมูล วันที่ 4 ส.ค. ซึ่งทันก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. แต่กลับไม่มีใครมายื่นซองเพื่อเข้าร่วมประมูล 1800 MHz แม้แต่ดีแทค ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด มีลูกค้าอยู่ในระบบ 4.7 แสนเลขหมาย ยังไม่สนใจ เพราะหวังเข้าสู่มาตรการเยียวยาคลื่น กสทช. ต้องบอกว่า ตามหลักการของประกาศ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 จะต้องเกิดจากการที่ กสทช. จัดประมูลไม่ทัน แต่กรณีนี้ คือ ไม่มีคนเข้าประมูล ทั้งๆ ที่ กสทช. จัดประมูลล่วงหน้าได้ ดังนั้น กสทช. จะประกาศยกเลิกมาตรการเยียวยาดังกล่าว
เมื่อช่วงเช้าตนจึงได้รายงานถึงผู้ใหญ่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เพื่อเตรียมเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากอะไร การที่ดีแทค ไม่ร่วมประมูล เพราะรอมาตรการเยียวยา กสทช. จึงต้องแก้ปัญหานี้
ส่วนอีก 2 ราย คือ เอไอเอส และ ทรู เขาติดปัญหาเงินลงทุน 5G ไม่พอ หากต้องจ่ายค่าประมูลคลื่นก้อนใหญ่ โดยไม่สามารถขยายการชำระเงินค่าประมูลได้ คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 10 ก.ค.
โดยจะนำเข้าที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 27 มิ.ย. และเสนอให้รัฐบาลหาทางออก ทางไหนหาทางออกได้เร็วที่สุด ตนก็จะเลือกทางนั้น เพื่อให้มีการประมูลภายในปีนี้ ไม่เช่นนั้น ก็ต้องรอไปถึงปีหน้า
การที่ดีแทค อ้างว่า มีคลื่นเพียงพอ แต่เมื่อไม่มีมาตรการเยียวยาคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz ของดีแทค ก็จะไม่มี ดีแทคจะเหลือแค่คลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz ซึ่งไม่เพียงพอ เพราะไม่มีคลื่น 1800 MHz ในการส่งให้ทั้งสองคลื่นทำงานได้ โดยเฉพาะคลื่น 2300 MHz ดีแทค ก็ไม่สามารถใช้งานด้านเสียงได้
“ใครที่ฝันไม่ไกล ระวังจะไปไม่ถึง บอกว่าคลื่นพอ เราจะทำให้ไม่พอเอง จะอ้างว่าราคาแพง เราก็บอกแล้วว่าลดราคาไม่ได้ เพราะมันเป็นราคาที่ เอไอเอส และ ทรู จ่ายเงินมา 75% แล้ว กสทช. ต้องจัดการเรื่องนี้ให้ได้ แต่หากให้แก้หลักเกณฑ์เป็น 9 ใบ ตรงนี้ ทำได้” นายฐากร กล่าว
ด้าน พล.อ. สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. กล่าวว่า ในครั้งที่แล้ว ที่ กสทช. ออกมาตรการเยียวยา เพราะลูกค้าอยู่ในระบบจำนวนมาก และ กสทช. จัดประมูลไม่ทัน เกรงว่าจะเกิดซิมดับ และกระทบต่อผู้ใช้งาน แต่ครั้งนี้ ไม่ใช่ เพราะ กสทช. จัดประมูลทัน ดีแทค จะมาหวังใช้คลื่นฟรีๆ ไม่ได้ ส่วนการยกเลิกมาตรการเยียวยาจะอยู่ที่อำนาจของ กสทช. หรือไม่ ต้องรอนำเข้าที่ประชุมก่อน
หลังจากนี้ เมื่อไม่มีผู้ประมูล กสทช. ต้องปรับหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ คาดว่าจะใช้เวลา 7-8 เดือน ถึงจะได้ประมูลอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าไม่สามารถลดราคาได้ เอกชนไม่มีทางกดดันให้ กสทช. ทำตามที่เอกชนต้องการได้
***ดีแทค ยังมั่นใจว่าคลื่นจะได้รับการเยียวยา
นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวถึงมาตรการในการดูแลลูกค้าหลังจากที่ไม่เกิดการประมูลคลื่น 1800 MHz ว่าในมุมของดีแทค จะมีการลงทุนขยายสถานีฐานต่อเนื่อง
พร้อมยืนยันว่า ลูกค้าจะไม่ได้รับผลกระทบในกรณีที่ไม่มีคลื่น 1800 MHz เพราะดีแทค มีย่านคลื่นความถี่สูงอย่าง 2300 MHz มาให้บริการ ซึ่งมีปริมาณแบนด์วิดท์มากกว่าและให้ประสบการณ์ใช้งานที่ดีกว่าอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน ทางดีแทค หวังว่าจะได้รับความเท่าเทียมกันเหมือนกับตอนที่ กสทช. ให้ระยะเวลาเยียวยากับทางทรู และ DPC กว่า 26 เดือน หรือแม้แต่ในช่วงคลื่น 900 MHz หมดสัญญาสัมปทานก็ได้รับการเยียวยากว่า 9 เดือน
“แม้ว่าสถานการณ์บนคลื่นความถี่ 1800 MHz จะแตกต่างกัน จากกรณีที่ผ่านมาที่มีการประมูลล่าช้า แต่เป็นการจัดประมูลแล้วไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล ทำให้เงื่อนไขบางอย่างในการเข้าสู่มาตรการเยียวยาเปลี่ยนไป ซึ่งทางดีแทค ก็มีการเตรียมความพร้อมในส่วนนี้ไว้แล้ว”
ก่อนหน้านี้ ทางดีแทค มีการทำสัญญาร่วมกับทางเอไอเอส ในช่วงที่เอไอเอส พลาดการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เพื่อให้มาโรมมิ่งใช้งานโครงข่ายของทางดีแทค ในการรองรับลูกค้า 2G ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวกับทางดีแทค ลูกค้าก็ยังสามารถโรมมิ่งไปใช้งานเครือข่ายของเอไอเอสได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคลื่นความถี่ 850 MHz กลับเป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่ทาง กสทช. ไม่ได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ออกมาประมูลอย่างแน่นอน เพราะมีแผนที่จะนำไปใช้กับการให้บริการรถไฟความเร็วสูงแทน
ดังนั้น ในช่วงที่ยังไม่มีการนำคลื่น 850 MHz ไปใช้งาน เชื่อว่าทางดีแทค จะเข้าสู่มาตรการเยียวยาอย่างแน่นอน ซึ่งทางดีแทค ก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการให้บริการแล้ว รายได้ที่เหลือจะถูกส่งเป็นรายได้ให้แก่ กสทช.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอไอเอสแจ้งไม่เข้าประมูล 1800 MHz
“ดีแทค” ระบุคลื่นย่านความถี่สูงเพียงพอ ไม่เข้าร่วมประมูล 1800 MHz
หรือว่า 15 มิ.ย. จะไม่มีโอเปอเรเตอร์ยื่นซองร่วมประมูล 1800 MHz