เมื่อกลุ่มทรูแสดงความชัดเจนแล้วว่า จะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ที่ทางกสทช.จะจัดขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคมนี้อย่างแน่นอนแล้ว ทำให้ปัจจุบันยังเหลือแค่ 2 โอเปอเรอเตอร์ที่ไปรับซองประมูล ซึ่งมีกำหนดในการยื่นซองเพื่อเข้าร่วมประมูลในวันที่ 15 มิ.ย.นี้
แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางกสทช. จะออกมาระบุว่า ดีแทค จะได้ประโยชน์ถ้าไม่มีโอเปอเรเตอร์รายใดเข้าประมูล เพราะสามารถใช้งานคลื่นความถี่ 1800 MHz ได้ต่อเนื่องไปอีก 1 ปี ตามมาตรการเยียวยาที่จะเกิดขึ้น
โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดคือ ทางคณะกรรมการของเอไอเอส จะมีการประชุมเพื่อตัดสินใจเข้าร่วมประมูลหรือไม่ในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ ส่วนทางดีแทค ก็ยังสงวนท่าทีพิจารณาว่าจะเข้าร่วมประมูล เพราะตามการใช้งานแล้วคลื่นที่ดีแทคต้องการมากที่สุดในเวลานี้คือคลื่นความถี่ต่ำ (Low Band) หรือช่วงคลื่น 800 - 900 MHz
นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางของดีแทคในช่วงเวลานี้จะให้ความสำคัญกับการขยายพื้นที่ให้บริการบนคลื่น 2300 MHz เพราะด้วยพฤติกรรมการใช้งานโมบายดาต้าของผู้บริโภคไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันก็กำลังอยู่ในช่วงพิจารณาว่าจะเข้าร่วมประมูล 1800 MHz หรือไม่ เพราะปัญหาคือทางกสทช.มีการนำคลื่นมาประมูลเฉพาะ 1800 MHz ไม่ใช่ 850 MHz ที่มีความสำคัญกว่า ซึ่งทางดีแทค ก็ได้ร่วมกับทาง กสท โทรคมนาคม เข้าไปยื่นหนังสือขอความคุ้มครองกับทางกสทช.ไปแล้ว
โดยในส่วนของคลื่น 1800 MHz ถ้าไม่มีการประมูลก็เข้าสู่ช่วงเยียวยา ตามหลักเกณฑ์ของประกาศถ้าคลื่นยังไม่ถูกประมูล และลูกค้ายังย้ายออกไปไม่หมด ผู้ให้บริการรายเดิมก็ต้องให้บริการต่อเนื่อง
ส่วนของคลื่น 850 MHz ที่เห็นแนวทางในตอนนี้ก็จะมีว่า ถ้าลูกค้ายังย้ายไปไม่หมดก่อน ก็จะเป็นการนำคลื่นไปใช้งานก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกสทช. ออกมาระบุแล้วว่าจะนำไปใช้ในการให้บริการรถไฟความเร็วสูงแทน
อย่างไรก็ตาม ดีแทค ไม่อยากรอให้เข้าสู่ช่วงบังคับให้มีการเยียวยา ที่ทางกสทช.จะบังคับผู้ให้บริการรองรับลูกค้าต่อเนื่อง บนเงื่อนไขที่ต้องนำส่งรายได้เข้ารัฐ เพราะปัจจุบันเกิดการฟ้องร้องกันอยู่ถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างการเยียวยา
แม้ว่าการให้บริการในช่วงเยียวยาจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่ดีแทคก็ยินดีที่จะเข้าสู่มาตรการดังกล่าว โดยได้ทำข้อตกลงกับทางกสท เพิ่มเติมจากสัญญาการเช่าโครงข่ายใช้บริการในระยะยาวจนกว่าสัญญาใบอนุญาตของ DTN หมดอายุอยู่แล้ว ก็เลยมีการเพิ่มสัญญาบางส่วนที่จะเข้ามาคุ้มครองลูกค้าตอนนี้
“ถ้าดีแทคไม่มีคลื่น 850 MHz ก็จะกระทบกับลูกค้าทั่วประเทศ เพราะเป็นคลื่นที่ช่วยให้ดีแทคสามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศในเวลานี้ กลับกันดีแทคก็มีคลื่นความถี่สูงให้บริการที่รองรับการใช้งานในพื้นที่หนาแน่นทั้ง 2100 และ 2300 MHz อยู่แล้ว”
รวมถึงกฏเกณฑ์ในการประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งนี้ ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่เคยเสนอให้ทางกสทช. พิจารณาก่อนหน้านี้ ทั้งเรื่องของการแบ่งช่วงคลื่นความถี่ในการนำมาประมูลที่มีขนาดใหญ่เกินไป การมีกฏ n-1 และราคาที่สูงเกินไป
***เรียกหา ‘แผนประมูลคลื่นระยะยาว’
ด้วยเหตุนี้ ดีแทค จึงมองว่าคลื่นความถี่ต่ำมีความสำคัญมากกว่า ทำให้ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทางบอร์ดว่าจะเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz หรือไม่ เนื่องจากสิ่งที่แต่ละค่ายกังวล และต้องการทราบมากที่สุดคือ แผนการนำคลื่นความถี่มาประมูลในระยะยาว
“เชื่อว่าโอเปอเรเตอร์ทุกรายต้องการทราบว่าในอนาคตกสทช.มีแผนที่จะนำคลื่นใดออกมาประมูลบ้าง เพื่อที่จะได้ทราบว่าคลื่นใดนำมาประมูลเมื่อไหร่ แต่ประเทศไทยไม่มี ที่มีอยู่ก็เพียงแค่ระบุว่ามีคลื่นใดอยู่บ้าง แต่ไม่ละเอียดลงไปถึงขั้นว่า แต่ละคลื่นปัจจุบันใช้ทำอะไรอยู่ หลังจากที่หมดการใช้งานแล้วจะนำไปทำอะไร”
เพราะทางกสทช. อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่า แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (Spectrum Masterplan) ที่มีอยู่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจของโอเปอเรเตอร์ แต่ในความเป็นจริงในการวางแผนการทำธุรกิจระยะยาว 5-10 ปี ข้อมูลดังกล่าวยังไม่เพียงพอ
สำหรับสถานการณ์คลื่นความถี่ในประเทศไทย ทางกสทช. ได้นำคลื่นออกมาจัดสรรราว 420 MHz แต่นำมาใช้จริง 380 MHz ในขณะที่ประเทศขนาดใกล้เคียงจะจัดสรรมาให้บริการกว่า 1000 MHz ทำให้โอเปอเรเตอร์แต่ละรายมีคลื่นในการให้บริการไม่ต่ำกว่า 100 MHz
“รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการบริหารคลื่นให้เหมาะสมกว่านี้ อย่างถ้ามีการนำ 2300 MHz มาให้บริการก่อนหน้านี้ 2 ปี ก็จะทำให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้เร็วขึ้น โอกาสที่จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศด้วย”
***เกณฑ์ประมูลแบบนี้ รายใหม่เข้ายาก
ส่วนเรื่องของการที่จะมีผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามา เชื่อว่าเป็นเรื่องยาก เพราะด้วยการกำหนดขนาดช่วงคลื่นความถี่ (Block Site) ที่นำมาประมูลมีขนาดใหญ่ ราคาสูง ก็จะส่งผลให้ไม่เกิดผู้ให้บริการายใหม่ในตลาด แต่ถ้ามีการจัดสรรให้เหลือช่วงคลื่นละ 5 MHz ก็มีโอกาสที่จะนำคลื่น 5 MHz ไปให้บริการแก่ลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้
เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ให้บริการรายใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดจะแข่งขันได้ เพราะต้องใช้เวลากี่ปีกว่าจะสร้างโครงข่ายเพื่อนำมาให้บริการ ประกอบกับภายใน 4-5 ปีก็ต้องจ่ายค่าคลื่นที่ประมูลได้ อีกกว่า 4 หมื่นล้านบาทเป็นค่าคลื่นให้แก่กสทช.ก็ยากที่จะทำธุรกิจได้
"นอกจากนี้หากไม่มีโอเปอเรเตอร์เข้าร่วมประมูล1800ก็น่าจะเป็นโอกาสดีที่กสทช.จะสามารถปรับกฎเกณฑ์การประมูลใหม่ โดยไม่ต้องกังวลกับการถูกฟ้องร้องมากนัก เพราะการที่ไม่มีคนเข้าร่วมประมูลน่าจะหมายถึงทั้งเวลา ราคาและเงื่อนไข ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน"