อนุฯ โทรคมนาคม ชง บอร์ด กสทช. จัดประมูลใหม่ ยืนยันกำหนดเดิม คลื่น 1800 MHz วันที่ 4 ส.ค. และคลื่น 900 MHz วันที่ 10 ส.ค. ส่วนเรื่องมาตรการเยียวยาต้องให้อนุที่ปรึกษากฎหมายชี้ขาด ด้าน “สมเกียรติ” วิพากษ์ กสทช. พิลึกกึกกือ และไร้มาตรฐานโดยสิ้นเชิง
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคม ได้พิจารณากรณีคลื่นความถี่ 1800 MHz ให้ขยายเวลาในการยื่นแสดงความจำนงในการประมูลออกไป
โดยกำหนดกรอบระยะเวลา คือ วันที่ 26 มิ.ย.-25 ก.ค. ประกาศเชิญชวน และรับคำขอผู้สนใจเข้าร่วมการประมูล วันที่ 26 ก.ค. ยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูล, วันที่ 26-30 ก.ค. พิจารณาคุณสมบัติผู้เข้าประมูล, วันที่ 1 ส.ค. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ, วันที่ 2-3 ส.ค. ชี้แจงกระบวนการประมูล และให้วันที่ 4 ส.ค. เคาะราคาประมูล ตามเดิม
ทั้งนี้ หากมีผู้ผ่าน 1 ราย และต้องขยายเวลาออกไป 1 เดือน ให้จัดการประมูลให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 11 ก.ย.
ส่วนคลื่น 900 MHz ที่ประชุมได้เห็นชอบเงื่อนไขในการประมูลแล้ว โดยจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในวันที่ 27 ก.ค. ประกาศเชิญชวนให้เข้าประมูล, ยื่นคำขอเข้าประมูลวันที่ 31 ก.ค., วันที่ 31 ก.ค.-5 ส.ค. พิจารณาคุณสมบัติผู้เข้าประมูล, วันที่ 6 ส.ค. ประกาศผู้มีคุณสมบัติ, วันที่ 8 ส.ค. ชี้แจงกระบวนการประมูล และวันที่ 10 ส.ค. เคาะราคาประมูล
หากมีผู้เข้าประมูลรายเดียวให้ขยายระยะเวลาออกไปให้ประมูลให้เสร็จ 12 ก.ย. ทั้งนี้ ผู้ชนะการประมูลต้องจัดทำระบบป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่จากการเดินรถไฟฟ้า เมื่อดำเนินการแล้วให้หักจากเงินที่ต้องชำระค่าประมูล
ส่วนมาตรการเยียวยา ที่ประชุมมีมติให้สำนักงานออกคำสั่งเร่งรัดให้โอนย้ายลูกค้าที่เหลืออยู่ 430,000 ราย โดยให้เร่งรัดการโอนให้เสร็จภายในวันที่ 15 ก.ย. ส่วนกรณีเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานจะเข้ามาตรการเยียวยาหรือไม่ ให้นำข้อมูลของอนุกรรมการด้านโทรคมนาคมส่งต่อให้อนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. พิจารณาก่อนลงมติ
“จะให้บอกว่ามั่นใจไม่มั่นใจบอกไม่ได้ บอกได้แต่เราจะทำดีที่สุด ส่วนที่มีนักวิชาการแสดงความคิดเห็น ตนน้อมรับความคิดเห็นต่างๆ โดยตนพร้อมจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่พร้อมที่จะทำให้รัฐเสียหาย ถ้าทุกคนเข้ามาอยู่ในสถานะของเลขาธิการ หรือ กสทช. ขอให้มาตัดสินใจร่วมกับเราว่าจะเอาแบบไหน เชื่อว่าคนที่มาอยู่ในสถานะเดียวกันต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเห็นหลัก“ นายฐากร กล่าว
ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า หลังจากที่ กสทช. ได้เปิดรับซองยื่นประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้าประมูลเลย
โดยในความเห็นส่วนตัวนั้น ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ก็คือกสทช. กำหนดราคาประมูลตั้งต้นของคลื่น 1800 MHz ในรอบนี้สูงเกินไปคือ 37,475 ล้านบาท เพราะไปกำหนดให้เท่ากับราคาชนะการประมูลคราวที่แล้ว แทนที่จะคิดราคาประมูลตั้งต้นขึ้นใหม่ โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจ และเงื่อนไขตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างที่เคยทำมาโดยตลอด
วิธีดูง่ายๆ ว่าทำไมการคิดราคาประมูลตั้งต้นในรอบนี้ไม่เข้าท่าก็คือ สมมุติว่ามีการประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัลรอบใหม่ในปี 2561 โดย กสทช. ใช้ราคาชนะประมูลรอบที่แล้วเมื่อปี 2556 มาเป็นราคาประมูลตั้งต้นของรอบใหม่นี้ แน่นอนว่าคงไม่มีผู้ประกอบการรายไหนมาร่วมประมูลด้วย เพราะสภาพตลาดสื่อทีวีได้เปลี่ยนไปมากจากการถูกสื่อออนไลน์ป่วนอย่างแรง
ขณะเดียวกัน ยังระบุว่าเหตุผลที่ กสทช. ไปกำหนดราคาอย่างนี้ เพราะมีการ “ล็อบบี” จากผู้ชนะประมูลรอบที่แล้ว ที่เห็นว่าราคาที่ตนชนะประมูลมาสูงมาก เลยเกรงว่าจะเสียเปรียบคู่แข่งที่ประมูลได้ในอนาคต จึงให้ กสทช. สัญญาไว้ในเงื่อนไขใบอนุญาตที่ออกให้ตนเลยว่า การประมูลรอบต่อไปต้องตั้งต้นด้วยราคาไม่ต่ำกว่านี้ ซึ่ง กสทช. ก็ยอมตามนั้น และนำมาอ้างว่า หากกำหนดราคาตั้งต้นต่ำกว่าราคาชนะการประมูลคราวที่แล้ว กสทช. ก็จะถูกฟ้องร้อง
“ผมไม่เคยเห็นใบอนุญาตของผู้ชนะการประมูลรอบที่แล้วว่ามีเงื่อนไขดังกล่าวจริงหรือไม่ และเขียนไว้อย่างไร แต่เมื่อได้ฟังเรื่องดังกล่าวแล้วก็ตกใจ เพราะหากเป็นความจริงแล้ว ก็หมายความว่าระบบการกำกับดูแลโทรคมนาคมของประเทศไทยโดย กสทช. นั้น พิลึกกึกกือ และไร้มาตรฐานโดยสิ้นเชิง อย่างไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน มีอย่างที่ไหนครับ เอาราคาของการประมูลคราวที่แล้ว มากำหนดราคาตั้งต้นของการประมูลครั้งนี้ โดยไม่มีการแจ้งให้ผู้ร่วมประมูลคราวที่แล้วทราบล่วงหน้าก่อนเลย”
ผลของเงื่อนไขนี้ก็คือ ผู้ชนะการประมูลคลื่น 1800 MHz รอบที่แล้วทั้งสองราย จะได้เปรียบผู้ชนะการประมูลคลื่น 1800 MHz รอบนี้อย่างแน่นอน หากการประมูลเกิดขึ้น เพราะจ่ายค่าประมูลเท่ากัน หรือต่ำกว่า แต่ได้คลื่นไปใช้ก่อนถึงกว่า 2 ปี ทำให้แย่งส่วนแบ่งตลาดมาได้มากมาย จึงไม่แปลกใจที่ผู้ประกอบการเหล่านี้เรียกร้องให้กำหนดราคาประมูลรอบนี้ไว้สูง หากมีการประกาศเงื่อนไขแบบนี้ล่วงหน้าให้รู้ทั่วกัน ผู้ที่ออกจากการประมูลคลื่นรอบที่แล้วไปก่อนก็อาจจะสู้ต่อไป ไม่ยอมแพ้เร็วขนาดนี้ก็ได้
อีกเรื่อง คือ การกำกับดูแลของ กสทช. ที่ให้มี “การเยียวยา” ตามใจตน โดยไม่ได้ประกาศล่วงหน้าอีกเช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้ถูกมองได้ว่าเลือกปฏิบัติกับผู้ประกอบการแบบเลือกที่รักมักที่ชัง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจาก “สุ่มเสี่ยง” ของนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ที่พูดหลังรู้ว่าไม่มีใครมาร่วมประมูลน่าแปลกใจอยู่ว่านานาประเทศต่างใช้การประมูลคลื่นเพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม แต่ประเทศไทยกลับทำให้การประมูลกลายเป็นเครื่องมือสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการบางรายได้