xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมควรใช้ ม.44 ช่วยทีวีดิจิทัล/ค่ายมือถือ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.
เสียงค้านของ 'สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์' ประธานทีดีอาร์ไอ ที่เห็นว่าการใช้ม.44ครั้งนี้เป็นการอุ้ม หรือ เอื้อประโยชน์เอกชนค่ายมือถือ จากภาระส่วนต่างดอกเบี้ย ทำให้รัฐเสียหาย กว่า 3 หมื่นล้านบาท ดังแทบหูจะแตก สั่นสะท้านกระแทกไปถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรี หยุดชะงัก เกิดความกังวลต่อการใช้ม.44 ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัล โดยให้เวลากสทช.อีก 1 สัปดาห์ เพื่อให้กลับมาตอบคำถามต่างๆ เป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจนอีกครั้ง โดยให้เน้นเรื่องผลประโยชน์ของรัฐกับประชาชนให้มากที่สุด

แต่ในความจริงแล้วหากวิเคราะห์ให้ลึกลงไปจะพบว่า การใช้ ม. 44 นั้น ไม่ได้เป็นการอุ้มเอกชนแต่เป็นความจำเป็นให้อุตสาหกรรมอยู่รอด เพราะหากบังคับ 2 ค่ายมือถือจ่ายค่าประมูลคลื่นรวมกันครั้งเดียวกว่า 1.2 แสนล้านบาท แม้จะได้ค่าต๋งเป็นเงินก้อนใหญ่ทีเดียวเข้ารัฐ แต่ภาพรวมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอาจต้องปั่นป่วนและไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน

ประเทศไทยจะเดินหน้าประมูลคลื่นได้อย่างไรในเมื่อทั้ง 2 ราย คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ไม่มีเงินเข้าร่วมประมูลคลื่น 900/1800 MHz ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ ขณะที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเอง ศาลปกครองกลางก็ตัดสินคดีของบริษัท ไททีวี จำกัด แล้วว่าไม่สามารถยึดแบงก์การันตีได้ จึงน่าจะเป็นนัยยะสำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าวงการทีวีดิจิทัลก็อาการหนักพอดู

*** กสทช.เตรียมส่งเอกสารชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ตนเองได้ร่วมกับวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีชี้แจงด้วยวาจาในที่ประชุมคสช.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและหัวหน้าคสช.รับทราบถึงเหตุผลการขอออกม.44 เพื่อพักชำระหนี้ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเป็นเวลา 3 ปี และยืดการชำระค่างวดใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ประมูลคลื่น 900 MHz ทั้งบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทลูกของเอไอเอส และบริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) บริษัทในเครือทรู แบ่งจ่ายเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งที่ประชุมคสช.ให้กลับไปทำรายละเอียดเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการมาชี้แจงอีกครั้งเป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยต้องตอบคำถามให้ได้ว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้เอกชน และทางรัฐและประชาชนได้ประโยชน์

นอกจากนี้ คสช.ระบุว่ามีหลายฝ่ายออกมาแย้งในเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ที่มองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ซึ่งฐากรและวิษณุได้ชี้แจงและพยายามให้เหตุผลอย่างเต็มที่แล้ว โดยวิษณุจะเรียกประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกครั้งเพื่อหาทางออกร่วมกัน

***ม.44 ช่วยภาพรวมธุรกิจ

ทั้งนี้ เหตุผลที่ กสทช.และคณะทำงานร่วมได้เสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 2ค่ายไปในคราวเดียวกันนั้น ไม่ได้เป็นการอุ้มธุรกิจเอกชน แต่เป็นการมองผลประโยชน์ในภาพรวมที่จะเกิดแก่ประเทศในระยะยาว รวมทั้งกสทช. จะใช้เงื่อนไขในการยืดชำระหนี้บรรจุลงในเงื่อนไขการประมูลครั้งต่อไป เพื่อจูงใจและจะไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกัน

ทั้งนี้ในส่วนของผู้ประกอบการมือถือนั้น กสทช.ยืนยันว่ามาตรการที่นำเสนอนั้นไม่ได้เปิดทางให้เอื้อประโยชน์ เพราะทั้ง 2บริษัทไม่ได้เบี้ยวหนี้หรือระงับการจ่ายค่าประมูลคลื่น 900 MHz หากแต่เอกชนขอยืดเวลาชำระค่าประมูลคลื่นออกไปเท่านั้นโดยยินดีจ่ายดอกเบี้ยให้รัฐตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ 1.5% หรือรายละกว่า 1,700 ล้านบาท

'การที่อ้างว่าเอื้อประโยชน์เอกชนจากส่วนต่างดอกเบี้ยโดยคิดที่ 15% เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่การเบี้ยวจ่ายค่าประมูลคลื่น โดยเฉพาะการปั้นตัวเลขทำให้รัฐเสียหาย 3 หมื่นล้านบาท ไม่น่าถูกต้องนัก ตั้งใจทำให้ตื่นตระหนก'

หากจะพูดส่วนต่างดอกเบี้ยจริง ต้องคิดจากต้นทุนเงินที่จะกู้มาจ่ายแต่ละปี กรณีเอไอเอส จะต้องจ่ายงวดละ 11,914.8 ล้านบาท ดอกเบี้ยจ่ายให้รัฐ 1.5% รวม ทั้งหมด 1,787.2 ล้านบาท แต่หากกู้แบงก์ตัวเลขดอกเบี้ยประมาณการที่ทั้ง 2 ค่ายมือถือสามารถหามาได้จะอยู่ที่ประมาณ 3% หรือ จ่ายให้แบงก์ราว 3,574.4 ล้านบาท ส่วนต่างประมาณ 1,787 .2 ล้านบาท ส่วนทรู ต้องจ่ายงวดละ 12,043.6 ล้านบาท ดอกเบี้ยจ่ายให้รัฐ 1.5% รวมทั้งหมด 1,806.6 ล้านบาท แต่หากกู้แบงก์ดอกเบี้ย 3% หรือ จ่ายให้แบงก์ราว 3,613.2 ล้านบาท ส่วนต่างดอกเบี้ยประมาณ 1,806.6 ล้านบาท

'ส่วนต่างดอกเบี้ยจริงๆไม่ถึง 3 หมื่นล้านบาทอย่างที่ทำให้ตกใจกัน รวมกันประมาณ 3,593.8 ล้านบาท แต่ที่สำคัญถ้าจะมองเรื่องตัวเลขใครได้ใครเสียเอื้อประโยชน์ใคร ดอกเบี้ย 1.5% จ่ายเข้ารัฐ รัฐได้ประโยชน์ทางตรงทันที แต่ดอกเบี้ย 3% จ่ายเข้าแบงก์รัฐไม่ได้ประโยชน์ทางตรงสักบาทเดียวด้วยซ้ำ'

นอกจากนั้น ด้วยสถานะของเอกชนทั้งสองรายนั้นหากจะบังคับให้ต้องชำระค่าประมูลคลื่นทั้งหมดในทันที รายละเกือบ 60,000 ล้านบาทนั้น เชื่อแน่ว่าด้วยสถานะของเอกชนทั้งสองรายที่มีอยู่คงสามารถจ่ายได้แน่ แต่ผลที่จะตามมาหลังจากนั้นไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อรัฐและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในภาพรวม เพราะผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงหากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือต้องระดมเม็ดเงินมาจ่ายค่าใบอนุญาตนั้นก็คือสถาบันการเงิน ขณะที่บริษัทเอกชนนั้นเมื่อใช้เงินไปหมดหน้าตักแล้วจะเป็นอุปสรรคในการกู้ลงทุนเพิ่มหรือแบงก์อาจจะไม่อนุมัติให้กู้อีก

'ถ้าต้องจ่ายจริงๆ ก็พร้อมจ่าย แต่การประมูลครั้งต่อไปจะเอาเงินที่ไหนไปประมูลเพราะคงไม่ถูกกว่าที่จ่ายกันตอนนี้ การขอยืดเวลาก็เพราะอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก เรากำลังจะมี 5G ,IoT ทุกอย่างต้องลงทุนทั้งสิ้น'
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เคยกล่าวว่ารัฐบาลรับทราบแนวทางการขอความช่วยเหลือทีวีดิจิทัล และการขยายเวลาชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz จาก กสทช.แล้ว โดยรับปากเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่าจะออก ม.44 ช่วยแน่
นอกจากนี้ การประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ในย่านความถี่ 1800 และ 900 MHz ที่จะมีขึ้นอาจจะไม่มีเอกชนรายใดเข้าประมูลอีก นอกจาก บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) เพราะสองค่ายที่ใช้เงินไปหมดหน้าตักคงไม่สามารถระดมทุนเข้ามาประมูลใหม่ได้อีก จะส่งผลต่อการประมูลคลื่นใหม่ในทันที

'รัฐบาลและกสทช.มองเห็นประเด็นนี้จึงได้เสนอมาตรการดังกล่าวขึ้นไปโดยมั่นใจว่าไม่ได้เป็นการอุ้มชูเอกชนแต่ต้องการเปิดทางให้เอกชนทั้งสองรายมีช่องทางหายใจ เพื่อที่จะได้เข้าร่วมประมูลคลื่นใหม่ได้ โดยที่รัฐยังคงได้ประโยชน์เต็มที่ จึงอยากให้ทุกฝ่ายมองผลประโยชน์ในภาพรวมมากกว่า'

ราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ ดีแทค เคยให้ความเห็นว่า การขยายระยะเวลาดังกล่าว ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหามาจากราคาคลื่นความถี่ โดยราคาคลื่นความถี่ของไทยสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมสูงเกินไป ดังนั้นมองว่าหากมีการยืดการชำระค่างวดดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับรายอื่นก็ควรต้องนำมากำหนดในหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ในครั้งต่อๆ ไปด้วย

ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลนั้น ทุกฝ่ายต่างก็ยอมรับว่ามาตรการที่รัฐให้ไปนั้นเป็นเพียงการยืดชำระหนี้ออกไปเท่านั้น และผู้ประกอบการเองต่างก็อยู่ในภาวะหืดจับ หากรัฐไม่ช่วยเหลือก็เชื่อแน่ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่คงไปไม่รอด

ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันในมาตรการให้พักชำระหนี้ทีวีดิจิทัล ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยผู้ที่จะยื่นเรื่องในการพักชำระหนี้จะต้องยื่นกับคณะกรรมการ กสทช.ภายใน 30 วัน โดยต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยตามนโยบายของ ธปท. ขณะที่ กสทช.จะสนับสนุนเรื่องโครงข่ายภาคพื้นดินไม่เกิน 50% ภายในระยะเวลา 24 เดือน

'เมื่อพินิจพิเคราะห์แนวทางการช่วยเหลือแล้ว รัฐไม่ได้เสียหายก็ควรช่วยเหลือ เพราะเอกชนคือกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีอะไรที่ช่วยเหลือได้ ก็ควรช่วยเหลือและสนับสนุน เพื่อให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน'

การมีเงินกองตรงหน้า 1.2 แสนล้านบาท เป็นใครๆก็ชอบ แต่คุ้มหรือไม่หากแลกมาด้วยการที่อุตสาหกรรมชะงักงัน ส่งผลกระทบภาพรวมเศรษฐกิจ การประมูลคลื่นไร้การแข่งขัน ธุรกิจสื่อสารไร้กำลังเงินขยายการลงทุน ตามเทรนด์ของเทคโนโลยีที่มุ่งสู่ 5G IoT ที่กลายเป็นพลังสร้างแต้มต่อของการแข่งขัน เพียงเพราะตื่นตระหนกกับตัวเลขความเสียหายบนกระดาษ ในขณะที่โลกความเป็นจริงมีหลายแกน หลายมิติ มากกว่าวัดกันแค่ตัวเลขที่ปั้นแต่งขึ้นมา

การใช้ม.44 ครั้งนี้ จึงน่าจะเป็นการช่วยมากกว่าการอุ้ม หรือ 'การเอื้อประโยชน์' ที่บางคนตั้งใจชี้นำ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น