ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เจอเบรกนาทีสุดท้าย สำหรับ “มาตรการไถ่บาป” ที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เสนอให้ที่ประชุม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อช่วยเหลือ “ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล” และ “ผู้ประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz)”
ผู้ที่แตะเบรกก็ไม่ใช่ใคร เป็น “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ผู้ถือสิทธิ์ขาดในการเซ็นคำสั่งมาตรา 44 นั่นเอง
โดย “บิ๊กตู่” บอกถึงเหตุที่ยังไม่ตัดสินใจออกคำสั่งตามมาตรา 44 ตามข้อเสนอของ กสทช.ว่า “หลายเรื่องเป็นความรับผิดชอบของภาคธุรกิจเอง ที่เวลาลงทุนก็ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงด้วย”
ทั้งยังมีการหยิบยกความเห็นแย้งของ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่มองว่า “การออกมาตรา 44 ครั้งนี้อาจจะเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางราย”
แม้ว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เจ้าภาพในเรื่องนี้ฝ่ายรัฐบาล และ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เจ้าภาพในเรื่องนี้ของฝ่าย กสทช. จะพยายามชี้แจงในที่ประชุมเต็มที่แล้ว แต่ “นายกฯตู่” ก็ยังไม่รับฟัง
ทว่าก็ไม่ได้ปิดประตูตาย ให้เดดไลน์ 1 สัปดาห์ กลับไปทำรายละเอียดเป็นลายลักษณ์อักษรมาประกอบข้อเสนอใหม่
เป็นการบ้านที่ กสทช.ผู้ที่ “กลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก” จนสร้างตราบาปให้กับทั้งอุตสาหกรรมทั้ง 2 แขนงรับไปดำเนินการ
ถอดรหัสเรื่องนี้ ต้องแยกเป็น 2 กรณีให้ชัดเจน หนึ่งคือ มาตรการช่วยเหลือ “ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล” และสอง มาตรการช่วยเหลือ “ผู้ประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz)”
ด้วยถือเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” ที่เผอิญถูกกระทำโดย กสทช. จนออกอาการ “ฝีแตก” ในเวลาใกล้เคียงกัน
ต่างกันก็ตรง “กิจการโทรทัศน์” อันหมายถึง “ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล” เป็นการลงทุนนับหนึ่งใหม่ มีการประมูลเมื่อปลายปี 2556 ที่ตัวเลขประมูล 24 ช่อง มูลค่ารวม 50,862 ล้านบาท กลายเป็นผลงานเชิดหน้าชูตาของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ภายใต้ กสทช. ที่มี พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.เป็นประธาน กสท.ด้วย
หากจำกันได้ช่วงนั้นทั้งผู้ประกอบการ และ กสทช.เอง ถึงกับมีการเปิดแชมเปญฉลองกันยกใหญ่ โดยหารู้ไม่ว่ากำลังเอาบ่วงมาพันคอตัวเอง
ก็ด้วยไปหลงกับคำคุยโตของ “นที” ที่คุยฟุ้งว่า “ปูพรมแดง” ไว้ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไว้เสร็จสรรพ ทั้งแนวทางเปลี่ยนผ่านจากอะนาล็อกสู่ดิจิทัล หรือการแจกจ่ายกล่องดิจิทัล 22 ล้านครัวเรือน พร้อมกับผลประเมินเม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมทีวี ว่าไม่ต่ำกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท แต่ความจริงผู้ประกอบการต่างต้องเจอ “ทางวิบาก” เม็ดเงินโฆษณามีให้แย่งชิงกันไม่ถึงแสนล้านบาทตามที่ “นที” เคยโม้เอาไว้ จนแบกภาระค่าใช้จ่าย-ขาดทุนบักโกรกกันถ้วนหน้า
สะท้อนผ่านคำพิพากษาศาลปกครองกลางเมื่อ 13 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ในคดีที่ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” พันธุ์ทิพา ศกุนต์ไชย กรรมการผู้มีอำนาจของ บริษัท ไทยทีวี จำกัด ยื่นฟ้อง กสทช. เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้การประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบทีวีดิจิทัล ของบริษัทไทยทีวี เป็นโมฆะทั้งหมด
“กสทช.กระทำผิดสัญญา ที่ได้ประกาศชี้ชวนไว้กับบริษัทไทยทีวี ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาในการขยายโครงข่ายและการส่งเสริมกิจการทีวีดิจิทัล ตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนผู้ประกอบการไทยทีวีจึงมีสิทธิบอกเลิกการให้บริการทีวีดิจิทัลได้” คำพิพากษาว่าไว้เช่นนั้น
ในขณะที่ กสทช. โดย กสท.ของ “นที” ก็ง่อยเปลี้ยเสียขา หลงอยู่กับความสำเร็จของตัวเลขการประมูลที่ทะลุเพดาน ทั้งๆ ที่ “กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด” มาตั้งแต่ต้น โดยไม่รับฟังคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญที่แนะนำให้เปิดประมูลช่องเป็นเฟสๆ มิใช่เหมารวมทีเดียวหลายช่อง ทำให้มีช่องทีวีมากเกินไป และประเภทรายการก็ไม่ตรงกับสเปกที่ กสทช.กำหนด
เมื่อทีวีมีมากช่อง สวนทางกับพฤติกรรมของผู้ชม จึงได้กลายเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้“วงการทีวี” ก้าวเข้าสู่ยุค “รอความตาย” อย่างเต็มตัว ทั้งที่ตอนแรกทุกคนต่างฝันหวานว่า จะร่ำรวยจากการเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ด้วยกันหมดทั้งสิ้น
ย้ำกันอีกครั้งว่า ไม่มีใครบังคับให้เข้ามาประมูล เพียงแต่เมื่อเข้ามาแล้วไม่เป็นไปตามที่วาดฝันเอาไว้ก็เท่านั้น เมื่อเจ๊งก็ต้องยอมรับผลจากความผิดพลาดของตนเอง
จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรจาก CTH ของ เสี่ยวิชัย ทองแตง ที่ทุ่มเงินอย่างบ้าคลั่งนับหมื่นล้านในการประมูลสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของอังกฤษยาวนาน 3 ฤดูกาล (2013-2016) ด้วยหวังจะเป็นแม่เหล็กและเป็นสปริงบอร์ดในการนำพา CTH เข้าสู่การแข่งขันระดับสากล จนในที่สุดก็ต้อง “เจ๊ง” อย่างไม่เป็นท่า
ย้อนกลับมาที่ทีวีดิจิทัล อันที่จริงการรับชมช่องหลักในระบบเดิม รวมถึงระบบใหม่ในรูปแบบทีวีดิจิตัล ต่อให้ไม่มี “กล่องรับ” ทั้ง “ดาวเทียม” และ “เคเบิลทีวี” ก็เกี่ยวสัญญาณไปออกอากาศครอบคลุมทุกครัวเรือนอยู่แล้ว แต่ด้วยความผิดพลาดของ กสทช.ที่เขียนเงื่อนไขผูกมัดตัวเองเอาในหนังสือชี้ชวนผู้ประกอบการ รวมถึงความล่าช้าในการแจกกล่องไม่ทันตามประกาศที่คุยโวโอ้อวดเอาไว้จริงๆ จึงกลายเป็นช่องว่างสำคัญที่ทำให้ กสทช.แพ้คดีแก่ “เจ๊ติ๋ม” ไปในท้ายที่สุด
และจาก “เจ๊ติ๋มเอฟเฟกต์” นี่เอง ที่ทำให้ กสทช.ที่เคย “เกียร์ว่าง” ไม่ได้เคยคิดจะเยียวยาหรือแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงทีสอดรับกับสัญญาณของผู้ประกอบการที่ย่ำแย่มาเป็นลำดับ ดูจะแข็งขันขึ้นมา จะด้วยกลัวความผิดมาถึงตัวหรือไม่ ไม่ทราบได้ แต่นั่นก็เป็นที่มาของมาตรการช่วยเหลือ ที่ กสทช.เสนอให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกรายพักชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเป็นเวลา 3 ปี โดยให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี และลดค่าเช่าโครงข่ายลง 50% เป็นเวลา 2 ปี โดย กสทช.จะเป็นผู้ออกให้อีก 50%
แต่เชื่อว่า หาก กสทช.เสนอมาตรการช่วยเหลือทีวีดิจิทัลให้ คสช.เพียงวาระเดียว คงไม่เกิดอาการ “ขัดลำกล้อง” เช่นนี้ แม้จะดูไม่จำเป็นอย่างที่ “ทีดีอาร์ไอ” ว่าไว้ แต่ก็เป็นการประคอง “อุตสาหกรรมทีวี” ให้ไปต่อได้ หลังย่ำแย่กันอย่างหนักทั้งองคาพยพจากความผิดพลาดในการกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดของ กสทช.เอง
อีกทั้งยังต้องหลีกเลี่ยง “จุดตาย” ที่ผู้ประกอบการจะงัด “เจ๊ติ๋มโมเดล” ทิ้งใบประกอบการแล้วไปพึ่งอำนาจศาล ปล่อยให้จอดับไปกันหมดเช่นนั้นจะยุ่งไปใหญ่ แล้วผลกรรมก็จะย้อนศรกลับมาที่ กสทช.ในฐานะผู้กำกับดูแลเอง
ขณะที่ปัญหาของทางฝั่ง “ผู้ประกอบการโทรคมนาคม” นั้น มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างออกไปพอสมควร ก็ด้วยบรรรดาโอเปอเรตอร์ค่ายมือถือต่างๆ นั้น ลงทุนทำธุรกิจไปอย่างมหาศาลมาก่อนที่ กสทช.จะถือกำเนิดขึ้น และในขณะที่กิจการกำลังจะไปได้ด้วยดี ก็มี กสทช.เข้ามา “สวมรอย” ตรงกลางทาง
ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงล้วนแล้วมาจาก “การทำงานที่ไม่ได้เรื่องของ กสทช.” ทั้งสิ้น แต่ไม่สามารถที่จะถอยหลังกลับได้ เนื่องด้วยหมดเงินลงทุนกับการวางโครงข่ายไปเป็นจำนวนมหาศาล
หลักใหญ่ใจความที่ทำให้ “ผู้ประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz” กล่าวคือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทใน “เครือ AIS” และบริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัทใน “เครือ TRUE” ประสบปัญหา ก็มาจากที่ กสทช.ปล่อยให้มูลค่าคลื่นความถี่ “สูงเกินความเป็นจริง”
ต้องบอกว่า การประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคมภายใต้การกำกับของ กสทช.นั้นส่งสัญญาณว่า จะมีปัญหามาตั้งแต่เมื่อครั้งประมูลคลื่น 4G ความถี่ 1800 MHz เมื่อเดือนพฤศจิกายน2558 ที่ครั้งนั้นมีการประมูล 2 สลอตๆละ 15MHz ผู้ชนะ 2 รายคือ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชัน จำกัด ในเครือ TRUE เสนอราคา 39,792 ล้านบาท และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือ AIS ที่เสนอราคา 40,986 ล้านบาท
หากแต่ “ผู้สันทัดกรณี” ชี้ว่าราคาที่สมเหตุผลนั้นคือราคาที่ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTAC) เสนอที่ 17,504 ล้านบาท เรียกว่ามีการเคาะราคาทะลุเพดานขึ้นมามากกว่าเท่าตัว โดยมีตัวละครสำคัญคือ “บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด” (JAS) ที่เสนอราคาสุดท้ายที่ 38,996 ล้านบาท ก่อนที่จะหยุดเคาะราคา ปล่อยให้ “TRUE - AIS” ชนะไปในที่สุด
ถัดมาในการประมูลคลื่น 4G ครั้งที่สอง ความถี่ 900 MHz เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ห่างจากการประมูลครั้งแรกเพียงเดือนเดียว ซึ่งเป็นปัญหาและกำลังหาทางเยียวยากันอยู่ในขณะนี้นั้น จนถึงขั้น “ทุบสถิติโลก” เลยทีเดียว เมื่อปรากฎผลประมูลข้ามวันข้ามคืนรวม 4 วัน 3 คืน จนมาปิดราคาสุดท้ายที่ได้มูลค่ารวมทั้งหมดถึง 151,952 ล้านบาท รายได้เกินจากที่คาดการเอาไว้ 135,872 ล้านบาท จากการประมูล 2 สล็อตๆละ 10MHz ปรากฎผู้ชนะคือ JAS มูลค่า 75,654 ล้านบาท และ TRUE ที่มูลค่า 76,298 ล้านบาท
ความปั่นป่วนเกิดขึ้นทันทีเมื่อ “JAS” ภายใต้การนำทัพของ “พิชญ์ โพธารามิก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JASตัดสินใจทิ้งใบอนุญาตไปอย่างหน้าตาเฉย ก่อนที่ AIS จะเข้ามารับช่วงต่อในราคาที่ JAS ทิ้งไว้ ซึ่ง “ผู้สันทัดกรณี” ต่างมองว่า เป็นราคาที่สูงเกินความเป็นจริงอย่างมาก
อีกทั้งมีข่าวว่า มีผู้ประกอบการบางรายเคาะราคาตัวเอง “บ้าระห่ำ” นั้น มีจิตเจตนาเพื่อลาก “บริษัทผู้เข้าร่วมประมูลบางราย” ให้ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนครั้งนี้เป็นจำนวนมหาศาล
ที่สำคัญคือมีการตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติในการเข้ามาของ JASว่า มีผลมาจากความสัมพันธ์บางประการกับ “บิ๊ก กสทช.” บางคนหรือไม่ เพราะมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า ได้ประโยชน์จากตัวเลขการขึ้นลงในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากการทิ้งคลื่น4G และยอมให้กสทช.ยึดเงินค้ำประกัน644 ล้านบาท หลังไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าใบอนุญาตงวดแรก 8,040 ล้านบาท JAS มิได้ปริวิตก แถมยังดีใจเสียด้วยซ้ำไป
ยิ่งย้อนหลังกลับไปตรวจสอบ “พฤติการณ์” ของ JAS ในวันที่เข้าร่วมประมูลจนถึงเส้นตายการชำระเงินในวันสุดท้ายคือวันที่ 21 มีนาคม 2559 และคำอธิบายต่างๆ นานาแล้ว ก็จะไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมสังคมถึงมองว่า “งานนี้...แจสมีแต่ได้” และไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่สังคมจะสงสัยอีกเช่นกันว่า การเข้าร่วมประมูลของ JAS เป็นเพียง “ทฤษฎีการสมคบคิด” เพื่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจกับ “ใครบางคน” และรวมทั้งตั้งข้อสงสัยไปถึงการทำกำไรจาก “ตลาดหุ้น” ที่ดังอึงมี่ไปทั่วทั้งแผ่นดิน
ดังที่ JAS แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า “ขณะที่เรื่องผลกระทบในส่วนด้านการเงินนั้นคิดว่าไม่น่าจะมีผลต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญเพราะคิดว่าการไม่ชำระค่าประมูลมีโทษเพียงการถูกริบเงินประกันจำนวน 644 ล้านบาท เท่านั้น มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขใดๆ ตามข้อ 5.2 ของหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ซึ่งระบุว่าให้ริบเงินประกันและคิดค่าเสียหายที่เกิดขึ้น”
ที่สำคัญคือ แม้ “พิชญ์ โพธารามิก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JASจะแจ้งว่า กรณี JAS แม้ต้องถูกริบเงินประกันการประมูล แต่ “JAS”และกลุ่มบริษัท ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในค่าเสียหายใดๆ เพิ่มเติม เนื่องจากประกาศ กสทช. ไม่ได้ระบุให้ผู้ชนะการประมูลต้องรับผิดชอบในความเสียหายใดๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากเงินประกันข้างต้น
นี่ก็คืออีกหนึ่งความผิดพลาดจาก กสทช.ที่เห็นได้ชัดแจ้ง
สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลให้ “TRUE - AIS” ต่างต้องแบกรับค่าใบอนุญาต 2 ครั้ง รวมแล้วมากกว่าแสนล้านบาทต่อราย ด้วยภาระที่หนักอึ้งเช่นนี้ ส่งผลกระทบทำให้พัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมของทั้งสองรายติดขัดอย่างหนัก
อีกทั้งยังกระทบมูลค่าทางการตลาดของ “ธุรกิจโทรคมนาคม” โดยรวมหดหายไปกว่า 4 แสนล้านบาท เป็นอีกตราบาปที่ กสทช.ทำไว้กับ “กิจการโทรคมนาคม” แล้วก็บ้อท่าที่จะแก้ไขปัญหาใดๆได้ จึงต้องผลักภาระให้ คสช.เป็นผู้ใช้อำนาจในการเยียวยา
หากแต่ถูก “กระบี่มือหนึ่งแห่งทีดีอาร์ไอ” ฉายภาพว่าเป็นการอุ้ม “กลุ่มทุนใหญ่” จึงไม่แปลกที่ “นายกฯ ตู่” จำต้องยับยั้งการเยียวยาโดยมาตรา 44 ไว้เพื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเสียก่อน
โดยเกมการเสนอมาตรการเยียวยา ตลอดจนการชะลอนั้นลึกซึ้งอย่างมาก มีการวางหมากกลคาบเกี่ยว 2 หมุดหมายสำคัญของ กสทช.ในช่วงนี้
คือ 1. การจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800 MHz รอบใหม่ ที่ทาง คณะกรรมการกฤษฎีกา เพิ่งมีความเห็นว่า กรรมการ กสทช. ชุดปัจจุบัน ที่มี “บิ๊กอ้อ”พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร เป็นประธาน ที่ถือเป็น “ชุดรักษาการ” มีอำนาจในการดำเนินงานกิจการของ กสทช. ทุกด้าน
และ 2. การเลือก ว่าที่ กสทช.ชุดใหม่ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการเลือกผู้ได้รับการสรรหา 14 คน ให้เหลือ 7 คนในรอบสุดท้าย
กล่าวคือ ก่อนหน้านี้ “บอร์ด กสทช.รักษาการ” มีมติชะลอการประมูลคลื่นออกไปก่อน ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ที่อีกไม่เกิน 1-2 เดือนนี้ก็จะได้ “7 อรหันต์ กสทช.” ชุดใหม่ที่ สนช.นัดเคาะรอบไฟนอล ในวันที่ 19 เม.ย.นี้ ตลอดจนเห็นว่าผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายอื่นๆ มีคลื่นความถี่ในมือเพียงพออยู่แล้ว จนอาจไม่มีใครเข้าร่วมการประมูล เว้นแต่ DTAC ที่สัมปทานคลื่น 1800MHz จะหมดลงช่วงเดือนกันยายน 2561 นี้
หากแต่ก็มี “ขาใหญ่ซอยสายลม” พยายาม “วิ่งเต้น” อย่างหนักเพื่อให้มีการประมูลเร็วที่สุด โดยไปอ้างว่าเป็นบัญชาของ “ตึกไทยฯ-บ้านใหญ่” กดดันให้ ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาว่า “กสทช.รักษาการ” สามารถทำเรื่องใหญ่ๆอย่างการประมูลคลื่น หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริหารภายในสำนักงาน กสทช.ได้
อีกทางหนึ่ง “ขาใหญ่รายเดิม” ก็ใช้การออกมาตรา 44 ช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz ให้ขยายงวดจ่ายเงินประมูลก้อนสุดท้ายที่ครบกำหนดในปี 2562 มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาทออกเป็น 5 งวดเท่า ๆ กัน ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อลดภาระให้กับ “TRUE - AIS” แลกกับการที่ 2 โอเปอเรเตอร์ประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800MHz รอบใหม่ที่กำลังจะมีขึ้น
โดยไม่ได้คาดหวังว่า 2 โอเปอเรเตอร์ไปเอากระดูกมาแขวนคอเพิ่ม โดยการประมูลให้ได้ คลื่นเพิ่มเติม หากแต่ต้องการ “ตัวละคร” ร่วมฉากการประมูลครั้งใหม่ ที่เป็นไฟต์บังคับของทาง “DTAC” ที่ทำท่าจะมีคลื่นไม่พอให้บริการลูกค้า
ที่น่าสนใจก็ก่อนที่กฤษฎีกาฯ จะมีความเห็นมายัง กสทช. ก็ได้มีการเร่งประชุมบอร์ดเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขการประมูลเพื่อออกใบอนุญาตคลื่น 1800 MHz จากเดิมที่แบ่งเป็น 3 ใบอนุญาตใบละ 15MHz ปรับเปลี่ยนเป็น 9 ใบเล็กใบละ 5MHz
เหมือนพยายามวางกติกาไว้ล่วงหน้า แม้สุดท้ายอาจจะไม่มีอำนาจจัดประมูลก็ตาม ด้วยเกรงว่าหาก กสทช.ชุดใหม่เข้าประจำการ การประมูลอาจไม่ได้ตรง“กติกา”ที่ตัวเองวางเกมไว้
เนื่องเพราะมี “ราคาสุดท้าย” ที่แพงเกินจริงจากผลการประมูลคลื่น 900 และ 1800 MHz เมื่อปี 2558 เป็น “ตัวตั้ง” โดยเฉพาะคลื่น 1800MHz ที่หากใช้ “ตั๋วใหญ่ 15MHz” ก็จะส่งผลให้ราคาสตาร์ทที่ 37,457 ล้านบาท พอซอยเป็น “ตั๋วเล็ก 5MHz” ราคาเริ่มต้นก็จะถูกลงมา 3 เท่าตัว เหลือเพียง 12,485 ล้านบาทต่อใบอนุญาต
ส่วนคลื่นความถี่ 900MHz จะมีการนำออกมาประมูลแค่ 5MHz อยู่แล้ว โดยมีราคาขั้นต่ำที่ 37,988 ล้านบาท
การลดมูลค่าให้ดูน้อยลงนั้น แง่หนึ่งก็เพื่อจูงใจ “ผู้ประกอบการเดิม” ที่เผื่อจะติดไม้ติดมือบางสล็อตออกมาใช้ประโยชน์เพิ่มเติมบ้าง หรืออาจะถูกตะล่อมให้เข้ามาร่วมประมูล เพื่อเคาะราคาให้สูงบีบคนจนตรอกอย่าง “DTAC” ที่รอบนี้ต้องการคลื่นอย่างน้อยๆ 10MHz แต่ข่าวก็ว่าอาจจะแค่ “ประคองตัว” เหมือนการประมูลครั้งก่อนๆ หากเจอเล่ห์เหลี่ยมปั่นราคา ก็อาจเป็นการเร่งให้ “ทุนยุโรป” ทิ้งฐานเมืองไทยอย่างที่ตั้งใจไว้เร็วขึ้น
ที่น่ากลัวคือ การซอยคลื่นให้เล็กลงนั้น ยังเป็นการเปิดทางให้ “ผู้ประกอบการใหม่” เข้ามาร่วมวงประมูลด้วย ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็ “JAS เจ้าเก่า” ที่เคยสร้างตราบาปให้กับกิจการโทรคมนาคมงวดก่อน
น่าเหลือเชื่อว่า การทิ้งใบอนุญาตมูลค่า 75,654 ล้านบาท ของ JAS ครั้งนั้น กลับถูกริบเงินประกัน 644 ล้านบาท และถูกปรับจิ๊บจ๊อยอีกแค่ 199 ล้านบาท ทั้งที่การกระทำ เข้าข่ายความผิดตาม มาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ “พ.ร.บ.ฮั้ว” พ.ศ. 2542 ที่กำหนดว่า ต้องปรับ 50% ของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคา
อีกทั้ง “เงินประกัน -ค่าปรับ”ที่ กสทช.ได้เทียบไม่ได้กับผลประโยชน์กอบโกยไปได้จากจังหวะขึ้น-ลงของหุ้น “JAS” ในช่วงนั้นเลย
ผลประโยชน์ดังกล่าวจะถือได้หรือไม่ว่าเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฏหมายสำหรับตนเองหรือ “ผู้อยู่เบื้องหลัง” โดยการเสนอราคาสูงกว่าความเป็นจริงเพื่อกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ซึ่งเข้าองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 8 หรือไม่
สูทขั้นเทพของกรรมการ กสทช.
และหากผิด พ.ร.บ.ฮั้ว แล้ว การจะอ้างเอา “ประกาศ กสทช.” ที่มีศักดิ์ทางกฎหมายต่ำกว่ามาแก้ตัวให้พ้นผิดโดยไม่มีการดำเนินคดีอาญา จะเข้าข่ายเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงหรือไม่เช่นกัน
ไม่เท่านั้น สัญญาต่างๆ ระหว่าง JAS กับ กสทช. ก็ดำเนินการกันต่อ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีการถูกดำเนินการใดๆที่ใกล้เคียงกับการขึ้น “แบล็กลิสต์” ที่เคยมี “ขาใหญ่ กสทช.”ขู่ไว้เลย
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า “บิ๊กซอยสายลม” รู้เห็นเป็นใจให้ JAS รีเทิร์นอีกครั้ง ด้วยเมื่อ 2 ปีก่อนไปมีเอี่ยวกับจังหวะ “น้ำขึ้น-น้ำลง” ของหุ้น JAS จนเข้าพกเข้าห่อไปหลายอยู่
อันนี้คือเกมที่วางไว้ให้ JAS กลับคืนสังเวียนที่ตัวเองเป็นตัวการในการสร้างความยุ่งเหยิงไว้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
อีกทั้งยังคาบเกี่ยวไปถึงการคัดเลือก ว่าที่ กสทช.ชุดใหม่ ที่จะมาครอง “อาณาจักรซอยสายลม” กำกับผลประโยชน์มหาศาล ซึ่งยังเป็นการสัประยุทธ์ระหว่าง “ทีมน้อย - ทีมน้ำ” ที่ “แม่ข่าย” ทั้ง 2 ทีม ต่างเป็น “ขาใหญ่” ใน กสทช.ปัจจุบันทั้งคู่
ข่าวล่าปรากฎว่า ฟอร์มล่าสุด “ทีมน้ำ” ที่นำโดย พล.อ.มังกร โกสินทรเสนีย์ อดีตเจ้ากรมทหารสื่อสาร พร้อมด้วย “พ.อ.กฤษฎา เทอดพงษ์-อธิคม ฤกษบุตร-พ.อ.อนุรัตน์ อินกัน” กำลังแพคกันแน่นเป็น 4 ว่าที่ กสทช.ที่ว่ากันว่าได้ไฟเขียวจาก “ตึกไทยฯ” เรียบร้อยแล้ว
ทำให้ “ทีมน้ำ” ดูจะมีภาษีเหนือกว่า “ทีมน้อย” พอสมควร จนทำให้ฝ่ายหลังกำลังวิ่งวุ่น ทั้งการปล่อยจดหมายสนเท่ห์ไปถึงกรรมาธิการพิจารณาคุณสมบัติ ที่ซัด 14 แคนดิเดต กสทช.แบบไม่เหลือดี ตลอดจนการล็อบบี้ “บิ๊กค่ายมือถือ” หวังให้ยื่นมือเข้ามาช่วยพลิกเกม โดยมีคำสั่งมาตรา 44 ที่ค้างคาอยู่เป็นตัวประกัน
“กูรูซอยสายลม” พิเคราะห์กันว่า “ทีมน้อย” พลิกเกมไม่ไหว อาจมีการใช้อภินิหารคว่ำกระดานสรรหา กสทช. เหมือนเมื่อครั้งที่ล้มกระดานสรรหา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เลยก็เป็นได้
หากการล้มคว่ำกระดานสรรหา กสทช.สำเร็จ นอกจากทำให้ต้องเริ่มต้นสรรหากันใหม่แล้ว ยังจะเป็นการต่ออายุให้กับ “กสทช.รักษาการ” ไปอีกระยะหนึ่ง อย่างน้อยๆก็อยู่คุมการประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ ที่ปักหมุดกันว่าต้องแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2561 ได้สำเร็จ หรืออย่างน้อยๆก็จะผลักดันร่างประกาศหลักเกณฑ์ประมูลลงในราชกิจจานุเบกษา ล็อคกติกาที่ตัวเองเอาไว้ให้เรียบร้อยเสียก่อน
ทั้งหมดคือความชุลมุนที่เกิดขึ้นใน กสทช. ณ เวลานี้ ก็ด้วยการทำงานที่ไม่เอาอ่าว อีกทั้งยังใช้ “ประโยชน์ตัวเอง” เป็นตัวตั้ง ส่งผลให้ทั้งอุตสาหกรรม “โทรทัศน์-โทรคมนาคม” ต้องประสบความฉิบหาย เจ๊งทุกระบบ พังทุกเน็ตเวิร์ก จนต้องมาวนเวียนอยู่กับการเยียวยา-ไถ่บาป ไม่เลิกไม่ราแบบนี้
ครั้งหนึ่ง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยังเคยชงให้ “นายกฯ ตู่” ที่ตอนนั้นเป็นหัวหน้า คสช.ขาเดียว ยุบทิ้ง “กสทช.” ซะให้สิ้นเรื่อง
ด้วยปัญหาในเรื่องการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินไม่ได้ประสิทธิภาพ มีข่าวฉาวโฉ่ ทั้งเรื่องการใช้งบประมาณกันอย่างล้างผลาญ ทั้งการเพิ่มเงินเดือน เพิ่มเบี้ยประชุม หรือการตั้งงบตัดโคตรสูทตัวละ 30,000 บาท ตลอดจนงบฯทัวร์นอก ที่คณะกรรมการกสทช.แต่ละคนใช้กันปีละหลายร้อยล้านบาท
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า การเสนอให้ คสช. โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้ ม.44 ในการเยียวยาผู้ประกอบการนั้น คือการ “ช่วยผ่าทางตัน” ให้ทุกอย่างเดินต่อไปข้างหน้าได้ เพียงแต่ต้องตั้งคณะกรรมการเอาผิด กสทช. หรือเล่นงานทางคดีความให้ผู้ที่เกี่ยวข้องชดใช้ความรับผิดทางแพ่ง เหมือนอย่าง “คดีจำนำข้าว” ของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ฐานออกนโยบายผิดพลาดในการกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดทั้งทีวีดิจิทัลและคลื่นโทรศัพท์มือถือ จนทำให้ เจ๊งทุกระบบ พังทุกเนตเวิร์ก
ไม่ใช่ กสทช.ทำผิดพลาด โดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย แล้วยังมีหน้าอยู่เล่นเกมอำนาจใน กสทช. ต่อไป