บอร์ด กสทช. รักษาการ เดินหน้าเต็มที่ในการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz วันที่ 4 ส.ค. วันการสื่อสารไทย จำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz จำกัดเพดานการถือครองคลื่นที่ 40% ของขนาดคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล กำหนดราคาเริ่มต้นของการประมูลไว้ที่ 37,457 ล้านบาท โดยใช้สูตร N-1 ส่วนคลื่น 900 MHz ชะลอไปก่อนจนกว่าจะมีผลการศึกษาว่า คลื่นจะไม่รบกวนระบบคมนาคม ขนส่งทางราง ที่กระทรวงคมนาคมขอคลื่นไปใช้กับรถไฟความเร็วสูง
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุมกสทช.มีมติให้ดำเนินการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz ในวันที่ 4 ส.ค. 2561 นี้ เพื่อให้ได้ผู้รับใบอนุญาตก่อนสัญญาสัมปทานระหว่างบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะหมดลงในวันที่ 15 ก.ย. 2561 ซึ่งหลังจากที่ประชุม กสทช. เห็นชอบร่างประกาศฯ ในขณะนี้แล้ว สำนักงาน กสทช. จะนำประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาภายในวันที่ 4 พ.ค. 2561 จากนั้นจะมีการประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูล และเผยแพร่เอกสารชี้ชวนการลงทุน (IM) รวมทั้งมีการชี้แจงต่อสาธารณะ ระหว่างวันที่ 15 พ.ค.-14 มิ.ย. 2561
ทั้งนี้ กำหนดเวลาการยื่นคำขอรับใบอนุญาตในวันที่ 15 มิ.ย. 2561 จากนั้น จะเป็นขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติขั้นแรก ระหว่างวันที่ 16 มิ.ย.-31 ก.ค. 2561 หลังจากนั้น จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมประมูลภายในวันที่ 2 ก.ค. 2561 หลังจากนั้น จะเป็นขั้นตอนการเตรียมความพร้อมผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งจะใช้เวลา 3 วัน ส่วนในระหว่างวันที่ 1-3 ส.ค. 2561 จะทำการจัด ชี้แจงการประมูล (Information Session) และการทดสอบการประมูล (Mock Auction) สำหรับผู้เข้าร่วมการประมูล และกำหนดจัดการประมูลในวันที่ 4 ส.ค. 2561 หากประมูลช้ากว่านี้จะก่อให้เกิดความเสียหาย และกรณีที่จัดให้มีการประมูลแล้ว ไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูล สำนักงาน กสทช. จะออกหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ภายใน 1 เดือน เพื่อนำคลื่นความถี่มาประมูลอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูลทั้งหมด มีจำนวน 45 MHZ โดยเห็นควรกำหนดขนาดคลื่นความถี่ที่จะประมูลออกเป็น 3 ชุด ชุดละ 15 MHz ต่อ 1 ใบอนุญาต มีการจำกัดเพดานการถือครองคลื่นที่ 40% ของขนาดคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล โดยกำหนดราคาเริ่มต้นของการประมูลไว้ที่ 37,457 ล้านบาท และกำหนดหลักประกันการประมูล เท่ากับ 1,873 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในครั้งก่อน โดยใช้สูตร N-1 คือ ถ้ามีผู้เข้าร่วมการประมูล 4 ราย จะประมูล 3 ใบอนุญาต มีผู้เข้าร่วมการประมูล 3 ราย จะประมูล 2 ใบอนุญาต ระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี ราคาที่เพิ่มต่อการเคาะในแต่ละครั้ง 75 ล้านบาท
กรณีที่จะมีการทิ้งการประมูล ร่างประกาศฉบับนี้ได้ปรับให้มีความเข้มขึ้น โดยหากมีการทิ้งใบอนุญาตสำนักงาน กสทช. จะยึดหลักประกันการประมูล 1,873 ล้านบาท และการคิดค่าปรับอีก 5,619 ล้านบาท เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 7,492 ล้านบาท อีกทั้งยังตัดสิทธิ JAS ไม่ให้เข้าร่วมการประมูล
“เราขอเดินตามหลักเกณฑ์เดิม ดีกว่า เพราะจะได้ไม่ถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้ใคร หากไม่มีใครเข้ามาประมูล แล้วค่อยว่ากันว่าจะแก้ไขเกณฑ์อย่างไร ดังนั้น ราคาเริ่มต้นการประมูลก็เป็นราคาที่ตนเองมองว่า ผลการศึกษาออกมา 16,000 ล้านบาทก็จริง แต่เรายึดราคาประมูลครั้งที่แล้ว ซึ่งไม่มีเหตุการณ์การทิ้งใบอนุญาต จึงคิดว่าราคานี้มีความเหมาะสมมากที่สุดแล้ว ส่วนการใช้ N-1 นั้น การประมูลคลื่นต้องมีการเคาะราคาถ้าแบ่งเท่า ๆ กัน ไม่เรียกว่าการประมูล จึงคิดว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่โปร่งใส ตรวจสอบได้”
นายฐากร กล่าวว่า ส่วนคลื่น 900 MHz มติที่ประชุม กสทช. ขอให้ชะลอไว้ก่อนจนกว่าผลการทดลองภาคสนาม (Field Trial) สำหรับการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ต่อระบบคมนาคม ขนส่งทางราง ย่านความถี่ 900 MHz และการพิจารณาความเหมาะสมกรณีกระทรวงคมนาคมขอทบทวน การกำหนดคลื่นความถี่สำหรับระบบคมนาคมขนส่งทางรางจะแล้วเสร็จ ประกอบกับกระทรวงคมนาคมทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ขอใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เข้ามาเพิ่มเติมรวมเป็น 10 MHz พร้อมกันนี้ได้มีมติให้สำนักงาน กสทช. เสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ทราบต่อไป