เปิดวิชัน 'มรกต เธียรมนตรี' รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที และว่าที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วมบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ลั่นทีโอทียุคใหม่ เปลี่ยน 'คู่แข่งเป็นคู่ค้า' มุ่งทำสิ่งที่ถนัด อาสาเป็นคนกลางสร้างโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกรายใช้ร่วมกัน แก้ปัญหาการลงทุนซ้ำซ้อน โดยเฉพาะท่อร้อยสายใต้ดินที่มติบอร์ดดีอีย้ำชัดให้ดำเนินการได้ เดินหน้ากระชับโครงสร้างองค์กร รองรับการควบรวมเป็น NT พร้อมเปิดธุรกิจอนาคตดาวเทียมวงโคจรต่ำ และเร่งพัฒนาบริการ Fixed Wireless Broadband 5G
'ตอนนี้มุมมองของทีโอทีเปลี่ยนไป เราไม่สู้เอกชนแล้วเพราะรู้ว่าสู้ไม่ได้ ด้วยความเป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องมีกระบวนการทำงานหรือการตัดสินใจล่าช้ากว่าเอกชน เราจึงต้องเน้นเฉพาะงานที่เราถนัด อย่างงานโครงสร้างพื้นฐานเรามั่นใจว่าทำได้ ช่วยเอกชนลดต้นทุนการลงทุนซ้ำซ้อน ที่สำคัญคือเราเป็นรัฐ การทำงานย่อมโปร่งใส ตรวจสอบได้ เราเป็นกลางไม่ได้เป็นคู่แข่งใคร ตอนนี้ทีโอทีกลายเป็นทุเรียนไม่มีหนาม แต่อร่อย เราต้องเปลี่ยนคู่แข่งให้เป็นคู่ค้า ยุคสมัยเปลี่ยน นิว นอร์มอลเกิด ทำให้ทุกองค์กรต้องปรับตัว ทีโอทีก็เช่นเดียวกัน' มรกต เธียรมนตรี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าว
เขาย้ำว่าสิ่งสำคัญของการบริหารงานในยุคนิว นอร์มอล คือ การยอมรับความจริง ตอนนี้ทีโอทีประเมินแล้วว่าหลังโควิด-19 จะเกิดอะไรขึ้น หลายคนมองว่าโควิด-19 มา ธุรกิจโทรคมนาคมไม่กระทบ ที่จริงไม่ใช่เพราะลูกค้าทีโอทีกระทบ เขามีการลดขนาดองค์กร มีการประหยัด และลดต้นทุน ซึ่งครึ่งปีแรกอาจจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อทีโอที
แต่ครึ่งปีหลังจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น ทีโอที ต้องประเมินบนพื้นฐานความเป็นจริง ธุรกิจไหนที่วิเคราะห์แล้วไม่สร้างรายได้ แข่งกับเอกชนไม่ได้ ทีโอทีต้องไม่ทำและหันมาโฟกัสในจุดที่ตนเองถนัด ทีโอทีต้องหันมาเน้นสร้างรายได้ในสิ่งที่ตนเองถนัดเพื่อสร้างเสถียรภาพให้องค์กร อย่างเช่นโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม
***ประกาศชัยท่อร้อยสายใต้ดิน
สำหรับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมจะเป็นโครงสร้างกลางเพื่อให้ผู้ประกอบการต่างๆ ใช้งานร่วมกันที่เห็นชัด ก็คือโครงการท่อร้อยสาย ที่ตอนนี้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) มีมติให้ทีโอที บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ทำโครงการท่อร้อยสายให้เกิดขึ้นระดับประเทศ จากข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งรายงานเสนอความเห็นต่อบอร์ดดีอีทำให้เจ้าของพื้นที่ต้องอนุญาตการให้สิทธิแห่งทางแก่ทีโอทีในการดำเนินโครงการดังกล่าวด้วย เมื่อรัฐบาลมีนโยบายในการนำสายสื่อสารลงใต้ดินเอกชนก็ไม่ต้องต่างคนต่างลงทุน
ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้นำเสนอกรณีศึกษาโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อป้องกันการทุจริต โดยระบุว่ากรุงเทพมหานครมอบหมายให้กรุงเทพธนาคมคิดราคาค่าเช่าแต่ไม่สามารถลดค่าเช่าได้ และต้องการให้สำนักงาน กสทช.ใช้เงินจากกองทุนวิจัยพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือกองทุน USO โดยต้องนำเข้าบอร์ดดีอี แสดงให้เห็นว่ากรุงเทพธนาคมไม่มีความสามารถในการบริหารต้นทุนการก่อสร้าง ขณะที่ทีโอทีสามารถลดราคาได้ ดังนั้น กสทช.ควรมอบหมายภารกิจนำสายสื่อสารลงดินกลับคืนให้รัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่โดยตรงดำเนินการเพื่อให้โครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์และเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
โดยที่ ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะ 3 ข้อคือ 1.ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงาน กสทช. ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม เป็นผู้ร่วมดำนินการในการนำสายสื่อสารลงใต้ดินทั้งในส่วนของการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การก่อสร้างและการบริหารจัดการท่อร้อยสายสื่อสารให้เป็นแนวทางเดียวกันทั้งประเทศเพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมทุกรายอย่างเท่าเทียมกันโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ เสถียรภาพของโครงข่ายสื่อสาร ความมั่นคงของประเทศและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทั้งนี้ ให้หน่วยงานเจ้าของพื้นที่มีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการดำเนินการ
2.ให้กรุงเทพธนาคม เป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เพื่อให้สามารถตรวจสอบการดำเนินงานได้ กรณีข้างต้นให้รวมถึงบริษัทหรือนิติบุคคลที่จัดตั้งโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือหุ้นเกิน 50%
3.พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องของขั้นตอนการขออนุญาตดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 โดย กสทช.กับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ควรพิจารณาร่วมกันพื่อให้อนุญาตการใช้สิทธิแห่งทางและอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในการก่อสร้าง ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาและความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐอันเกิดจากการที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตใช้สิทธิแห่งทางแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่ก่อสร้างจึงไม่สามารถดำเนินการได้แม้ว่ามีการลงนามในสัญญาว่าจ้างก่อสร้างแล้วก็ตาม
อีกโครงการที่สำคัญก็คือการใช้โครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี 5G ร่วมกัน โครงการนี้เห็นได้ชัดว่ามีการลงทุนสูง หากผู้ให้บริการแต่ละรายต่างลงทุนกันเองจะทำให้ต้นทุนสูง ตรงนี้ทีโอทีพร้อมเปิดรับพันธมิตร เมื่อทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ควบรวมกันเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ก็จะยิ่งมีความแข็งแกร่งเพราะมีทั้งคลื่นความถี่และโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมจำนวนมาก
***สิ้นปีกำไร-ขาดทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท
มรกต กล่าวว่า เมื่อทีโอทีทำธุรกิจบนโลกความเป็นจริงและประเมินได้ว่ารายได้ที่หายไปในช่วงครึ่งปีหลังคืออะไร และจะทำอย่างไรไม่ให้ขาดทุนไปมากกว่านี้ จากเดิมที่เคยประเมินกำไรสิ้นปีที่ 1,000 ล้านบาท ก่อนที่โควิด-19 จะเกิด ซึ่งผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2563 ทีโอทีมีรายได้จากการดำเนินงาน 10,159 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา 1,500 ล้านบาท แต่รายได้จากพันธมิตร 16,101 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา 1,500 ล้านบาท
'เมื่อเกิดโควิด-19 จึงได้ปรับประมาณการกำไรลง เพื่อให้อยู่ในตัวเลขที่ไม่มากเกินไป ทำให้คาดว่าอาจจะขาดทุนหรือกำไรในระดับไม่เกิน 100 ล้านบาท'
ทางแก้ปัญหาจึงต้องหาทางสร้างรายได้ใหม่ที่คาดว่าจะทำได้ ควบคู่กับการลดต้นทุนด้วยการลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่จำเป็นน้อยที่สุด 15% และพยายามลดหรือหาข้อยุติคดีและข้อพิพาทกับเอกชนด้วยการจับมือกับคู่แข่งให้กลายเป็นพันธมิตรธุรกิจและอาสาเป็นตัวกลางในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานกลางเพื่อให้มีการใช้งานร่วมกันลดการลงทุนซ้ำซ้อน
ทั้งนี้ ทีโอทีมีนโยบายและเป้าหมายการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ที่ต้องเร่งดำเนินการ 3 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นแรก การสร้างรายได้ด้วยการนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งทางด้านบริการไม่ว่าจะเป็น TOT Fixed Line, TOT Mobile, TOT Fiber 2U และการเพิ่มรายได้จากท่อร้อยสาย โดยเร่งรัดให้ผู้ประกอบการนำสายเคเบิลลงดินตามนโยบายรัฐ ซึ่งทีโอทีมีเป้าหมายที่จะนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดินจำนวน 12 เส้นทางในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.2563
ประเด็นที่ 2 คือ การพัฒนาองค์กร ในการควบรวมกิจการ ทีโอที กับ กสทโทรคมนาคม เป็น NT ซึ่งต้องผลักดันให้สามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท NT ให้ได้ภายในเดือน ม.ค.2564 ตามมติคณะรัฐมนตรี ด้วยการสร้างความสามัคคีปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความเสมอภาคและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบโดยไม่ให้กระทบต่อสิทธิประโยชน์ของพนักงานและคงสิทธิประโยชน์ขององค์กรตามกฎหมายให้มากที่สุด
ประเด็นที่ 3 ที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การพัฒนาบริการ เช่น การให้บริการ 5G โดยเริ่มให้บริการ Fixed Wireless Broadband ในพื้นที่ทดสอบ เช่น อาคารสูงในพื้นที่ห่างไกลที่มีต้นทุนการวางสายสูง และการพัฒนาบริการดิจิทัลด้วยการเพิ่มความสามารถและการลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) เพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยี 5G ทำงานเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และด้วยศักยภาพของทีโอทีที่มีความพร้อมในการก้าวเป็นผู้นำเทคโนโลยีอวกาศ จึงได้เตรียมพร้อมในการพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอากาศและการเจรจากับพันธมิตรธุรกิจระบบดาวเทียม เพื่อร่วมมือกันพัฒนาเครือข่ายระบบดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่คนไทยทั้งประเทศในการปรับตัวให้ก้าวทันเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสอดคล้องต่อนิว นอร์มอล
***ปรับโครงสร้างกระชับรับ NT
อีกเรื่องที่สำคัญคือ การปรับโครงสร้างองค์กร ปัจจุบันทีโอทีมีตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ 14 คน ขณะที่ กสท โทรคมนาคมมี 9 คน ดังนั้น หากต้องการให้การควบรวมกิจการมีประสิทธิภาพ ทีโอที ต้องปรับโครงสร้างองค์กรให้มีขนาดที่เหมาะสมกับ กสท โทรคมนาคม และต้องประกาศใช้โครงสร้างใหม่ทันทีก่อน 1 ต.ค.2563 เพื่อไม่จำเป็นมีการแต่งตั้งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่มาแทนคนที่จะเกษียณในวันที่ 30 ก.ย.2563
ที่ผ่านมา ทีโอที มีการปรับโครงสร้างองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับกับปริมาณงานที่เกิดขึ้น เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทีโอทีมีพนักงาน 24,000 คน มี 39 ฝ่าย แต่ปัจจุบันมีพนักงาน 12,000 คน กลับมี 83 ฝ่าย เพราะทีโอทีคาดว่าจะขยายกิจการและแข่งขันในตลาดทุกด้านทำให้มีรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ถึง 14 คน
แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ทีโอทีต้องประเมินใหม่ ธุรกิจใดที่เป็นธุรกิจหลักที่ทีโอทีมีความได้เปรียบ เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมต้องยังมีอยู่ ขณะที่บางธุรกิจหากรวมกันได้ต้องรวมกัน ส่วนการลดจำนวนฝ่ายนั้นไม่สามารถลดได้มากเพราะคนทำงานหลักคือฝ่าย อาจจะสร้างความไม่พอใจหรือผลกระทบต่อพนักงานได้ แต่คาดว่าจะลดลงเหลือประมาณ 60 ฝ่าย เช่นเดียวกับตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่มีอยู่ 27 คนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการทำงาน
'แนวคิดการปรับโครงสร้างตอนนี้นับว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมเพราะตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ว่างลงจากการเกษียณในปีที่แล้ว 2 คน และกำลังจะเกษียณเพิ่มเติมอีก 4 คนในวันที่ 30 ก.ย.นี้ดังนั้น จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างให้เสร็จก่อนและประกาศใช้โครงสร้างใหม่วันที่ 1 ต.ค.2563 เพื่อจะได้ไม่ต้องสรรหาตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการที่ว่างลงแทนคนที่เกษียณเข้ามาอีก เบื้องต้นตนเองได้หารือกับรองกรรมการผู้จัดการที่เหลืออยู่บ้างแล้วทุกคนต่างเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน'