ศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร หรือ STECO มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดย ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ หัวหน้าศูนย์ STECO ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในกิจกรรม STECO Online Forum ครั้งที่ 9 เกี่ยวกับการบริหารองค์กรในสภาวะวิกฤติ
คุณชาญศิลป์ ได้พูดถึงปัจจัยสำคัญต่อการบริหารองค์กรในสภาวะวิกฤติว่าผู้บริหารต้องมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน คอยช่วยเหลือทุกคนทุกฝ่ายในองค์กร วิเคราะห์ว่าอะไรคือความเสี่ยงที่จะกระทบกับเราอย่างแท้จริง ใช้ความเป็นผู้นำในตัวของทุกคนออกมาช่วยกันคิดวิเคราะห์แยกแยะเพื่อให้ผ่านวิกฤตไปได้ อย่าใช้อารมณ์หรือตระหนกหวาดกลัวมากเกินไป โดยเฉพาะการสื่อสารในสภาวะกฤตินั้นสำคัญ ต้องรวดเร็วและตรงประเด็นเพื่อที่จะแก้ปัญหาได้ทันท่วงที เช่น ในไตรมาสที่ 1 ปตท. ประสบกับภาวะขาดทุน เพราะน้ำมันราคาตก ความต้องการในตลาดลดลง ทุกคนไม่ว่ากรรมการ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า หรือแม้กระทั่งคู่ค้าต่างๆ ต่างก็เจ็บตัวกันไปหมดแต่ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจได้ เนื่องจากเกิดการสื่อสารที่รวดเร็วและตรงประเด็น
ในสภาวะวิกฤติภาวะผู้นำสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการบริหารองค์กร ผู้บริหารต้องเตรียมความพร้อมองค์กรเพราะโควิด-19 คงไม่ใช่วิกฤติสุดท้าย ผู้บริหารต้องเห็นชอบร่วมกันมีความรับผิดชอบร่วมกัน ต้องลงไปสัมผัสกับบุคลากรที่ทำงานสำคัญจริงๆ แบ่งหน้าที่กันให้ชัดเจนว่าใครต้องทำอะไรยังไง มีการเปิด War Room ว่าเราจะทำอย่างไรกับพนักงานที่ทำงานในต่างประเทศ จะให้กำลังใจเขาอย่างไร มีการประชุมผ่าน VDO Conference คุยกับเขาเพื่อให้เขาอบอุ่นใจ ให้เขายิ้มหัวเราะบ้าง เพราะเราคือผู้นำ เราต้องดูแลพนักงานทั้งงาน กาย และใจให้ดีที่สุด ผมเดินสายให้กำลังใจพนักงาน ปตท. จนทำให้ได้เห็นว่านวัตกรรมที่พนักงานคิดขึ้นมาว่าเขาจะสามารถเชื่อมโยงการควบคุมกระบวนการขั้นสูงส่งไปยังหน้าจอโทรศัพท์ด้านนอกได้โดยไม่ต้องเข้ามาในห้อง หากเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติในห้องนั้น เราก็ยังสามารถทำงานได้ อย่างที่ว่ากันว่า ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ
ตอนวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปตท.ก็ผ่านมาได้ และยังได้เพิ่มระบบขึ้นมาอีก 3-4 ระบบ อาทิ ระบบที่ 1 คือ การดูแลความแข็งแกร่งสัดส่วนทางการเงิน หนี้สิน ทุน ความสามารถกำไร และพยายามพิจารณาการลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสม ระบบที่ 2 คือ เราดูว่าจะลงทุนอะไร ต้องรอบคอบและมีผลตอบแทนดี ไม่มีความเสี่ยงมากนัก ระบบที่ 3 คือ ความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาในการทำธุรกิจ ดูความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งการที่เราทำระบบในตอนนั้นสามารถใช้ได้มาจนถึงตอนนี้ พอมาเจอสถานการณ์โควิด-19 หลายบริษัทล้มต้องฟื้นฟู แต่ปตท.ยังอยู่ได้เพราะเราปรับตัว และเราจะเป็นแบบนี้ต่อไป ระบบที่ 4 คือ เรื่องธรรมาภิบาล เป็นเรื่องกฎหมายเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ยั่งยืน ต้องรู้จักพอประมาณ ประมาณตน พอเพียง ต้องให้ความรู้คู่คุณธรรม
การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในสภาวะวิกฤติ ผู้บริหารต้องทำให้ทุกคนตระหนักว่าอะไรที่ต้องทำด่วน และภัยที่จะเกิดขึ้นจะหนักขนาดไหน แต่อย่างโควิด-19 ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะหนักขนาดนี้ เป็นเรื่องยากที่ต้องปรับตัวระดับหนึ่งแต่อย่าหมดกำลังใจ ต้องเดินและต้องสู้ ถ้าเรามีกำลังใจเราจะผ่านมันไปได้ แต่ตัวเราเองก็ต้องดูแลตัวเองให้ดีด้วยไม่เอาตัวเองไปอยู่ในจุดเสี่ยง มนุษย์มีข้อดีอยู่อย่างนึง คือ ถ้าต้องเอาตัวรอดเมื่อไหร่ มนุษย์สามารถเอาตัวรอดได้เสมอ แต่ก่อนไม่มีโรคเอดส์พอมีทุกคนก็ป้องกันเวลามีเพศสัมพันธ์ เช่นเดียวกับตอนนี้ขึ้นรถเมล์ก็ใส่หน้ากากอนามัย อีกอย่างต้องประหยัด ตามหลักชีวิตจริงเราต้องการแค่ปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร อากาศ เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย แค่นี้เราก็อยู่ได้ เวลาเกิดวิกฤติผมคิดอยู่เสมอว่าอะไร คือ เรื่องที่เลวร้ายที่สุด เรื่องที่เลวร้ายที่สุดของมนุษย์ คือ ตาย อะไรที่ดีกว่าตายก็ต้องทำสิ่งนั้นก่อน
เราต้องทำความเข้าใจกับพนักงานในองค์กรก่อนว่า องค์กร คือ บ้าน คือ ที่หารายได้ ได้อยู่กับเพื่อน เป็นที่ๆ มีความสนุกตื่นเต้น มีความผิดหวังและสมหวัง ทุกคนต้องมี Sense of ownership มองว่าองค์กรเป็นของตัวเอง หากมีอุปสรรคที่อาจจะมาจากภายในหรือภายนอกจะแก้ไขอย่างไร เมื่อทราบแล้วจะมีทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงอยู่ 7 ประการ 1.ทำไมต้องเปลี่ยนเดี๋ยวนี้ตอนนี้ 2.ใครที่จะเป็นคนลงมือในการเปลี่ยนแปลง 3.มีแผนอย่างไรในการเปลี่ยนแปลง จากนั้นเราต้องสื่อสารคนที่จะต้องร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงและลงมือทำ ประเมินผล พอพนักงานรู้สึกที่ดี เขาก็จะภูมิใจในงาน มีผลงาน นี่คือวิธีการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หลายองค์กรที่เป็น State owned อาจตีความได้ว่า Nobody owned หรือ Nobody care มันไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ถ้าเราคิดอีกแบบ คือ State คือ ประเทศไทย เราก็เป็นเจ้าของเช่นกัน เราก็ต้องทำให้บริษัท หรืออะไรที่เป็นของเรามันดี อะไรที่จะมากอบโกยกินทุจริตเราก็ต้องไม่ยอม ไม่ว่าคุณจะอายุ 50 ปี 60 ปี ถ้าไม่ปรับตัวคุณก็ต้องสลายหายไป ถ้าเรายังรักองค์กรอยู่ต้องร่วมมือกัน อย่าสละองค์กรในกรณีที่ไม่ควรสละ ผมอยู่กับ ปตท.มา 38 ปี ผมเห็นว่าองค์กรมีบุญคุณกับผม ในอดีตไม่มีบริษัทไหนองค์กรไหนรับผมเข้าทำงานเลย และผมมีโอกาสมีเงินในวันนี้ได้ก็เพราะ ปตท.
Mindset ของผู้นำในสภาวะวิกฤติ การเป็นผู้นำต้องแข็งแรงทั้งกายและใจ เพราะถ้าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ยังสับสนและอ่อนแอ จะไปช่วยเหลือองค์กรได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ เราต้องเป็นคนดีขององค์กร การที่จะอยู่กับคนหมู่มากเป็นหมื่นๆ คนในองค์กร การมีวัฒนธรรมในองค์กรนั้นสำคัญ นั่นจะเป็นการสร้าง Mindset เช่น คนในปตท. คือ SPIRIT+D 3 ตัวแรก SPI นี้ คือ ความเก่ง S คือ Synergy ร่วมมือทำงานกับคนอื่นได้ดี ถือว่าทำงานได้ดี P คือ Performance excellence ทำอะไรก็ตามต้องทำให้ได้มาตรฐาน คุณภาพดี ราคาไม่แพง ลูกค้าพอใจ I คือ Innovation ไม่ใช่ว่าทำมา 20 ปี ทำแบบเดิมคงจะไม่ได้ เรื่องที่ 2 RIT คือ ความดี R คือ Responsibility ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม ไม่ทำลายสังคมชุมชน I คือ Integrity ซื่อสัตย์ สุจริต ตรงเวลา ทำเต็มที่มาถึงสิ่งที่สำคัญที่สุด ตัวท้ายสุดคือ Trust ความเชื่อถือเชื่อใจ ถ้าเรามีมากไม่ต้องมีเป็นตัวหนังสือเลย ถ้าเราเชื่อใจแล้วว่าคนนี้เขาเก่งเขาดี เราไม่ต้องตั้งคำถามอะไรมาก ผลงานสามารถทำให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตัวสุดท้ายผมเป็นคนบวกเข้าไปเอง นั่นคือตัว D Digitalization ทุกคนต้องใช้ดิจิทัลได้ Mindset จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำคุณเดินไปทางไหนลงมือทำอย่างไร
การสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในยามวิกฤตเราต้องกำหนดก่อนว่าหน่วยงานไหนเป็นหน่วยจริงจังสุด เรียกอีกอย่างได้ว่า Key critical persons เมื่อท่านกำหนดแล้วต้องมาดู Key ของมันคืออะไร และรักษามันให้ได้ ถ้าคุณทำอะไรเพื่อองค์กรอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและกระทบ ต้องให้กำลังใจกัน ต้องทำให้องค์กรมี Sense of urgency และ Sense of ownership เพื่อให้องค์กรสามารถทำงานได้ไปด้วยกลไกของมัน และมีความสามารถทางการแข่งขัน เราต้องไม่ประมาทและปรับตัวอยู่เสมอ
สุดท้ายคุณชาญศิลป์ได้ฝากข้อคิดไว้ว่าเราต้องมีความกตัญญูรู้คุณแผ่นดิน อย่าทะเลาะกันเลย นำความรู้ความสามารถที่มีช่วยสร้างสรรค์ประเทศ งาน สังคม พัฒนาอาชีพใหม่ๆ หมั่นทำประโยชน์ให้กับสังคม อย่าเอารัดเอาเปรียบแล้วชีวิตจะมีความสุข เมืองไทยมีทรัพยากรมากมาย อย่าทำให้ชีวิตมีกิเลส เพราะกิเลสเพียงนิดเดียวก็ทำให้ทรัพยากรไม่เพียงพอได้ แต่ถ้าหากคนมีความพอเพียง ทรัพยากรต่างๆ ก็จะเหลือเฟือ เงินทองของมายา ข้าวปลานี่เป็นของจริง พยายามซื้อขายในประเทศให้มากขึ้นให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศให้มากที่สุด ไทยทำไทยใช้ไทยกินไทยเจริญแน่นอนครับ
สำหรับกิจกรรม STECO Online Forum ครั้งที่ 10 หัวข้อ "Next Normal for Logistics service" โดย คุณไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์ กรรมการผู้จัดการ SCG Logistics ในวันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม 2563 เวลา 14.00 - 15.00 น. ผ่าน FB Live: STECOKMUTT ลงทะเบียนได้ที่ https://forms.gle/WAcZ7fNqmHoutJtW9 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 083-099-0328 คุณฉันทิสา หรือ โทร. 090-416-0789 คุณปภาดา