xs
xsm
sm
md
lg

วิถีใหม่ไทยแลนด์ (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กฤษฎา เสกตระกูล องผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
วิถีใหม่ไทยแลนด์ (ตอนที่ 2) : ประเทศไทยที่เปรียบเสมือน “ครัวของโลก” กับปัญหาและความท้าทายในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food security) ภายใต้ “วิถีใหม่ไทยแลนด์” นี้ เราจะหา New normal ในการทำกลยุทธ์ “ครัวของโลก” แบบใหม่ที่ต่างจากเดิมไปได้อย่างไร

ในตอนที่ 2 นี้จะกล่าวถึง Global issue ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ ความมั่นคงทางอาหาร (Food security) ซึ่งหลายประเทศในโลกกำลังเผชิญปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารอยู่ เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับวิถีใหม่ไทยแลนด์ เพราะที่ผ่านมาเราพยายามกล่าวอ้างอยู่เสมอว่า ไทยเปรียบเสมือนครัวของโลก ประเทศเรามีความอุดมสมบูรณ์พอที่จะผลิตอาหารเลี้ยงประชากรของเรา และยังเหลือพอที่จะส่งออกไปเลี้ยงชาวโลกด้วย การฟื้นฟูประเทศรอบนี้ควรหันมาปรับปรุงความสามารถในการผลิตอาหารของไทยอย่างจริงจัง บทความตอนนี้อยากฉายภาพให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมและสิ่งท้าทายต่างๆ ในเรื่องความมั่นคงทางอาหารของโลก เพื่อให้ประเทศไทยได้เตรียมพร้อมในเรื่องนี้

ข้อมูลใน Wikipedia ได้ให้นิยามไว้ว่า ความมั่นคงทางอาหาร คือ ระดับของการวัดเกี่ยวกับการมีปริมาณอาหารที่มีอย่างเพียงพอ (the availability of food) และความสามารถในการเข้าถึงอาหารของประชากร (Individuals’ ability to access it) สภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร สามารถเห็นได้จากภาวะข้าวยากหมากแพง (Famine) และส่งผลให้คนอดอยากหิวโหย และหลายๆ ครั้งในอดีตนำมาสู่สงครามและความไม่สงบในสังคมมนุษย์

จากการสำรวจขององค์การอาหารและเกษตร (FAO) ของสหประชาชาติ ประมาณการว่า ในช่วงปี ค.ศ.2010-2012 มีประชากรของโลกประมาณ 870 ล้านคนในทวีปต่างๆ กำลังเผชิญต่อสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารหรือคิดเป็นประมาณ 12.5% ของประชากรโลก หรือ 1 ใน 8 ของพลเมืองโลกกำลังอยู่ในสถานะขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา และเขตเอเชียใต้ยังต้องเร่งแก้ปัญหาอีกมาก ข้อมูลยังพบอีกว่า ในมิติสารอาหารที่มีวิตามินและเกลือแร่ที่เพียงพอ ในมิตินี้ประชากรโลกเกือบ 2 พันล้านคนก็ยังได้รับไม่เพียงพอ

1) การประเมินระดับความมั่นคงทางอาหาร

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดเสาหลักในการประเมินระดับความมั่นคงทางอาหาร (Pillars of food security) ไว้ 3 ประการ ได้แก่

การผลิตและสำรองอาหารให้มีเพียงพอ (Food availability)

ซึ่งเกี่ยวข้องกับด้านอุปทานของอาหารตั้งแต่การผลิต การกระจาย และการแลกเปลี่ยน ในเรื่องการผลิตเกี่ยวกับหลายปัจจัย เช่น การเป็นเจ้าของที่ดิน (Land ownership) การใช้และจัดการที่ดิน (Soil management) การจัดการเพาะปลูก (Crop selection) การขยายและบำรุงพันธุ์สัตว์ (Livestock breeding and management) และการเก็บเกี่ยว (Harvesting) เป็นต้น หลายปัจจัยเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนและภูมิอากาศด้วย ในด้านการกระจายอาหารก็เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษา (Storage) การแปรรูป (Processing) การขนส่ง (Transport) การจัดทำหีบห่อและการทำการตลาด (Packaging and marketing) การจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีบนห่วงโซ่คุณค่าด้านอาหารจะช่วยทำให้เกิดประสิทธิภาพทั้งปริมาณ คุณภาพของอาหาร รวมทั้งการจัดการขยะอาหาร (Food waste) ที่กำลังเป็นปัญหามากในขณะนี้

การเข้าถึงแหล่งอาหาร (Food access)

หมายถึงการจัดสรรให้มีอาหารประเภทต่างๆ ที่จำเป็นต่อชีวิต (Allocation) และมีความสามารถที่จะจ่ายได้ (Affordability) เพราะการขาดแคลนอาหารบางครั้งก็ไม่ได้เกิดจากการไม่มีอาหารแต่เป็นเพราะอาหารมีราคาแพงจนเกินไป และความยากจนทำให้ไม่มีรายได้พอที่จะซื้ออาหารหมู่ต่างๆ ได้ครบถ้วน โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่เป็นแหล่งโปรตีนที่ร่างกายต้องการ การเข้าถึงแหล่งอาหารแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ Direct access เป็นกรณีที่ครัวเรือนผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงดูตนเอง กับอีกกรณีคือ Economic access คือใช้เงินไปซื้อหาอาหารมา ซึ่งกรณีหลังจะมีมากกว่าเพราะประชากรอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้ทำการเกษตรเอง การมีรายได้ที่พอเพียงของประชาชนจึงสำคัญมากเพื่อให้เข้าถึงอาหารเพื่อดำรงชีพ

การบริโภคอาหารเพื่อให้เกิดพลังงานในการดำรงชีวิต (Food utilization) ซึ่งหมายถึงการบริโภคอาหารให้พอเหมาะทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพของอาหาร เพื่อใช้เผาผลาญให้เกิดพลังงานในการดำรงชีวิต อาหารที่บริโภคจึงต้องเกี่ยวกับความปลอดภัย (Food safety) ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การจัดเตรียม (Preparation) การแปรรูป (Processing) และการปรุง (Cooking) โดยสามารถรักษาคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์

2) ปัจจัยความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความมั่นคงทางอาหาร

วิกฤตการณ์ด้านแหล่งน้ำ (Global water crisis)

เนื่องจากการเกษตรจำเป็นต้องใช้น้ำเป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยการผลิตที่สำคัญ แต่ปัจจุบันแหล่งน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพออันเนื่องมาจากความต้องการมีมากกว่าอุปทานน้ำและจากปัญหาการไม่ดูแลสภาพแวดล้อม เช่น ป่าไม้ทำให้แหล่งน้ำลดลง มีการคาดการณ์ว่าประชากรไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านคนอยู่อาศัยและทำกินบนพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเป็นแหล่งอุปโภคบริโภคที่ยั่งยืนจะกลายเป็นเรื่องที่ประเทศต่างๆ ต้องให้ความสำคัญและลงทุนเพิ่มเติม

ปัญหาที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ลดลง (Land degradation)

การทำฟาร์มเกษตรแบบพืชเชิงเดี่ยวมีส่วนทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภาพ (Productivity) ลดลงมาก นอกจากนี้ การใช้ปุ๋ยเคมีก็ยังทำลายคุณภาพดิน และเป็นอันตรายต่อสัตว์และมนุษย์ในระยะยาวด้วย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change)

ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านพื้นที่ด้วย เช่น ทำให้เกิดภัยแล้งในบางพื้นที่ และภาวะฝนตกหนักเกินไปในอีกบางพื้นที่ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดความลำบากในการวางแผนผลิตอาหาร เกิดความไม่แน่นอนในผลผลิตอาหารตามมา

ปัญหาด้านขยะอาหาร (Food waste)

ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องก็คือขยะอาหาร ซึ่งเกิดจากการผลิตและการบริโภคที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ของมนุษย์โลก การมีขยะอาหารในปริมาณมากและยังมีวิธีการขจัดที่ยังได้ผลไม่ดีมากนัก สะท้อนถึงการใช้ทรัพยากรที่ยังไม่คุ้มค่า และส่งผลต่อปัญหาสภาพแวดล้อมและสังคมมนุษย์ เป็นต้นทุนทางสังคมที่เพิ่มขึ้นต่อไปอีก

ปัญหาเรื่องพืชอาหารและพืชน้ำมัน (Food versus fuel)

ที่ผ่านมา พื้นที่ส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้ผลิตที่เรียกว่า Non-food crops เช่น ยางพาราและปาล์มน้ำมัน เป็นต้น เพราะเกรงว่าต้องหาแหล่งพลังงานทดแทน น้ำมันปิโตรเลียมหากพืชน้ำมันหรือพืชเศรษฐกิจที่ไม่ใช่อาหารมีอุปทานมากไปและมีราคาตกต่ำ รวมทั้งไม่ต้องวิตกเรื่องแหล่งพลังงานแล้ว บางทีต้องหันมาทบทวนว่าเราควรเพิ่มพื้นที่ในการสร้างผลผลิตอาหารเพิ่มขึ้นหรือไม่

3) การฟื้นฟูประเทศไทยผ่านกลยุทธ์ “ครัวของโลก”

แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศเล็กๆ บนโลกนี้ แม้ว่าจะมีพื้นที่ทำการเกษตรไม่มากนัก แต่การที่เรามีจำนวนประชากรไม่มากเกินไป หากเราพลิกฟื้นให้การเกษตรของเรามีประสิทธิภาพและผลิตอาหารที่เป็นที่ต้องการ นอกจากเลี้ยงดูคนไทยให้มีความมั่นคงทางอาหารแล้ว เรายังสามารถหารายได้จากการส่งออกอาหารให้เป็นที่พึ่งในผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติได้ แต่ภายใต้ “วิถีใหม่ไทยแลนด์” เราน่าจะหา New normal ในการทำกลยุทธ์ “ครัวของโลก” แบบใหม่ที่ต่างจากเดิมไป เช่น

การพัฒนาแหล่งน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่เกษตรทั่วประเทศ

การเผชิญต่อภัยแล้งแบบซ้ำซากทำให้ขาดน้ำส่งผลทางลบต่อการทำเกษตร เราควรลุกขึ้นมาช่วยกันคิดหานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทำอย่างไรจะกักเก็บน้ำให้มีปริมาณพอเหมาะและเพียงพอในทุกพื้นที่ รวมไปถึงการยกระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินในทุกภูมิภาคของไทย เราอาจต้องเริ่มพูดถึงวิธีการยกระดับผลผลิตสินค้าเกษตรของเราให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นได้อีกหลายเท่าตัว

การพัฒนาความหลากหลายของพืชอาหารที่สำคัญ

เมื่อมองจากมุมสารอาหารที่มนุษย์ควรได้รับอย่างเพียงพอเราควรเห็นภาพรวมการจัดแบ่งพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำเกษตรกรให้เหมาะสม เช่น การมีพืชที่ให้พลังงานจากแป้งหรือพืชที่ให้โปรตีน เช่น ถั่วประเภทต่างๆ หรือประเภทที่ให้วิตามิน เกลือแร่ เช่น ผลไม้ การมองพื้นที่การเพาะปลูกแบบเป็นสำรับนี้ จะทำให้ดีต่อความมั่นคงทางอาหารของคนไทย และเวลาส่งออกไปประเทศต่างๆ ก็จะสามารถเลือกจากสิ่งที่ขาดได้ และหากสินค้าอาหารของเรามีคุณภาพดีจริงๆ ก็จะสามารถสร้างอำนาจต่อรองขึ้นได้

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่คุณค่าด้านอาหารของไทย การฟื้นฟูประเทศด้วยอุตสาหกรรมอาหารในครั้งนี้ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันระดมสมองและลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอาหาร เช่น นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตร การแปรรูปอาหาร การเพิ่มผลผลิต การเก็บรักษาและระบบการขนส่งใหม่หมด เพื่อยกระดับห่วงโซ่คุณค่าด้านอาหารของไทยให้เติบโตทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ

ผมไม่แน่ใจว่า เรามีพิมพ์เขียวการดำเนินการ “ครัวของโลก” ในยุค New normal นี้หรือยัง ตอนนี้ธุรกิจด้านอาหาร ด้านเกษตรก็ซบเซาไปมาก คนว่างงานกลับสู่ชนบทก็อีกมาก ดังนั้น การสร้าง “Smart farmers” ครั้งนี้คือ การพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เพื่อที่จะช่วยในการยกระดับประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปข้างหน้าด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น