HIGHLIGHT : วิถีใหม่ไทยแลนด์ (ตอนที่ 2) : ประเทศไทยที่เปรียบเสมือน “ครัวของโลก” กับปัญหาและความท้าทายในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food security) ภายใต้ “วิถีใหม่ไทยแลนด์” นี้ เราจะหา New normal ในการทำกลยุทธ์ “ครัวของโลก” แบบใหม่ที่ต่างจากเดิมไปได้อย่างไร
ร่วมด้วยช่วยกันคิดกับบทความชุด “วิถีใหม่ไทยแลนด์” ที่จะรวมแนวคิด และวิธีการต่างๆ ที่คนไทยสามารถช่วยกันทำ เพื่อให้ประเทศไทยเราดีขึ้น
ตอนที่ 1 : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญและกระทบไปทั่วโลก พวกเราจะได้ทราบสาเหตุและผลกระทบ รวมทั้งสิ่งที่ควรจะทำเพื่อแก้ไขและลดผลกระทบดังกล่าวในอนาคต
ในตอนที่ 2 นี้จะกล่าวถึง Global issue ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ ความมั่นคงทางอาหาร (Food security) ซึ่งหลายประเทศในโลกกำลังเผชิญปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารอยู่ เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับวิถีใหม่ไทยแลนด์ เพราะที่ผ่านมาเราพยายามกล่าวอ้างอยู่เสมอว่า ไทยเปรียบเสมือนครัวของโลก ประเทศเรามีความอุดมสมบูรณ์พอที่จะผลิตอาหารเลี้ยงประชากรของเรา และยังเหลือพอที่จะส่งออกไปเลี้ยงชาวโลกด้วย การฟื้นฟูประเทศรอบนี้ควรหันมาปรับปรุงความสามารถในการผลิตอาหารของไทยอย่างจริงจัง บทความตอนนี้อยากฉายภาพให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมและสิ่งท้าทายต่างๆ ในเรื่องความมั่นคงทางอาหารของโลก เพื่อให้ประเทศไทยได้เตรียมพร้อมในเรื่องนี้
ข้อมูลใน Wikipedia ได้ให้นิยามไว้ว่า ความมั่นคงทางอาหาร คือ ระดับของการวัดเกี่ยวกับ การมีปริมาณอาหารที่มีอย่างเพียงพอ (the availability of food) และความสามารถในการเข้าถึงอาหารของประชากร (Individuals’ ability to access it) สภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร สามารถเห็นได้จากภาวะข้าวยากหมากแพง (Famine) และส่งผลให้คนอดอยากหิวโหย และหลายๆ ครั้งในอดีตนำมาสู่สงครามและความไม่สงบในสังคมมนุษย์
จากการสำรวจขององค์การอาหารและเกษตร (FAO) ของสหประชาชาติประมาณการว่าในช่วงปี ค.ศ. 2010-2012 มีประชากรของโลกประมาณ 870 ล้านคนในทวีปต่างๆ กำลังเผชิญกับสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารหรือคิดเป็นประมาณ 12.5% ของประชากรโลก หรือ 1 ใน 8 ของพลเมืองโลกกำลังอยู่ในสถานะขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา และเขตเอเชียใต้ยังต้องเร่งแก้ปัญหาอีกมาก ข้อมูลยังพบอีกว่าในมิติสารอาหารที่มีวิตามินและเกลือแร่ที่เพียงพอ ในมิตินี้ประชากรโลกเกือบ 2 พันล้านคนก็ยังได้รับไม่เพียงพอ
1)การประเมินระดับความมั่นคงทางอาหาร
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดเสาหลักในการประเมินระดับความมั่นคงทางอาหาร (Pillars of food security) ไว้ 3 ประการ ได้แก่
การผลิตและสำรองอาหารให้มีเพียงพอ (Food availability)
ซึ่งเกี่ยวข้องกับด้านอุปทานของอาหารตั้งแต่ การผลิต การกระจาย และการแลกเปลี่ยน ในเรื่องการผลิตเกี่ยวกับหลายปัจจัย เช่น การเป็นเจ้าของที่ดิน (Land ownership) การใช้และจัดการที่ดิน (Soil management) การจัดการเพาะปลูก (Crop selection) การขยายและบำรุงพันธุ์สัตว์ (Livestock breeding and management) และการเก็บเกี่ยว (Harvesting) เป็นต้น หลายปัจจัยเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนและภูมิอากาศด้วย ในด้านการกระจายอาหารก็เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษา (Storage) การแปรรูป (Processing) การขนส่ง (Transport) การจัดทำหีบห่อและการทำการตลาด (Packaging and marketing) การจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีบนห่วงโซ่คุณค่าด้านอาหารจะช่วยทำให้เกิดประสิทธิภาพทั้งปริมาณ คุณภาพของอาหาร รวมทั้งการจัดการขยะอาหาร (Food waste) ที่กำลังเป็นปัญหามากในขณะนี้
การเข้าถึงแหล่งอาหาร (Food access)
หมายถึงการจัดสรรให้มีอาหารประเภทต่างๆ ที่จำเป็นต่อชีวิต (Allocation) และมีความสามารถที่จะจ่ายได้ (Affordability) เพราะการขาดแคลนอาหารบางครั้งก็ไม่ได้เกิดจากการไม่มีอาหารแต่เป็นเพราะอาหารมีราคาแพงจนเกินไป และความยากจนทำให้ไม่มีรายได้พอที่จะซื้ออาหารหมู่ต่างๆ ได้ครบถ้วน โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่เป็นแหล่งโปรตีนที่ร่างกายต้องการ การเข้าถึงแหล่งอาหารแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ Direct access เป็นกรณีที่ครัวเรือนผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงดูตนเอง กับอีกกรณีคือ Economic access คือใช้เงินไปซื้อหาอาหารมา ซึ่งกรณีหลังจะมีมากกว่าเพราะประชากรอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้ทำการเกษตรเอง การมีรายได้ที่พอเพียงของประชาชนจึงสำคัญมากเพื่อให้เข้าถึงอาหารเพื่อดำรงชีพ
การบริโภคอาหารเพื่อให้เกิดพลังงานในการดำรงชีวิต (Food utilization) ซึ่งหมายถึงการบริโภคอาหารให้พอเหมาะทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพของอาหาร เพื่อใช้เผาผลาญให้เกิดพลังงานในการดำรงชีวิต อาหารที่บริโภคจึงต้องเกี่ยวกับความปลอดภัย (Food safety) ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การจัดเตรียม (Preparation) การแปรรูป (Processing) และการปรุง (Cooking) โดยสามารถรักษาคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์
2)ปัจจัยความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความมั่นคงทางอาหาร
วิกฤติการณ์ด้านแหล่งน้ำ (Global water crisis)
เนื่องจากการเกษตรจำเป็นต้องใช้น้ำเป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยการผลิตที่สำคัญ แต่ปัจจุบันแหล่งน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพออันเนื่องมาจากความต้องการมีมากกว่าอุปทานน้ำและจากปัญหาการไม่ดูแลสภาพแวดล้อม เช่น ป่าไม้ทำให้แหล่งน้ำลดลง มีการคาดการณ์ว่าประชากรไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านคนอยู่อาศัยและทำกินบนพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเป็นแหล่งอุปโภคบริโภคที่ยั่งยืนจะกลายเป็นเรื่องที่ประเทศต่างๆ ต้องให้ความสำคัญและลงทุนเพิ่มเติม
ปัญหาที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ลดลง (Land degradation)
การทำฟาร์มเกษตรแบบพืชเชิงเดี่ยวมีส่วนทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภาพ (Productivity) ลดลงมาก นอกจากนี้การใช้ปุ๋ยเคมีก็ยังทำลายคุณภาพดิน และเป็นอันตรายต่อสัตว์และมนุษย์ในระยะยาวด้วย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change)
ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านพื้นที่ด้วย เช่น ทำให้เกิดภัยแล้งในบางพื้นที่ และภาวะฝนตกหนักเกินไปในอีกบางพื้นที่ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดความลำบากในการวางแผนผลิตอาหาร เกิดความไม่แน่นอนในผลผลิตอาหารตามมา
ปัญหาด้านขยะอาหาร (Food waste)
ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องก็คือขยะอาหาร ซึ่งเกิดจากการผลิตและการบริโภคที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ของมนุษย์โลก การมีขยะอาหารในปริมาณมากและยังมีวิธีการขจัดที่ยังได้ผลไม่ดีมากนัก สะท้อนถึงการใช้ทรัพยากรที่ยังไม่คุ้มค่า และส่งผลต่อปัญหาสภาพแวดล้อมและสังคมมนุษย์ เป็นต้นทุนทางสังคมที่เพิ่มขึ้นต่อไปอีก
ปัญหาเรื่องพืชอาหารและพืชน้ำมัน (Food versus fuel)
ที่ผ่านมาพื้นที่ส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้ผลิตที่เรียกว่า Non-food crops เช่น ยางพาราและปาล์มน้ำมัน เป็นต้น เพราะเกรงว่าต้องหาแหล่งพลังงานทดแทน น้ำมันปิโตรเลียมหากพืชน้ำมันหรือพืชเศรษฐกิจที่ไม่ใช่อาหารมีอุปทานมากไปและมีราคาตกต่ำ รวมทั้งไม่ต้องวิตกเรื่องแหล่งพลังงานแล้ว บางทีต้องหันมาทบทวนว่าเราควรเพิ่มพื้นที่ในการสร้างผลผลิตอาหารเพิ่มขึ้นหรือไม่
3)การฟื้นฟูประเทศไทยผ่านกลยุทธ์ “ครัวของโลก”
แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศเล็กๆ บนโลกนี้ แม้ว่าจะมีพื้นที่ทำการเกษตรไม่มากนัก แต่การที่เรามีจำนวนประชากรไม่มากเกินไป หากเราพลิกฟื้นให้การเกษตรของเรามีประสิทธิภาพและผลิตอาหารที่เป็นที่ต้องการ นอกจากเลี้ยงดูคนไทยให้มีความมั่นคงทางอาหารแล้ว เรายังสามารถหารายได้จากการส่งออกอาหารให้เป็นที่พึ่งในผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติได้ แต่ภายใต้ “วิถีใหม่ไทยแลนด์” เราน่าจะหา New normal ในการทำกลยุทธ์ “ครัวของโลก” แบบใหม่ที่ต่างจากเดิมไป เช่น
การพัฒนาแหล่งน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่เกษตรทั่วประเทศ
การเผชิญกับภัยแล้งแบบซ้ำซากทำให้ขาดน้ำส่งผลทางลบต่อการทำเกษตร เราควรลุกขึ้นมาช่วยกันคิดหานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทำอย่างไรจะกักเก็บน้ำให้มีปริมาณพอเหมาะและเพียงพอในทุกพื้นที่ รวมไปถึงการยกระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินในทุกภูมิภาคของไทย เราอาจต้องเริ่มพูดถึงวิธีการยกระดับผลผลิตสินค้าเกษตรของเราให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นได้อีกหลายเท่าตัว
การพัฒนาความหลากหลายของพืชอาหารที่สำคัญ
เมื่อมองจากมุมสารอาหารที่มนุษย์ควรได้รับอย่างเพียงพอเราควรเห็นภาพรวมการจัดแบ่งพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำเกษตรกรให้เหมาะสม เช่น การมีพืชที่ให้พลังงานจากแป้งหรือพืชที่ให้โปรตีน เช่น ถั่วประเภทต่างๆ หรือประเภทที่ให้วิตามิน เกลือแร่ เช่น ผลไม้ การมองพื้นที่การเพาะปลูกแบบเป็นสำรับนี้ จะทำให้ดีต่อความมั่นคงทางอาหารของคนไทย และเวลาส่งออกไปประเทศต่างๆ ก็จะสามารถเลือกจากสิ่งที่ขาดได้ และหากสินค้าอาหารของเรามีคุณภาพดีจริงๆ ก็จะสามารถสร้างอำนาจต่อรองขึ้นได้
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่คุณค่าด้านอาหารของไทย การฟื้นฟูประเทศด้วยอุตสาหกรรมอาหารในครั้งนี้ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันระดมสมองและลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอาหาร เช่น นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตร การแปรรูปอาหาร การเพิ่มผลผลิต การเก็บรักษาและระบบการขนส่งใหม่หมด เพื่อยกระดับห่วงโซ่คุณค่าด้านอาหารของไทยให้เติบโตทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
ผมไม่แน่ใจว่า เรามีพิมพ์เขียวการดำเนินการ “ครัวของโลก” ในยุค New normal นี้หรือยัง ตอนนี้ธุรกิจด้านอาหาร ด้านเกษตรก็ซบเซาไปมาก คนว่างงานกลับสู่ชนบทก็อีกมาก ดังนั้นการสร้าง “Smart farmers” ครั้งนี้คือ การพลิกวิกฤติเป็นโอกาส เพื่อที่จะช่วยในการยกระดับประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปข้างหน้าด้วย
โดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP® รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ที่มา https://www.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=7339