xs
xsm
sm
md
lg

วิถีใหม่ไทยแลนด์ (ตอนที่ 3)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
วิถีใหม่ไทยแลนด์ (ตอนที่ 3) : ปัญหาเรื่องขยะ (Waste) ซึ่งเป็นหนึ่งใน Global issues ที่ทั้งโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ วิถีใหม่ไทยแลนด์ที่จะเดินหน้ารวมไทยสร้างชาติในครั้งนี้ ควรนำประเด็นและการจัดการขยะมาเป็นเรื่องสำคัญที่คนไทยต้องเรียนรู้สาเหตุ และค้นหาวิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน

กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุค New normal ว่า ในตอนที่ 3 นี้จะกล่าวถึงปัญหาเรื่องขยะ (Waste) ซึ่งเป็นหนึ่งใน Global issues ที่ทั้งโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ ทั้งขยะที่อยู่บนบกและในทะเล กำลังก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก นอกเหนือจากการก่อให้เกิดน้ำเสียและกลิ่นแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ด้วย ตัวอย่างเช่น ขยะพลาสติกที่ย่อยเป็นนาโนพลาสติก ได้เข้าไปแทรกซึมอยู่ในร่างกายของสัตว์ทะเล ซึ่งพอมนุษย์นำมาบริโภคก็จะเข้าไปอยู่ในร่างกายด้วย หรือขยะสารเคมี ขยะกัมมันตภาพรังสี หากจำกัดด้วยวิธีการไม่เหมาะสม และเกิดรั่วไหลก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ วิถีใหม่ไทยแลนด์ที่จะเดินหน้ารวมไทยสร้างชาติในครั้งนี้ ประเด็นและการจัดการขยะจึงควรเป็นเรื่องสำคัญที่คนไทยต้องเรียนรู้สาเหตุและค้นหาวิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน

1) ความหมายและประเภทของขยะ

จากคำนิยามของ Wikipedia ขยะ (Waste) หมายถึง “วัตถุที่ไม่ใช้แล้ว หรือไม่เป็นที่ต้องการ” หรือ “วัตถุที่เหลือและนำมาทิ้งหลังจากการใช้” โดยแบ่งประเภทขยะออกเป็น 4 ชนิด ดังนี้

ขยะในชุมชน (Municipal waste) ซึ่งมาจากขยะจากครัวเรือน (Household waste) ขยะจากการค้า (Commercial waste) และขยะที่เกิดจากรื้อถอน (Demolition waste)

ขยะอันตราย (Hazardous waste) เช่น ขยะสารเคมี ขยะพลาสติก ซึ่งเป็นขยะจากอุตสาหกรรม (Industrial waste)

ขยะติดเชื้อ (Biomedical Waste) เป็นขยะที่เกิดจากการรักษาพยาบาล ถือเป็นขยะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

ขยะอันตรายแบบพิเศษ (Special hazardous waste) ขยะกัมมันตภาพรังสี (Radioactive waste) และขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic waste) เป็นต้น

2) ต้นทุนของการทิ้งขยะ

การทิ้งขยะลงสู่พื้นที่สาธารณะโดยไม่มีการกำจัดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบ (Negative externalities) ต่อส่วนรวม ซึ่งสรุปเป็นต้นทุนได้ 3 ชนิด ดังนี้

ต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental costs)

ขยะที่จัดการไม่ดี และเป็นของเสียทำให้เกิดกลิ่น และหมักหมมจนเป็นแหล่งที่มีเชื้อโรค รวมทั้งดึงดูดให้สัตว์ประเภทหนู และแมลงต่างๆ มาทำให้สภาพแวดล้อมเกิดความเสื่อมโทรม และเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค ขยะที่นำมากำจัดโดยการเผา หากทำไม่ถูกวิธีจะก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ และเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็ง ขยะที่เป็นพิษ (Toxic waste) หากเกิดความมักง่ายในการทิ้ง ก็จะเกิดการรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำ ดิน และอากาศทำให้เกิดอันตรายต่อระบบนิเวศต่างๆ ปัญหาขยะยังเกี่ยวพันกับการเกิดก๊าซเรือนกระจก (Green house gas : GHG) ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

ต้นทุนทางสังคม (Social costs)

ปัญหาขยะทำให้ต้นทุนทางสังคมที่เพิ่มขึ้น เช่น ขยะในชุมชนทำให้สภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยแย่ลง กระทบต่อคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย อยู่กันอย่างแออัด ต้องอยู่ท่ามกลางขยะ ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพมากขึ้น ปัญหาของบ่อขยะยังก่อให้เกิดมลพิษด้านกลิ่น ทำให้กระทบต่อการพักผ่อน กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งกับชาวบ้านที่ต่อต้านพื้นที่บ่อขยะหากเข้ามาใกล้ชุมชนของตน

ต้นทุนทางด้านเศรษฐกิจ (Economy costs)

การจัดการขยะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูง ส่วนใหญ่จะเป็นการดำเนินการโดยรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งหากขาดงบประมาณ หรือมีวิธีการจัดเก็บกำจัดขยะไม่ดีพอ รวมทั้งค่าธรรมเนียมในการเก็บขยะมีราคาไม่เหมาะสม เช่น ต่ำเกินไป โดยสุทธิแล้วก็ถือว่าเกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจขึ้น ในบางประเทศเก็บค่าขยะสูง โดยใช้นโยบาย Pay as you throw เพื่อพยายามลดปริมาณขยะ หรือความพยายามในการคัดแยกขยะ ให้สามารถนำขยะบางอย่างมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ใหม่ ก็จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนทางเศรษฐกิจของขยะ

3) การบริหารจัดการขยะ (Waste management หรือ Waste disposal)

คือ กิจกรรมและการกระทำที่จัดการขยะทั้งวงจร เริ่มตั้งแต่การเก็บรวบรวมขยะ (Collection) การขนส่ง (Transport) การคัดแยกและบำบัด (Treatment) และการทิ้ง (Disposal) และเนื่องจากขยะอาจอยู่ในรูปของแข็ง ของเหลว และก๊าซซึ่งแต่ละแบบก็ต้องมีวิธีและกระบวนการจัดการที่ไม่เหมือนกัน การจัดการขยะมุ่งเน้นการใช้วิธีการต่างๆ ที่จะช่วยลดผลกระทบทางลบของขยะที่จะมีต่อมนุษย์ทั้งในด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสุนทรียภาพ

ลำดับขั้นของการจัดการขยะ (Waste hierarchy)

การแก้ปัญหาขยะอาจใช้ “Waste hierarchy” เป็นกลยุทธ์ในการแบ่งลำดับขั้นของการจัดการขยะ โดยใช้แบบจำลอง 3 Rs ได้แก่ Reduce Reuse และ Recycle

Reduce คือ กลับไปที่ต้นทางของผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ครัวเรือน อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้สร้างขยะผ่านกระบวนการในการดำรงชีวิต หรือการทำธุรกิจ เช่น การบริโภค การผลิตสินค้าและบริการ ถ้าทุกคนร่วมใจกันว่าทุกๆ กิจกรรมลดการเกิดขยะให้น้อยที่สุด ขยะที่จะออกสู่ระบบก็จะลดลง เช่น การลดการใช้กระดาษหรือพลาสติกลง เป็นต้น

Reuse วัสดุบางอย่างก่อนจะถูกทิ้งเป็นขยะ หากนำมารวบรวม อาจพบว่าสามารถนำมาใช้ใหม่ได้ เช่น กระดาษ ขวด เป็นต้น หรือขยะอินทรีย์ ก็อาจนำมาเข้ากระบวนการใหม่ ทำเป็นปุ๋ย หรือดินที่เอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้

Recycle คือ การนำขยะบางชนิดกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ (A resource recovery) เช่น การนำบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มที่ใช้แล้ว กลับมาผ่านกระบวนการเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่

การ Reuse และ Recycle นี้เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นทางการทิ้งขยะ หากมีการคัดแยกก่อนทิ้งให้เป็นประเภท จะทำให้ผู้ที่ต้องไปทำ Reuse หรือ Recycle สะดวกขึ้น ไม่ต้องคัดแยกเอง เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการขยะได้อย่างเต็มที่

และหากผ่านจาก 3 Rs มาแล้ว และยังมีขยะที่ต้องจัดการอีก ก็จะเข้าสู่ 2 วิธีการหลัก คือ การเผาทิ้ง (Incinerate) และการถมดิน (Landfill) ซึ่งอธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้

การเผาทิ้ง (Incinerate)

เป็นการนำขยะที่เรียกว่า Solid organic waste มากำจัดโดยการเผา ซึ่งจะทำให้ขนาดของขยะลดลง และบางส่วนระเหยเป็นก๊าซ วิธีการนี้จะช่วยให้ลดปริมาณขยะที่จะต้องฝังกลบในดินได้ถึง 90% เนื่องจากเป็นวิธีการโดยใช้ความร้อน (Thermal treatment) สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการ เช่น ความร้อน ก๊าซไอน้ำ และขี้เถ้า สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้ อย่างไรก็ตาม ขยะบางประเภท เช่น ขยะอันตราย ขยะติดเชื้อหากใช้การกำจัดแบบเผาทิ้งต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะมลพิษที่จะเกิดตามมา หลายๆ ประเทศที่มีพื้นที่จำกัด การกำจัดขยะโดยวิธีเผาทิ้งและนำความร้อนไปเป็นพลังงานทดแทน เป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

การถมดิน (Landfill)

การกลบฝังขยะในดินก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการทิ้งขยะ และเป็นวิธีดั้งเดิมที่ใช้กันมา อย่างไรก็ดี หากไม่มีวิธีการจัดการที่เหมาะสม ผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น 3 Rs หรือการเผาทิ้งที่อธิบายถึงข้างต้น ปริมาณขยะก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บ่อขยะสาธารณะก็จะไม่พอที่จะนำขยะไปกลบฝัง ในทางตรงข้ามกลับเกิดภูเขาขยะขึ้น ทั้งขยะอินทรีย์ ขยะสารเคมี และขยะอันตรายต่างๆ ก็จะอยู่รวมกัน เมื่อเผชิญกับ แสงแดด ลม และฝน ก็จะเป็นขยะที่ไม่ปลอดภัย เกิดการไหลปนเปื้อนของสารอันตรายลงสู่แหล่งน้ำและดิน ทั่วทั้งที่ราบลุ่ม รวมถึงทะเลและมหาสมุทร ซึ่งก็กลับมาส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมของโลกและสังคมมนุษย์ต่อไป เทคโนโลยีสมัยใหม่ควรถูกนำมาใช้ช่วยจัดการขยะในบ่อขยะอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น บางแห่งสร้างโรงกำจัดขยะ โรงไฟฟ้าพลังงานจากขยะใกล้บ่อขยะ นอกจากกำจัดขยะและได้ไฟฟ้าแล้ว ยังนำส่วนของขยะที่เหลือจากกระบวนการไปใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น เป็นปุ๋ย หรือนำไปถมที่สร้างพื้นที่ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องไปขุดดินในสภาพธรรมชาติมาใช้ เป็นต้น

ทุกคนทราบดีว่า ปัญหาเรื่องขยะของไทยก็เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของประเทศไปแล้ว พลเมืองและสังคมไทยในยุคต่อไปจำเป็นต้องมีความตระหนักรู้และมีวินัยในเรื่องนี้ ต้องได้รับความรู้และทักษะในการจัดการขยะที่จะช่วยให้โลกมีขยะน้อยลง ทั้งในมิติครัวเรือน ชุมชน ธุรกิจ ประเทศ ภูมิภาค และโลกของเรา ผมเชียร์ให้วิถีใหม่ไทยแลนด์หลัง COVID-19 นี้ หากจะหาแบบจำลองฟื้นฟูประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน อย่าลืมเรื่องการจัดการขยะนี้นะครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น