วีเอ็มแวร์ (VMware) เปิดตัวสินค้าใหม่รับกระแสแอปทันสมัยหรือ app modernization จัดเต็มทั้ง VMware Tanzu Portfolio ที่ช่วยให้องค์กรใช้เทคโนโลยีคลาวด์และทำให้กระบวนการบริหาร Modern Application Lifecycle เป็นไปอย่างอัตโนมัติบนสภาพแวดล้อมคลาวด์ใดก็ได้ ยังมีการอัปเดท Cloud Foundation 4 และ vSphere 7 รุ่นใหม่ที่เอื้อกับการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันมากขึ้น
สำหรับรูปแบบการเก็บค่าบริการใหม่ของ VMware จากการคำนวณไลเซนส์ตามจำนวนซีพียู มาเป็นการคำนวณตามคอร์ของซีพียู ทำให้ระบบที่มีคอร์ซีพียูแบบ 64 บิตต้องชำระเงินสูงกว่าระบบที่ใช้คอร์ 32 บิต ประเด็นนี้ผู้บริหารย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงที่ประกาศออกมานั้น จะเกิดผลกระทบน้อยมากสำหรับตลาดไทย เห็นได้จากตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงต้นปีนี้ ยังไม่มีบริษัทใดที่เป็นลูกค้า VMware ต้องเสียค่าไลเซนส์ในอัตราใหม่เลย
ซานเจย์ เดชมุกห์ รองประธานและกรรมการผู้จัดการ VMware ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี กล่าวว่าจุดเด่นของการเปิดตัวบริการใหม่ครั้งนี้ คือการนำเสนอพอร์ทโฟลิโอที่ครบวงจรสำหรับ modern applications ทำให้ระบบงานดั้งเดิมและระบบงานใหม่ทำงานร่วมกันได้ดีกว่าเดิม ช่วยให้ไลฟ์ไซเคิลของแอปพลิเคชันยุคใหม่สามารถจัดการได้อย่างอัตโนมัติ ส่งให้โอเปอเรชันบนคลาวด์ทำได้อย่างไร้รอยต่อ และการสนับสนุน Native Kubernetes ที่ทำให้สามารถทำงานข้ามแพลตฟอร์มได้
“โอกาสในตลาดนี้ใหญ่มาก วันนี้เรามีลูกค้ามากกว่า 500,000 รายทั่วโลกที่ใช้เทคโนโลยีของเราบนดาต้าเซ็นเตอร์ เป้าหมายของเราคือการช่วยสนับสนุนให้ลูกค้าทรานสฟอร์มแอปพลิเคชันและอินฟราสตรัคเจอร์ได้อย่างเหมาะสม โอกาสทางธุรกิจของ VMware นับจากนี้จึงใหญ่มากเพราะลูกค้าทุกรายล้วนสนใจทรานสฟอร์มแอปพลิเคชันของตัวเอง ซึ่งครอบคลุมทั้งการโมเดิร์นไนเซชันให้แอปที่มีอยู่แล้วทันสมัยมากขึ้น และการย้ายแอปพลิเคชันไปยังคลาวด์เพื่อสร้างแอปพลิเคชันใหม่ขึ้นมา”
บริการแรกในนาม VMware Tanzu portfolio
สินค้าเด่นที่ VMware เปิดตัวล่าสุดคือบริการแรกที่จะให้บริการเป็นส่วนหนึ่งของ VMware Tanzu portfolio เพื่อการสร้างและบริหารโมเดิร์นแอปพลิเคชัน จากการเปิดตัวครั้งแรกที่งาน VMworld เมื่อปี 62 ที่ผ่านมา Tanzu portfolio นี้ถูกออกแบบมาเพื่อการทำ Kubernetes ระดับองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งความครอบคลุมของระบบนี้ถูกยกให้เป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ของ VMware
บริการแรกในร่ม Tanzu portfolio ประกอบด้วย Tanzu Kubernetes Grid รันไทม์ Kubernetes ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถติดตั้งและรันสภาพแวดล้อม Kubernetes แบบมัลติคลัสเตอร์บนโครงสร้างพื้นฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อใช้งาน Kubernetes ได้อย่างต่อเนื่องในทุกสภาพแวดล้อม ตั้งแต่ดาต้าเซ็นเตอร์ ไฮเปอร์สเกลเลอร์ ผู้ให้บริการ และที่ปลายทาง
รีแบรนด์อุตลุด
การประกาศขยายพอร์ตโฟลิโอของ VMware เกิดขึ้นหลังจากซื้อกิจการ Pivotal ในเดือนธันวาคม 2562 ด้วยมูลค่ากว่า 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย VMware ระบุว่าได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อรวมทีมเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์จาก Pivotal ซึ่งรวมถึงการรีแบรนด์ Pivotal Application Service (PAS) ของ VMware ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อให้นักพัฒนาเพิ่มความเร็วของฟีเจอร์และทีมปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนอัพไทม์มาตรฐานโลกให้กับ Tanzu Application Service
นอกจากนี้ VMware ได้รีแบรนด์ Wavefront ไปเป็น Tanzu Observability by Wavefront และเปลี่ยนให้ NSX Service Mesh เป็น Tanzu Service Mesh
ไม่เพียง Tanzu portfolio แต่ VMware ยังโชว์ตัว vSphere 7 ที่ถูกการันตีว่าเป็นการพัฒนาครั้งใหญ่ที่สุดบนแพลตฟอร์มบริหารระบบเวอร์ชวลในรอบ 10 ปี ออกแบบใหม่โดยใช้ Kubernetes ทำให้ vSphere ได้รับการพัฒนาเพื่อให้สามารถทำงานได้ทั้งบนโมเดิร์นคอนเทนเนอร์และเวิร์คโหลดเวอร์ชวลแมชชีนรุ่นเก่า ในช่วงแรก vSphere 7 กับ Kubernetes จะสามารถใช้งานได้ผ่าน VMware Cloud Foundation 4 เท่านั้น
ดึงดูดองค์กรใหญ่
สำหรับ VMware Cloud Foundation 4 จะเน้นนำเสนอแพลตฟอร์มไฮบริดคลาวด์สำหรับ Modern Apps รวมถึงการสนับสนุน Native Kubernetes ซึ่งจะดึงดูดองค์กรใหญ่ที่วันนี้ใช้งานระบบ Kubernetes อยู่ โดยขณะนี้ VMware มีคู่แข่งในตลาดนี้ทั้ง Red Hat ของ IBM และผู้ให้บริการคลาวด์ทั้ง Google, Microsoft และ Amazon รวมถึงสตาร์ทอัปบางราย
“จุดยืนของ VMware คือการเป็นระบบงานสำหรับองค์กรใหญ่ ขยายได้ เชื่อถือได้ และเป็นทางเลือกขององค์กรที่ต้องการสร้างไพรเวทคลาวด์ ส่วนที่ทำให้บริษัทแข็งแกร่งคือการเชื่อมต่อลึกซื้งกับผู้ให้บริการคลาวด์ทั้ง Amazon, Azure, Google, IBM, Alibaba และพันธมิตรอีกหลายพันราย ซึ่งความครบนี้จะเป็นบันไดสำคัญให้ VMware ปักหลักในตลาดได้อย่างเหนียวแน่น”
ทั้ง VMware Tanzu Application Catalog, Tanzu Kubernetes Grid และ Tanzu Mission Control พร้อมให้บริการแล้ว แต่ VMware Cloud Foundation 4, vSphere 7 และ vSAN 7 มีกำหนดให้บริการวันที่ 1 พฤษภาคมนี้
ตลาดไทยสดใส
นายเอกภาวิน สุขอนันต์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท วีเอ็มแวร์ กล่าวว่า VMware มองโอกาสในตลาดไทยสดใสเหมือนตลาดโลก เพราะหลายธุรกิจต้องลงมือสร้างแอปพลิเคชันใหม่บนคลาวด์ ทำให้บริษัทมองว่าการเปิดตัวซอฟต์แวร์ใหม่ครั้งนี้จะสามารถตอบโจทย์ได้ดีเพราะสามารถรองรับการพัฒนาแอปพลิเคชั่นแบบเดิมและแบบใหม่ได้แบบไร้รอยต่อ ผลคือทำให้ต้นทุนรวมหรือ total cost of ownership ในการพัฒนา modern application สามารถลดลง 25 ถึง 30% เนื่องจากบริษัทไม่ต้องทำแพลตฟอร์มใหม่หรือปรับสถาปัตยกรรมใหม่ เรียกว่าใช้อย่างไรก็ไม่มีปัญหา
ปัจจุบัน VMware มีฐานลูกค้ามากกว่า 500,000 บริษัททั่วโลกซึ่งใช้เทคโนโลยีของ VMware ในการทรานสฟอร์มแอปพลิเคชัน เชื่อว่าโอกาสของ VMware ในอนาคตจะยิ่งใหญ่มากเพราะองค์กรต้องการเปลี่ยนให้แอปพลิเคชันของบริษัทเป็น modern app แนวทางนี้เกิดขึ้นทั่วทุกอุตสาหกรรมและทุกเซ้กเมนต์
“ที่น่าสนใจคือไม่ใช่เฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ แต่องค์กรขนาดกลางก็ให้เริ่มความสำคัญมากขึ้น ทำให้เราไม่เห็นอุปสรรคที่จะทำให้การพัฒนาในตลาดเกิดขึ้นได้ช้าลง”
ค่าไลเซนส์ใหม่ไม่กระทบลูกค้า
สำหรับประเด็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบค่าไลเซนส์ VMware ย้ำว่าการเปลี่ยนจากการนับจำนวนซ็อคเก็ตของซีพียู มาเป็นนับจำนวนคอร์ซีพียูด้วยนั้นเป็นไปตามเทรนด์ของบริษัทซอฟต์แวร์ทั่วโลก ซึ่งต้องคิดค่าบริการเพิ่มขึ้นตามการประมวลผลที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม มองว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดผลกระทบน้อยมากเพราะส่วนใหญ่ยังเป็นระบบ 32 คอร์
“สำหรับตลาดไทยพบว่าตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงต้นปีนี้ยังไม่มีบริษัทใดต้องเสียค่าไลเซนส์ในอัตราใหม่” จุดนี้ผู้บริหารยอมรับว่าในอนาคตตลาดนี้อาจขยายและเพิ่มจำนวนขึ้น แต่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนี้สมเหตุสมผลเพราะจำนวนทรูพุตต่อคอร์มีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย
นอกจากตลาดไทย ผู้บริหาร VMware มองว่าตลาดอาเซียนมีโอกาสเติบโตสูงในปีนี้โดยมั่นใจว่าทุกเซ็กเมนต์ทั้ง SME และองค์กรขนาดใหญ่จะให้ความสำคัญในการใช้งานระบบบริหารจัดการวงจรการพัฒนาโมเดิร์นแอป
สำหรับภาพรวมธุรกิจ VMware เปิดเผยว่ารายได้จากค่าสมาชิกไลเซนส์ของบริษัทนั้นเพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบจากปีที่แล้ว ด้วยปัจจัยบวกมากมาย บริษัทเชื่อมั่นว่ารายได้กลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นอีกต่อเนื่องในอนาคต.