xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลา ‘AWS’ บุกตลาดองค์กรเชิงลึก (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อถามถึงความท้าทายของ Amazon Web Service (AWS) ในตลาดไทยเวลานี้ ไม่ใช่การเข้ามาทำให้องค์กรรับรู้ถึงการนำคลาวด์ไปใช้งานแล้ว เพราะช่วงตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา หลายองค์กรได้เรียนรู้ และเริ่มนำบริการของ AWS มาใช้งานกันแล้ว


แต่กลายเป็นการทำให้องค์กรที่ใช้งาน AWS อยู่ในปัจจุบัน ยกระดับการใช้งานบริการให้หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ในการทรานฟอร์ม จนถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจให้สามารถเติบโตได้


ดีน ซามูเอลส์ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ประจำภูมิภาคอาเซียน อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส กล่าวว่า ตอนนี้ตลาดองค์กรธุรกิจจะตั้งคำถามกับทาง AWS ว่า ทำอย่างไรให้ติดตั้ง และเข้าใช้งานได้เร็วที่สุด จากก่อนหน้านี้ที่คำถามส่วนใหญ่จะวนอยู่แค่ว่าคลาวด์คืออะไร และนำไปใช้งานอะไรได้บ้าง


“จุดที่ทำให้ AWS เข้าใจความต้องการของลูกค้าที่มีความต้องการแตกต่างกันไป เนื่องมาจากการที่ AWS ให้บริการลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก ที่กำลังปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัล ทำให้มีประสบการณ์ในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ และบริการที่เหมาะสมออกมาให้บริการแก่ลูกค้า”



โดยในปีนี้ สิ่งที่ AWS จะเข้าไปให้คำปรึกษา และร่วมมือกับองค์กรธุรกิจในไทยคือ การขยายรูปแบบการใช้งานจากบริการคลาวด์ทั่วๆ ไป มาเป็นการนำโซลูชันที่ถูกออกแบบให้เข้ากับแก่ละภาคธุรกิจมากขึ้นไปใช้งาน แน่นอนว่า ในการเตรียมการไม่ใช่แค่เตรียมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรในระยะเวลาอันสั้น 1-3 ปี แต่ต้องเตรียมให้พร้อมรองรับการเติบโตของธุรกิจในระยะยาวตั้งแต่ 3 ปี 5 ปี จนถึง 10 ปีข้างหน้า


ข้อมูลจากทางไอดีซี คาดการณ์ไว้ว่าภายในปี 2022 ผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ในโลกทั้ง 4 ราย จะเข้ามามีส่วนแบ่งในการให้บริการคลาวด์ในประเทศไทยสูงถึง 80% ขณะเดียวกันยังมีข้อมูลเพิ่มเติมว่าในปี 2023 องค์กรธุรกิจ 100 ลำดับแรกในไทยกว่า 70% จะเริ่มหันไปลงทุนใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์แบบไฮบริด และมัลติคลาวด์มากขึ้น



ชวพล จริยาวิโรจน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมถึงแนวโน้มที่จะเกิดการลงทุนมัลติคลาวด์ในประเทศไทย เนื่องมาจากองค์กรธุรกิจยังมีความกังวลเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลสำคัญบางส่วนที่ควรเก็บไว้ภายในประเทศ

อีกส่วนคือต้องการให้การเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ทำได้รวดเร็วกว่าการนำไปเก็บไว้กับผู้ให้บริการคลาวด์ในต่างประเทศ ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับรูปแบบในการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งานของแต่ละองค์กร โดยเฉพาะในยุคของ 5G ที่จะเข้ามาช่วยลดความหน่วงในการสื่อสารของโปรแกรมต่างๆ ได้ด้วย


นำโซลูชัน เจาะแต่ละธุรกิจ


สำหรับตลาดประเทศไทย ในแง่ของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ต้องมองว่าในตลาดเกม โมบาย และ IoT ไทยถือว่าเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะจากการลงทุนของโอเปอเรเตอร์ ที่ทำให้ไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาค

แต่กลับกันในส่วนของการนำเทคโนโลยีไปใช้งานในองค์กรธุรกิจ ไทยยังถือว่าตามหลังต่างชาติประมาณ 1-2 ปี ซึ่งก็ถือเป็นข้อดีเหมือนกัน เพราะสามารถเรียนรู้รูปแบบในการนำเทคโนโลยีมาใช้งานจากต่างชาติ และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมได้

“หลังจากนี้เทคโนโลยีต่างๆ ของ AWS จะเข้าไปช่วยเพิ่มความลึกในการใช้งานมากขึ้น โดยเฉพาะการนำไปปรับใช้ในแต่ละภาคธุรกิจ เพราะทุกคนทราบดีว่าแต่ละอุตสาหกรรมมีความต้องการที่แตกต่างกัน”

ทำให้ในปีนี้ AWS จะเน้นการเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรมมากขึ้น บนพื้นฐานของการนำเทคโนโลยีอย่าง AI และ Machine Learning ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องเข้าไปใช้

“AWS เหมือนเป็นร้านที่ขายวัตถุดิบอาหารหลากหลาย ต้องหาพาร์ทเนอร์ที่เป็นเชฟ เข้ามาผสมผสานเทคโนโลยี เข้าไปกับความถนัดเพื่อให้บริการลูกค้า”


ในส่วนของการลงทุนไอทีในประเทศไทย AWS มองว่าภายในปี 2022 60% ของการลงทุนจะอยู่กับอุปกรณ์พกพา โมบายอินเทอร์เน็ต คลาวด์ และ IoT ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดการใช้งานข้อมูล ก่อนที่จะนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ ประมวลผล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคต่อไป


3 เทคโนโลยีเด่นจากงาน re:Invent



ดีน ให้ข้อมูลถึงเทคโนโลยีใหม่ที่ AWS เพิ่งเปิดตัวและตอบรับกับเทรนด์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประมวลผลที่ตัวอุปกรณ์ พกพา (Edge Computing) ซึ่งเริ่มมีการนำ AI เข้ามาช่วยมากขึ้น


เทคโนโลยีใหม่อย่าง AWS Outpost ที่จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถย้ายการประมวลผลข้อมูล มายังอุปกรณ์ที่้ต้องการได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงเซิร์ฟเวอร์ หรือคอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่ง บนแนวคิดในการพัฒนาแบบ Server Less ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในะระยะยาวให้แก่องค์กรธุรกิจ

“การนำ Outpost มาใช้งานจะทำให้ผู้ใช้ที่มีแผนลงทุนมัลติคลาวด์สามารถเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกันได้สะดวกขึ้น และย้ายเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นต้องประมวลผลลงมาใช้งาน ส่วนข้อมูลที่ไม่ได้ถูกใช้ก็จะถูกเก็บไว้ที่เดิมทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเซิร์ฟเวอร์ที่ไม่จำเป็น”

ขณะเดียวกันเมื่อองค์กรธุรกิจหันมาใช้งานระบบคอมพิวเตอร์เสมือน (Virtual Machine) มากขึ้น ทำให้องค์กรจะสามารถประหยัดพลังงานจากการใช้หน่วยประมวลผล x86 เดิม เปลี่ยนเป็นการใช้หน่วยประมวลผลแบบ ARM ที่ประหยัดพลังงานมากกว่า


อีกเทคโนโลยีที่น่าสนใจคือการมาของ Quantum Computing ที่ไม่ได้จะเข้ามาแทนที่รูปแบบการประมวลผลแบบเดิม แต่เข้าไปเสริมในบางรูปแบบการใช้งาน โดยเฉพาะการวิจัยต่างๆ ที่ต้องการความเร็วในการประมวลผลที่สูงมากๆ เพื่อช่วยย่นระยะเวลาในการทำงานให้สั้นลง


ถัดมาคือ AWS Local Zones ที่ทำให้อินฟราสตรัคเจอร์ของ AWS เข้าถึงได้รวดเร็วขึ้น ด้วยการเข้ามาให้บริกาเซิร์ฟเวอร์ร่วมกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้องค์กรธุรกิจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ไม่แตกต่างกับการเก็บข้อมูลไว้ภายในเซิร์ฟเวอร์ขององค์กร

สุดท้ายคือ AWS Wavelength ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามารับกับยุคของ 5G ด้วยการเปิดให้องค์กรธุรกิจสามารถนำโซลูชันนี้ไปใช้งานร่วมกับเซิร์ฟเวอร์ภายในองค์กร หรือโอเปอเรเตอร์ จากเดิมที่ต้องเก็บข้อมูลไว้บนคลาวด์ระดับภูมิภาค


ประโยชน์ของ Wavelength คือช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้บน latency ต่ำที่สุด ซึ่งจะเห็นประโยชน์กับการนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมเกม อย่าง VR หรือนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องการความแม่นยำสูง


กำลังโหลดความคิดเห็น