ตลาดรวมคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่จำหน่ายในตลาดไทยช่วงไตรมาส 4 ปี 62 เติบโตขึ้นจากปี 61 เพียง 3% เบ็ดเสร็จอยู่ที่ 2.3 ล้านเครื่อง ในจำนวนนี้ สินค้ากลุ่มโน้ตบุ๊กเติบโตขึ้น 7% ขณะที่คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะลดลง 1%
สัดส่วนที่เติบโตกระจุ๋มกระจิ๋มทำให้เบอร์ 1 ในตลาดคอนซูเมอร์โน้ตบุ๊กอย่างเอเซอร์ ที่มีส่วนแบ่งในตลาดเกิน 31% ต้องหาทางดิ้นเพื่อให้โตต่อเนื่อง เรื่องนี้ "อลัน เจียง" กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย และภูมิภาคอินโดไชน่าของเอเซอร์ กล่าวว่าเพื่อตอบโจทย์แนวโน้มเทคโนโลยีในช่วง 10 ปีนับจากนี้ ซึ่งเป็นยุคที่ทุกอย่างจะเก่งขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น และปลอดภัยขึ้น เอเซอร์จะไม่ต่างจากทุกบริษัทบนโลกที่ต้องทำธุรกิจทั้ง 2 ขา คือการรักษาธุรกิจเดิมเอาไว้ พร้อมกับต้องหาธุรกิจใหม่เพื่อเป็นกลไกในการก้าวสู่อนาคต
จากการเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์คอนซูเมอร์ เอเซอร์รู้ตัวมานานแล้วว่าต้องจัดการองค์กร ให้ตอบโอกาสในตลาดเทคโนโลยีปัจจุบัน เอเซอร์จึงตั้งกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์โซลูชั่นกรุ๊ป (ESG) ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อตอบความต้องการในตลาดโซลูชั่นขององค์กรภาครัฐ
***เน้นบริษัทย่อย Micro Trend
ใน ESG เอเซอร์ใช้วิธีเลือกลงทุนในสตาร์ทอัปหรือบริษัทเทคโนโลยีหัวกะทิ เพื่อรวมเป็นกลุ่มบริษัทที่มีความชำนาญเฉพาะทาง ทำให้เอเซอร์กลายเป็นผู้ให้บริการระบบที่มีทั้งเซิร์ฟเวอร์และโซลูชันครบวงจรหลายด้าน ที่ผ่านมา เอเซอร์ย้ำว่าบางส่วนใน 6 บริษัทย่อยใน ESG สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว
นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวว่าหน้าที่ของเอเซอร์ในวันนี้ คือการหาพาร์ทเนอร์เพื่อสร้างโซลูชั่นที่เหมาะกับความต้องการ โดยจะเริ่มจากการฟังความต้องการของลูกค้า แล้วเสนอโซลูชั่น ก่อนจะดำเนินการติดตั้งและให้บริการหลังการขาย
สำหรับปีนี้ เอเซอร์จะเน้นทำการตลาดโซลูชันเพื่อสถาบันการศึกษา เพราะในเซกเมนท์นี้ เอเซอร์มีความชำนาญและมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว โซลูชันที่เอเซอร์จะรุกหนักคือระบบการเรียนการสอนด้าน STEAM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ และคณิตศาสตร์) ผ่านระบบหุ่นยนต์ชื่อฟลิปโรบ็อท ซึ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เด็กนักเรียนประถม-อนุบาล 3
"หนึ่งคือเรามีฐานลูกค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างแน่น สองคือหลังจากที่ได้คุยกับลูกค้ากลุ่มสถาบันการศึกษา พบว่าส่วนใหญ่ต้องการปรับตัว ทำให้มีความต้องการโซลูชันเฉพาะทาง เอเซอร์จึงสามารถนำโซลูชันของบริษัทในเครือมาปรับใช้กับสถานศึกษาได้เลย"
นอกจาก 6 บริษัทใน ESG เอเซอร์ยังมีแผนเลือกทำงานกับสตาร์ทอัปอนาคตไกลหลากหลายผ่านการควบรวมหรือร่วมทุน เป้าหมายของเอเซอร์คือการเพิ่มส่วนแบ่งธุรกิจโซลูชันให้มีสัดส่วน 50% เท่ากับรายได้จากธุรกิจฮาร์ดแวร์คอนซูเมอร์ เป้าหมายนี้เป็นฝันของเอเซอร์ทั่วโลก จากขณะนี้ที่สัดส่วนรายได้ธุรกิจคอนซูมเมอร์ยังสูงกว่า คิดเป็น 70 ต่อ 30
แม้กลยุทธ์ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ผู้บริหารมองว่าสิ่งใหม่ที่เอเซอร์จะทำในปีนี้คือการเริ่มต้นในเฟสใหม่ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าเอเซอร์กำลังรุกหนักมากขึ้นบนกลยุทธ์ที่ดำเนินต่อเนื่อง เบื้องต้นเอเซอร์ไม่เปิดเผยตัวเลขการลงทุนในปีนี้ แต่ยืนยันว่าการแข่งขันในตลาดโซลูชันเพื่อสถานศึกษานั้นไม่ดุเดือดเหมือนตลาดฮาร์ดแวร์ เพราะในตลาดโซลูชัน "ยังไม่มีใครบอกว่าพร้อมให้บริการเหมือนเอเซอร์"
เอเซอร์ระบุว่าความพร้อมในการซื้อโซลูชันของแต่ละสถานศึกษานั้นขึ้นอยู่กับแต่ละแห่ง โดยหลายโปรเจ็กต์ของเอเซอร์เกิดขึ้นแล้วนอกกรุงเทพมหานครและในโรงเรียนนานาชาติหลายแห่ง เบื้องต้นยังไม่เปิดเผยแผนบุกตลาดใหม่นอกเหนือจากโซลูชันสถานศึกษา เนื่องจากเอเซอร์ต้องการทำตลาดทีละเซกเมนต์ ผ่านพาร์ทเนอร์ปัจจุบันทั้งกลุ่มผู้วางระบบหรือ SI และพันธมิตรในท้องถิ่นหรือโลคัลพาร์ทเนอร์
เอเซอร์ระบุว่าในบางโปรเจ็กต์ เอเซอร์สามารถเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงให้มหาวิทยาลัยได้ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะเปิดการเรียนการสอนในคณะอีสปอร์ตได้ ขณะที่บางมหาวิทยาลัย เอเซอร์สามารถขายเซ็นเซอร์ให้กับมหาวิทยาลัยที่ต้องการนำไปใช้ในงานวิจัยในพื้นที่ นอกจากนี้ สถานศึกษาที่มีงบน้อย ก็สามารถใช้โซลูชันเอเซอร์ ในการจัดการห้องแล็ป แทนที่จะต้องเปลี่ยนเครื่องเพื่อเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรใหม่อย่าง AI
สำหรับตลาดคอนซูเมอร์ที่เอเซอร์มองว่าเริ่มอยู่ตัวแล้ว เอเซอร์วางหมากรักษาธุรกิจเดิมด้วยการบุกตลาดนิช (niche) อย่างตลาดที่ต้องการเครื่องสมบุกสมบันเป็นพิเศษ โดยจะเปิดตัวสินค้าใหม่ชื่อแบรนด์ "เอเซอร์ เอ็นดูโร" (Acer Enduro) คาดว่าจะบุกตลาดผู้ใช้ในโรงงาน หรือแท่นขุดเจาะ บนจุดยืนของสินค้ากลุ่มนี้ที่จะเหมือนกับแบรนด์คอนเซ็ปต์ดี (ConceptD) ที่เอเซอร์เปิดตัวเมื่อปลายปี 62 คือการไม่เน้นจำหน่ายในราคาที่ต่ำมาก
ผู้บริหารยอมรับว่าราคาเฉลี่ยสินค้าเอเซอร์ในขณะนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยขณะนี้ เอเซอร์มีส่วนแบ่งในตลาดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กพกพาราว 31-32% เป็นสัดส่วนที่คงที่จากตัวเลขในปีที่ผ่านมา
***พีซีไม่ตาย
สำหรับเทรนด์ในตลาดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก "สุพงศ์ ตั้งตรงเบญจศีล" รองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจค้าปลีกมองว่าตลาดจะเน้นที่คอมพิวเตอร์บางและเบามากขึ้น ขณะที่ตลาดเกมจะยังขยายตัวต่อไป โดยเชื่อว่าจะแข่งขันที่ราคามากขึ้น ซึ่งเอเซอร์ยังไม่เน้นสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟนเกมมิ่ง เนื่องจากมั่นใจว่าคอเกมจะต้องการเพลิดเพลินกับหน้าจอใหญ่มากกว่าจอเล็กบนโทรศัพท์มือถือ
ที่สุดแล้ว เอเซอร์ยอมรับว่าการเปลี่ยนจากบริษัทจำหน่ายฮาร์ดแวร์คอนซูเมอร์ ไปเป็นบริษัทให้บริการโซลูชั่นสำหรับองค์กร ถือเป็นความท้าทายหลักของเอเซอร์ในปีนี้ ทำให้บริษัทต้องเน้นการสื่อสาร และต้องพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถทำได้ดีแค่ไหน
สำหรับปัญหางบประมาณภาครัฐที่คงค้างมานาน เอเซอร์มองว่าเป็นความท้าทายในระยะสั้นที่อาจต้องอาศัยการวางแผนที่ดีขึ้น สำหรับกำลังซื้อ เอเซอร์มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่ากำลังซื้อในตลาดพีซีปีนี้กำลังหดหายเพราะวิกฤตไวรัสโคโรน่า และเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้นในเร็ววัน
แต่ยังไงก็ยังต้องหาทางดิ้นไว้ก่อน ให้มั่นใจว่าบริษัทยังเติบโตได้ต่อเนื่อง.