xs
xsm
sm
md
lg

“เฟสบุค” เข้าพบ “กมธ.ดีอีเอส” 24 ก.พ.นี้ หารือป้องกันใช้สื่อโซเชียลกับความรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
“เศรษฐพงค์” เผย “เฟสบุค” เข้าพบ “กมธ.ดีอีเอส” 24 ก.พ.นี้ หารือป้องกันใช้สื่อโซเชียลกับความรุนแรง แนะ “เฟสบุค” จริงใจร่วมอยู่ภายใต้องค์กรกำกับดูแลของไทย จี้ “รบ.-ก.ดีอีเอส-กสทช.” เร่งศึกษาออกกฎหมายควบคุมสื่อโซเชียลโดยเฉพาะ

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าวันที่ 24 ก.พ.นี้ ทางตัวแทนของเฟสบุค ซึ่งเดินทางมาจากประเทศสิงคโปร์ จะได้เข้าพบกับ กมธ.ดีอีเอส นำโดย น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานกมธ.ดีอีเอส และตนเอง เพื่อร่วมกันหารือถึงแนวทางและมาตรการป้องกันการใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่ไม่เหมาะสมในสถานการณ์เหตุร้ายที่รุนแรง โดยเราจะได้สอบถามถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้เฟสบุคที่เป็นคนไทย นั้นได้เก็บอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ในประเทศหรือต่างประเทศ อีกทั้งการที่เฟสบุคเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการด้านการสื่อสารคอนเท้นท์ที่มีทั้งรูปแบบข้อความ เสียง และภาพ ซึ่งให้บริการเหมือนกับเป็นโทรทัศน์ช่องหนึ่งไปแล้วนั้น ทางเฟสบุคควรจะต้องมีการรับใบอนุญาตจากองค์กรกำกับดูแลของไทยเหมือนสื่ออื่นๆของประเทศไทยด้วย

“ตรงนี้เรามีความชัดเจนว่าอยากให้ทางเฟสบุค ได้นึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีการใช้เฟสบุคในการเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่ผ่านการกลั่นกรอง ซึ่งยากจะควบคุม เพราะใครก็สามารถถ่ายทอดสดได้แม้กระทั่งคนร้ายเอง ดังนั้นหากเฟสบุคจริงใจให้ความเคารพกฎหมายของไทย เข้ามาอยู่ภายการองค์กรกำกับดูแล เข้ามาช่วยกันวางมาตรการป้องกัน ก็จะถือว่าเป็นการช่วยสังคมส่วนร่วม ทำให้เกิดความมั่นใจ ความปลอดภัยในการใช้สื่อโซเชียลหลังจากนี้” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ขณะที่ในด้านกฎหมายแม้ประเทศไทยจะยังไม่มีกฎหมายที่ควบคุมเฉพาะเจาะจงไปที่สื่อโซเชียล ตรงนี้เราขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสำนักงาน กสทช. ที่จะต้องช่วยกันให้ความสำคัญผลักดันให้มีกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งมีตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น ในสหภาพยุโรปกำลังพิจารณาบทลงโทษในวิดีโอที่มีเนื้อหารุนแรง โดยเฉพาะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจะต้องเสียค่าปรับ หากไม่ลบเนื้อหาออกภายในหนึ่งชั่วโมง และได้นำเสนอ “กฎการคุ้มครองข้อมูลทั่วไป” หรือ General Data Protection Regulation (GDPR) ที่กำหนดกฎเกณฑ์สำหรับบริษัทต่างๆ รวมถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ในการจัดเก็บ และการใช้ข้อมูลของผู้คน ส่วนที่ออสเตรเลียก็มีกฎหมาย Sharing of Abhorrent Violent Material Act ในปี 2019 ได้กำหนดบทลงโทษทางอาญาให้กับบริษัทโซเชียลมีเดีย โดยอาจลงโทษด้วยการจำคุกสำหรับผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสูงถึง 3 ปี และโทษปรับเงินมูลค่าสูงถึง 10% ของมูลค่าผลประกอบการทั่วโลก เป็นต้น ดังนั้นหากประเทศไทยสามารถทำกฎหมายควบคุมเฉพาะโซเชียลมีเดียให้เกิดขึ้นได้โดยเร็วก็จะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตและทรัพย์ของประชาชนอย่างมาก.


กำลังโหลดความคิดเห็น