xs
xsm
sm
md
lg

เน็ตแอพชูโซลูชัน AI รับ พรบ. ข้อมูลส่วนบุคคล ปลื้มปี 62 ยอดขายโตกระฉูด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จากซ้าย วีระ อารีรัตนศักดิ์ และกิตติ์ ชสิธภนญ์
เน็ตแอพ (NetApp) รับกระแสองค์กรไทยตื่นตัวใช้คลาวด์ร้อนแรงมากจนทำให้ยอดขายปี 62 ที่ผ่านมาเติบโตอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ส่วนปี 63 เห็นแต่สัญญาณบวกจาก 3 เทรนด์แรงเรื่องดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน, 5G และ พรบ. ข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะทำให้ตลาดไทยคึกคักต่อเนื่องในปีนี้ แย้มกลยุทธ์หลักคือลุยตอบโจทย์องค์กรที่อยากทำไพรเวทคลาวด์และองค์กรรอบคอบที่คิดเผื่อกรณีออกจากคลาวด์ได้แบบไร้ผลกระทบ ขณะเดียวกันก็เอาใจองค์กรด้วยการคลอดโซลูชันฟรีเพื่อรับมือความเสี่ยงจาก พรบ. ข้อมูลส่วนบุคคล ให้สามารถสแกนหาข้อมูลบัตรเครดิตหรือรายละเอียดส่วนตัวลูกค้าที่อาจหลงเหลือหรือกระจายอยู่ในมัลติคลาวด์และทั่วเครือข่ายได้ด้วย AI

นายวีระ อารีรัตนศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็ตแอพ ประจำประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซียและประเทศไทย กล่าวว่า 3 เทรนด์ที่จะทำให้ตลาดดาต้าไทยคึกคักในปีนี้คือดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการทำให้ไอทีเป็นเครื่องมือเพื่อการแข่งขัน และนำเอาดิจิทัลมาหนุนธุรกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด เทรนด์นี้ทำให้องค์กรตื่นตัวทำทรานสฟอร์เมชันเร็วขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นจะถูกกลืนไปกับองค์กรที่ไม่ทำ

เทรนด์ที่ 2 คือ 5G ที่จะผลักดันตลาดดาต้าแบบยิ่งใหญ่ เพราะเครือข่ายรับส่งข้อมูล 5G จะทำให้ทุกคนต้องปรับตัว เนื่องจาก 5G เปิดให้มีความสร้างสรรค์ใหม่เกิดขึ้นมากกว่ายุค 3G และ 4G ซึ่งเคยทำได้แบบไม่เรียลไทม์ ดังนั้นเมื่อ 5G ทำได้ ก็อาจจะเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งสำหรับบริษัทที่ไม่ปรับตัว ขณะที่เทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มเมอร์หรือการแพทย์ทางไกล จะเป็นทั้งโอกาสและภัย เพราะถ้าธุรกิจไม่สามารถปรับตัว ก็อาจจะเป็นรองคู่แข่งที่ทำได้ดีกว่า ขณะที่เทรนด์ที่ 3 คือ พรบ. ข้อมูลส่วนบุคคลที่จะประกาศใช้พฤษภาคม 63 ซึ่งเน็ตแอพเชื่อว่าจะเป็นประเด็นสำคัญของวงการไอทีไทยในปีนี้และปีต่อไป

“5G นั้นแบนด์วิธใหญ่มาก ไม่ต้องประมวลผลเฉพาะที่ส่วนกลาง แต่ทำที่ปลายทาง (เอดจ์) ได้เลย เช่น การเลี้ยงหมูหมื่นตัว เซ็นเซอร์ก็สามารถตรวจจับได้หมดที่เอดจ์ว่าต้องการหมูน้ำหนักเท่าไหร่เพื่อนำไปขาย ทำให้ 5G วิเคราะห์ได้ว่าหมูตัวไหนเข้าข่าย 5G จะเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันได้”


คลาวด์ต้องผสม

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้คือองค์กรหันมาใช้คลาวด์ ซึ่งมีพัฒนาการจากการตั้งเซิร์ฟเวอร์เครือข่ายข้อมูลที่บริษัทหรือออนพรีมิส แต่ทำให้มีการผสมผสานเป็นไฮบริดคลาวด์ เพราะบางข้อมูลไม่สามารถนำไปเก็บไว้บนคลาวด์ได้ เช่นข้อมูลภาครัฐที่นำไปเก็บต่างประเทศไม่ได้ เทรนด์จึงมาที่ไฮบริดมัลติคลาวด์ สำคัญเพราะองค์กรสามารถเลือกใช้คลาวด์หลากหลายได้ตามประโยชน์ที่ใช้งาน

“วันนี้ไม่มีใครใช้งานแบบ 100% บนคลาวด์ตัวเดียว โดยจะต้องเคลื่อนย้ายข้อมูลไปไว้ที่ไหนก็ได้ การทำงานนี้เรียกว่าดาต้าแฟบริค (Data Fabric) ซึ่งเน็ตแอพเป็นผู้ให้บริการโซลูชันจัดการข้อมูลบนมัลติไฮบริดคลาวด์เจ้าเดียวที่ให้บริการ Data Fabric บน 3 คลาวด์ใหญ่ของโลก ทั้ง Azure, Google และ AWS”

ทั้ง 3 เทรนด์ทำให้เน็ตแอพมี 3 บริการมาตอบโจทย์ หนึ่งในนั้นคือคีย์สโตน (NetApp Keystone) ให้บริการทุกอย่างเป็นคลาวด์แต่อยู่บนออนพรีมิส ตอบข้อจำกัดของภาครัฐ เพราะข้อมูลยังอยู่ในองค์กร ผู้บริหารเน็ตแอพชี้ว่าบริการนี้มีความต้องการ เพราะในช่วงที่มีความกังวลไม่เชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย แต่องค์กรก็ยังอยากจ่ายค่าระบบไอทีเท่าที่ใช้งาน ไม่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์เผื่อในรอบเดียวเหมือนที่เคย กลายเป็นบริการไพรเวทคลาวด์ที่เน็ตแอพจะคิดค่าบริการตามการใช้งาน สามารถขยายได้ตามต้องการ เป็นการทำให้ออนพรีมิสมีความสามารถเป็นบริการหรือแอสอะเซอร์วิส (aaS)

วีระ อารีรัตนศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็ตแอพ ประจำประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซียและประเทศไทย
อีกบริการคือ Data Fabric โซลูชันที่เน้นตอบเทรนด์เรื่ององค์กรอาจสับสนว่าข้อมูลถูกเก็บในคลาวด์ไหน จุดนี้ผู้บริหารเน็ตแอพอธิบายว่าคลาวด์เป็นปัจจัยสำคัญให้องค์กรมีพื้นที่พัฒนานวัตกรรมได้มาก ดังนั้นหากมีการวางแผนรองรับวันที่ต้องจัดให้ข้อมูลข้ามค่ายตคลาวด์ได้ องค์กรก็จะทำได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ความซับซ้อนเริ่มเพิ่มขึ้นเพราะคลาวด์เป็นไฮบริดจ์ แถมยังมีเอดจ์คอมพิวติ้ง เน็ตแอพจึงขยายบริการ Data Fabric ที่นอกจากคลาวด์แล้วยังครอบคลุมเอดจ์ได้ด้วย ซึ่งแม้ 5G จะมีแบนวิดธ์สูง แต่เน็ตแอพมองว่าจะปลอดภัยและรัดกุมกว่าถ้ามีการเก็บข้อมูลที่เอดจ์ด้วย โดยให้เอดจ์เป็นส่วนตัดสินใจว่าข้อมูลใดควรยิงขึ้นคลาวด์ แก้ปัญหาเน็ตเวิร์กหายไปแล้วระบบทำอะไรไม่ได้เลย

“ก่อนนี้เข้าใจว่าข้อมูลขึ้นคลาวด์แล้วไม่กลับมา แต่ Data Fabric จะทำให้กลับมาได้ ปัญหาคือองค์กรยังดูแต่ต้นทุนการนำข้อมูลขึ้นไปเก็บบนคลาวด์ จึงควรนึกถึงต้นทุนการดึงข้อมูลออกด้วย เพราะเป็นต้นทุนใหญ่มาก ต้นทุนการดึงข้อมูลออกไม่มีสัดส่วนตายตัว แต่ต้องประเมินเมื่อวางสถาปัตยกรรมข้อมูล องค์กรที่เลือกคลาวด์เพราะราคาที่ต่ำ อาจจะมีต้นทุนการดึงข้อมูลออกมาสูงขึ้นแน่นอน รวมถึงความยุ่งยากมากกว่าเพราะปริมาณข้อมูลมากขึ้นกว่าช่วงแรกที่เริ่มใช้งาน”

จุดเด่นของ Data Fabric ของเน็ตแอพคือการรองรับบริษัทรายใหญ่ที่สำรองข้อมูลมากกว่า 1 ที่ Data Fabric สามารถกำหนดได้ว่าให้เก็บข้อมูลไว้หลายที่ได้ง่าย เรียลไทม์ เปลี่ยนเจ้าใช้งานคลาวด์ได้หลากหลาย ทำให้ข้อมูลที่สำรองไว้หลายที่สามารถทำงานทดแทนกันได้ทันที โดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มราว 10% แลกกับการไม่มีค่าใช้จ่ายการดึงข้อมูลออกแบบก้อนโต




ใช้ AI ตอบ พรบ. ข้อมูลส่วนบุคคล



บริการที่ 3 ที่เน็ตแอพจะชูธงในปีนี้คือคลาวด์คอมพลายแอนซ์ (Cloud Compliance) โซลูชันที่เน็ตแอพการันตีว่าสามารถตรวจจับข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าว่าหลงเหลือหรือกระจายไปถูกเก็บที่ไหนบ้าง ระบบจะติดตามรูปแบบข้อมูลตามโปรไฟล์ที่ธุรกิจต้องการ แล้วใช้ AI มาทำประเภทข้อมูล และวิเคราะห์เพื่อจับข้อมูลที่เสี่ยงเข้าข่ายความผิด พรบ. เบื้องต้นเน็ตแอพเปิดให้ลูกค้าที่ใช้บริการซอฟต์แวร์คลาวด์ของเน็ตแอพอยู่ สามารถสมัครใช้บริการ NetApp Cloud Compliance ฟรี ซึ่งต่อไปจะทำให้ระบบสามารถสแกนบนออนพรีมิสในครึ่งปีหลัง

นายกิตติ์ ชสิธภนญ์ ผู้จัดการฝ่ายเทคนิค ประจำประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศไทย กล่าวว่า พรบ. ข้อมูลส่วนบุคคลของไทยนั้นเป็นประเด็นใหญ่เพราะมีการกำหนดโทษอาญา กระแสนี้ทำให้องค์กรต้องเตรียมการรองรับเต็มที่ช่วงปีนี้และปีนี้

“ต้องคุยเยอะมากในปีหน้า เน็ตแอพแนะนำว่าองค์กรต้องเริ่มจากการแก้ปัญหา หนึ่งในนั้นคือข้อมูลที่กระจัดกระจาย หลายที่มา ข้อมูลส่วนตัวที่อาจอยู่ในแบบฟอร์มที่มีใครกรอกไว้ แล้วพนักงานเข้าถึงได้ ทั้งไฟล์เอ็กซ์เซลหรือเวิร์ด บางครั้งไฟล์ก็อาจกระจายไปบนคลาวด์ด้วย การใช้ AI จับข้อมูลของ Cloud Compliance ยังไม่มีเปอร์เซ็นต์กำหนดความถูกต้องชัดเจน แต่มั่นใจได้ว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้มนุษย์ติดตามแน่นอน เป็นระบบที่ช่วยตามเก็บได้หากองค์กรมีช่องโหว่ในการวางโครงสร้างและนโยบายช่วงก่อนมีกฏหทมาย”



กิตติ์ ชสิธภนญ์ ผู้จัดการฝ่ายเทคนิค ประจำประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศไทย
เน็ตแอพยกตัวอย่างกรณีที่ลูกค้าร้องเรียน ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าอาจหลงไปกับระบบอื่นนอกจากไฟล์ประวัติ ยังมีข้อมูลกลุ่มเสี่ยงอื่นทั้งข้อมูลบัตรเครดิต อีเมล ข้อมูลหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และอื่นๆ ซึ่งอาจหลุดรอดนโยบายการยินยอมให้เก็บและใช้ข้อมูลของลูกค้า

ผู้บริหารยอมรับว่า Cloud Compliance ไม่ใช่คำตอบทั้งหมดขององค์กรเพื่อรับมือ พรบ. ข้อมูลส่วนบุคคล เพราะเป็นเพียงเครื่องมือที่ตรวจสอบหาข้อมูลที่หลุดออกไป อย่างไรองค์กรก็ต้องมีกระบวนการจัดการข้อมูลหลัก โดยกลุ่มเสี่ยงมากคือสตาร์ทอัป

“สตาร์ทอัปเสี่ยงมากเพราะเก็บข้อมูลเต็มที่ และพยายามวิ่งไปข้างหน้าให้เร็วที่สุด ก็อาจมีอะไรหลุดรอดไป องค์กรดั้งเดิมอาจจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะรายใหญ่มีแผนงานและมีนโยบายเก็บข้อมูลชัดเจน แต่ก็ยังเสี่ยงเพราะพนักงานจำนวนมาก ขณะที่เอสเอ็มอีอาจจะเสี่ยงน้อยกว่าเพราะพนักงานน้อยกว่า แต่ก็อาจเสี่ยงถ้ามีการกลั่นแกล้ง”

เน็ตแอพย้ำว่าปี 62 ที่ผ่านมา ยอดขายของบริษัทเติบโตสูงสุดเพราะภาพของ Data Fabric ที่ตอบแนวโน้มทรานฟอร์เมชัน สำหรับปีนี้ยังไม่เห็นผลกระทบแง่ลบ เชื่อว่าส่วนธุรกิจที่เติบโตมากคือกลุ่มองค์กรธนาคาร ภาคการผลิต และภาครัฐ ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ตลาดที่เติบโตสูงด้วยนโยบายไทยแลนด์ 4.0


กำลังโหลดความคิดเห็น