xs
xsm
sm
md
lg

ดับบลิวเอชเอฯ ทุ่มพันล้านลงระบบสื่อสาร-ดาต้า เซ็นเตอร์ รับ 5G

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไกรทส องค์ชัยศักดิ์
ดับบลิวเอชเอฯ ขานรับโรงงาน 4.0 หนุนลูกค้าดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันองค์กร ทุ่มกว่า 1,000 ล้านบาท วางระบบไฟเบอร์ออปติกถึงโรงงานลูกค้าโดยตรง พร้อมเลือก ชไนเดอร์ อิเล็คทริค สร้างดาต้า เซ็นเตอร์รับการบริหารจัดการข้อมูลยุคใหม่ แย้ม เตรียมเงินลงทุน 5G แน่นอน หวังสร้างบริการตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าแบบบีทูบี

นายไกรทส องค์ชัยศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินโฟนิท จำกัด ธุรกิจในกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อ 4-5 ปีก่อน บริษัทเล็งเห็นความสำคัญในการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไปสู่ดิจิทัล จึงต้องมีการวางนโยบาย ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือต้องมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรองรับบริการดิจิทัล ควบคู่กับระบบการบริหารจัดการและการเก็บข้อมูลที่ดี เพื่อประโยชน์ในการสร้างบริการดิจิทัล ดับบลิวเอชเอฯ จึงได้ทุ่มเงินกว่า 1,000 ล้านบาทในการทยอยลงทุนทั้งด้านการวางไฟเบอร์ออปติกความเร็วสูงถึงโรงงานของลูกค้าโดยตรง และการสร้างดาต้า เซ็นเตอร์ เพื่อให้บริการลูกค้า

'เมื่อก่อนเวลาลูกค้าจะขยายโรงงานมักจะถามเรื่องระบบน้ำ ไฟ แต่ปัจจุบันสิ่งที่ลูกค้าถามคือ อินเทอร์เน็ต มีไหม เร็วไหม เมื่อก่อนมีข้อจำกัดเรื่องผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีน้อย เข้าไม่ถึง เราจึงต้องลงทุนให้ลูกค้าเอง ซึ่งลูกค้าของเรา 70% จาก 900 บริษัทเป็นต่างชาติ โดยเราได้วางโครงข่ายไฟเบอร์ไปยังลูกค้าแล้ว 40% และมีแผนลงทุนหลาย 100 ล้านบาทเพื่อให้มีไฟเบอร์ให้ครบ 90% ภายในปีนี้'


นอกเหนือจากการวางไฟเบอร์ออปติก บริษัท ก็นำเสนอดาต้า เซ็นเตอร์ยุคใหม่ให้ลูกค้าด้วย ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีดาต้า เซ็นเตอร์ 4 แห่ง คือ ดาต้า เซ็นเตอร์ที่เข้าไปถือหุ้นกับบริษัทอื่น 2 แห่ง ประกอบด้วย ซุปเปอร์แนป ประเทศไทย ที่ จ.ชลบุรี กับ เจเนซิส จ.สมุทรปราการ และที่สร้างเอง 2 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณ ห้าแยกลาดพร้าว กรุงเทพฯ และ จ.สมุทรปราการ ซึ่งบริษัทเลือก ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ในการออกแบบระบบทั้งหมด ด้วยการใช้ อีโคสตรัคเจอร์ สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ แพลตฟอร์มที่มีนวัตกรรมครบวงจรทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ การเชื่อมต่อผลิตภัณฑ์ (Connected Products) ระบบควบคุมปลายทาง (Edge Control) และในระดับแอปพลิเคชัน การวิเคราะห์ รวมถึงการบริการ (Apps/Analytics/ Services)




โซลูชั่น อีโคสตรัคเจอร์ สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ ของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ช่วยให้สามารถควบคุมดูแลกระบวนการทำงานต่างๆ ได้อย่างเต็มรูปแบบผ่านโครงสร้างของอีโคสตรัคเจอร์ ในระดับต่างๆ ตั้งแต่การเชื่อมต่อผลิตภัณฑ์ไปจนถึงระดับระบบควบคุมปลายทาง ที่ใช้งานง่าย มีความคล่องตัวและปลอดภัย ด้วยความสามารถในการมอนิเตอร์และรับการแจ้งเตือนผ่านสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา

นอกจากนี้ในระดับของแอปพลิเคชัน การวิเคราะห์ และการบริการ ดับบลิวเอชเอ อินโฟนิท ใช้ อีโคสตรัคเจอร์ แอสเสท แอดไวเซอร์ (EcoStruxure Asset Advisor) ซึ่งเป็นบริการตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบต่างๆ จากข้อมูลที่ได้รับจากเซ็นเซอร์แบบเรียลไทม์ ช่วยในการวิเคราะห์เชิงพยากรณ์และรวมไปถึงการแจ้งเตือนอัจฉริยะส่งตรงถึงอุปกรณ์สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ด้วยข้อมูลเชิงลึกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการของดาต้าเซ็นเตอร์ได้อย่างต่อเนื่อง

ชไนเดอร์ อิเล็คทริคยังให้บริการ Critical Facility Operations ซึ่งเป็นบริการที่มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล ดำเนินการ และการแก้ไขปัญหาให้แก่ดาต้าเซ็นเตอร์ของดับบลิวเอชเอฯ เพื่อให้มีความพร้อมในการให้บริการวันละ 24 ชั่วโมง ตลอดทั้งสัปดาห์ พร้อมรายงานและการรับประกันตามมาตรฐานระดับโลก ซึ่งในภาพรวมสามารถประหยัดการใช้พลังงานได้ถึง 15% และช่วยให้ระบบมีความพร้อมใช้งานแบบ 100%


นายไกรทส กล่าวว่า นอกจากไฟเบอร์ออปติก ที่บริษัทลงทุนเพื่อให้การเชื่อมต่อสมบูรณ์แบบแล้ว บริษัทยังได้เตรียมเงินลงทุนในการพัฒนาระบบ 5G เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Robotics, AI, IoT, Cloud Computing, Big Data โดยมีเป้าหมายภายในปี 2567 จะเป็นผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ครบวงจร (Iaas, PaaS, SaaS) และเป็นผู้นำดาต้าเซ็นเตอร์ด้านเฮลธ์แคร์ของโลก สอดรับกับการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการออกใบรับรองดาต้า เซ็นเตอร์ ด้านเฮลธ์แคร์ระดับโลกที่เริ่มมีแล้ว

นอกจากนี้ บริษัทกำลังขอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เพื่อเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชันบริการ 5G ซึ่งขณะนี้ได้พัฒนาไว้บ้างแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตจากกสทช.ในการเป็นผู้ทดลอง ทดสอบระบบ5G แบบแซนด์บ็อกซ์ เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเรื่อง 5G แล้ว ไม่ว่าจะเป็น กสทช.,ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) , กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ต่างก็พูดเรื่อง 5G ในเรื่องของความเร็ว หรือ แอปพลิเคชันที่ออกมาก็ไม่ได้ตอบโจทย์การใช้งานในเชิงธุรกิจ บริษัทซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมจึงต้องการทดลอง ทดสอบ เพื่อให้ได้บริการที่ตรงกับความต้องการเชิงธุรกิจแบบบีทูบี จึงตัดสินใจขอใบอนุญาตทำเอง ดังนั้นก็ต้องรอดูว่าโอเปอเรเตอร์รายไหนจะประมูลคลื่น 5G ได้ และได้คลื่นไหนบ้าง เพื่อร่วมมือกันทำบริการเชิงพาณิชย์ต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น