xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“Team Red Bull” ชำแหละเครือข่ายช่วย“เสี่ยบอส” “ผู้มากบารมี” อุ้ม “ยุติธรรม” ง่อย ถึงเวลารื้อ “ตำรวจ - อัยการ” ถอนราก “ทนายแผ่นดิน” แดนสนธยา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายประเด็นร้อนฉ่า พร้อมคำถามดังๆ ถึงกระบวนการยุติธรรม “ต้นน้ำ” ที่ตัดตอนคดีจนไม่ถึง “กลางน้ำ-ปลายน้ำ”สำหรับกรณี “เสี่ยบอส” วรยุทธ อยู่วิทยา บุตรชายคนเล็กของ เฉลิม - ดารณี อยู่วิทยา และยังมีศักดิ์เป็นหลานชายของ “โกเหลียว” เฉลียว อยู่วิทยา มหาเศรษฐีเจ้าของอาณาจักรกระทิงแดงผู้ล่วงลับ

โดย “วรยุทธ” สร้างวีกรรม “เป้าหมายมีไว้พุ่งชน” ตามสโลแกนธุรกิจกงสี จนตกเป็นข่าวใหญ่ และมีคดีความติดตัว ตั้งแต่เมื่อเช้ามืดของวันที่ 3 ก.ย.2555 ที่ “เสี่ยบอส” ในวัยหนุ่มกระทง 27 ปีเวลานั้น ควบเก๋งเฟอร์รารี รุ่นพินินฟาริน่า (FF) สีบรอนซ์เทา ทะเบียน ญญ 1111 กรุงเทพมหานคร ด้วยความเร็วสูง พุ่งชน “ดาบวิเชียร” ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ ป.สน.ทองหล่อ ซึ่งออกมาปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนด้วยรถจักรยานยนต์ จนลากร่างของ “ดาบวิเชียร” ไปกว่า 200 เมตร จากปากซอยสุขุมวิท 47 ไปถึงปากซอยสุขุมวิท 49 จน “ดาบวิเชียร” ดับอนาถในที่เกิดเหตุ ส่วน “ทายาทกระทิงแดง” หลบหนีไปจากจุดเกิดเหตุ กลับเข้าบ้านพักภายในซอยสุขุมวิท 53

ผ่านมา 7 ปีกับอีก 10 เดือน ปรากฏว่า “อัยการ” สั่งไม่ฟ้อง “วรยุทธ” ใน “ทุกข้อหา” ก่อให้มีกระแสวาทกรรม “ค้อนแพ้กระดาษ - คุกมีไว้ขังคนจน” เดือดร้อนกันไปทั่วทุกหัวระแหง ตั้งแต่รัฐบาล จนถึงกระบวนการยุติธรรม “ต้นน้ำ-กลางน้ำ” ชั้น “ตำรวจ-อัยการ” พ่วงไปถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการป้องกันปละปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ถึงขนาดที่ในทางการเมืองเปรียบกับเหตุการณ์ “ทุ่งใหญ่นเรศวร” ปฐมบทของเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 เลยทีเดียว หากรัฐบาลไม่รีบจัดการปัญหาดังกล่าว เพราะไม่ว่าผู้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด หรือเสพข่าวผ่านสื่อผิวเผิน ต่างรู้สึกไปในทิศทางเดียวกันว่า “ผิดเต็มประตู”

ฉายภาพให้ชัดๆ ว่า เครือข่าย “เรดบูลล์ทีม” ที่ทำงานกันเป็น “ขบวนการ” จนปล่อยให้ “เสี่ยเรดบูลล์” ลอยนวลไปในที่สุด

ทราบกันดีถึงปูมหลังของ “ตระกูลอยู่วิทยา” ผู้ครองอาณาจักรเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง ที่ถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในอภิมหาเศรษฐีที่รวยเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย ด้วยทรัพย์สินกว่าแสนล้านบาท จนมีชื่อติดอันดับอภิมหาเศรษฐีระดับโลกของนิตยสารฟอร์บด้วย

อาจจะมีความสับสนกันบ้าง เพราะสาแหรกของ “โกเหลียว-เฉลียว” มี 2 สาย จาก 2 ภรรยา บ้านแรกเป็นอยู่วิทยาที่ดูแลธุรกิจภายใต้แบรนด์ “เรดบูลล์” ในต่างประเทศ โดย “เสี่ยบอส” อยู่ในสายนี้ ส่วนอีกบ้านได้สิทธิ์ในการดูแลธุรกิจ “กระทิงแดง” ในประเทศไทยเป็นหลัก

สรุปง่ายๆ ว่า “รวยมหาศาล” ไม่ต่างกัน

ความรวยมหาศาลนั่นเองที่สามารถสร้าง “ทีมเรดบูลล์” มาอุ้ม “วรยุทธ” ให้ไม่ต้องติดตาราง แถมเด็ดขาดตัดตอนไม่ต้องถึง “ปลายน้ำ” ไม่ต้องเดินคอตกขึ้นศาลด้วยซ้ำ


เพี้ยนตั้งแต่ต้นธารยุติธรรม
ความบิดเบี้ยวของกระบวนการ นำมาซึ่งขบวนการอุ้ม “เสี่ยบอส” มีมาตั้งแต่หลังเกิดเรื่องหมาดๆ ในระดับ “ต้นน้ำ”ของกระบวนการยุติธรรม

หลังเกิดเหตุเมื่อเช้ามืดของวันที่ 3 ก.ย.2555 เมื่อตำรวจรู้แล้วว่า “เสี่ยบอส” เป็นคนขับรถชนตำรวจตายแล้ว ก็มีตัวละครอย่าง พ.ต.ท.ปัณณ์ภณ นามเมือง สารวัตรปราบปราม สน.ทองหล่อ ในขณะนั้น ที่ว่ากันว่ามีความใกล้ชิดและเป็นผู้ดูแลบ้านอยู่วิทยาหลังดังกล่าว นำตัวชายที่ชื่อ สุเวศ หอมอุบล ที่มีสถานะเป็น “พ่อบ้าน” และ “พี่เลี้ยง” ของ “เสี่ยบอส” ไปมอบตัวที่ สน.ทองหล่อ โดย “สุเวศ”รับสมอ้างว่าเมาเหล้า และเป็นคนขับรถชนตำรวจเอง

แต่ถูกจับพิรุธอย่างง่ายดายเมื่อ “พ่อบ้านสุเวศ” ไม่มีกลิ่นเหล้าติดตัว ก่อนถูกซักและสารภาพภายหลังว่า “รับผิดแทนลูกเจ้านาย”

ช่วงนั้น “บิ๊กแจ๊ด”พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายตำรวจชื่อดัง เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) อยู่ เมื่อทราบเรื่องก็เดินทางมาที่บ้านอยู่วิทยาในซอยสุขุมวิท 53 ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวกับการที่ตำรวจไปช่วยผู้ต้องหาที่ฆ่าตำรวจด้วยกัน พร้อมประกาศนำกำลังตำรวจ 200 นาย ใช้หมายค้นเข้าค้นทุกซอกทุกมุมในตัวบ้าน

ก่อนพบรถเฟอร์รารี่ ญญ1111 ในสภาพยับเยิน และมั่นใจว่าเป็นรถคันเดียวกับที่ชน “ดาบวิเชียร” จนเสียชีวิต

ที่สุด “เสี่ยบอส” ต้องยอมออกมาจากบ้านในสภาพมึนเมา และสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุจริง ขณะที่ “พ.ต.ท.ปัณณ์ภณ” ที่พยายามช่วยเหลือผู้ต้องหา ถูกเด้งออกจาก สน.ทองหล่อ และถูกออกจากราชการไว้ก่อนทันที

เทียบบทบาทกรณีนี้ของ “บิ๊กแจ๊ด”ที่ประกาศกร้าวไม่ยอมให้ลูกน้องตายฟรี กับ “พ.ต.ท.ปัณณ์ภณ”ที่ยืนอยู่ข้างคนฆ่าตำรวจ ก็สะท้อนสัจธรรมในวงการ “สีกากี” ที่ว่ากันว่า “ตำรวจดีมีเยอะตำรวจเลวก็ไม่น้อย”

แต่แม้จะดู “เลวร้าย” ในสายตาคนภายนอก แต่กับ “บ้านอยู่วิทยา” แล้ว “พ.ต.ท.ปัณณ์ภณ” กลายเป็น “ผู้มีพระคุณ”หรือ “บ่าวที่ซื่อสัตย์” อย่างแน่นอน

และด้วยฝีมือ หรืออิทธิฤทธิ์ “เทพเจ้ากระทิงแดง”หรืออย่างไรไม่ทราบได้ เพียงเดือนเดียวจากนั้นชื่อ “พ.ต.ท.ปัณณ์ภณ”ก็ไปโผล่อยู่ที่สารวัตรปราบปราม สน.บางบอน ก่อนขยับไปใหญ่ขึ้นที่รองผู้กำกับการสอบสวน สน.ท่าเรือ ใกล้ๆกับถิ่นเก่า

ตัดกลับมาที่วันเกิดเหตุ หลังได้ตัว “วรยุทธ”ที่รับสารภาพแล้ว ก็ถูกนำตัวไปตรวจวัดค่าแอลกอฮอล์ในร่างกาย ปรากฏว่ามีค่าแอลกอฮอล์เกินกว่ากฎหมายกำหนด แต่เจ้าตัวอ้างว่า “ดื่มหลังขับ” เมื่อรู้ตัวว่าขับรถชนจึงเกิดอาการเครียด แล้วกินเหล้า

น่าสนใจกว่านั้นคือผลการตรวจเลือด โดยโรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่าในร่างกายของ “เสี่ยบอส”มีสารเสพติดโคเคน ทว่าใน “สำนวนตำรวจ” ที่ทำคดีภายหลัง กลับไม่มีข้อมูลในส่วนนี้รวมอยู่ด้วย

นอกจากนั้นยังมีประเด็น “ขาดอายุความ” ที่ระบือลือลั่น จากวันนั้นที่ สน.ทองหล่อ แจ้งข้อหา “บอส-วรยุทธ” ทั้งหมด 5 ข้อหา ได้แก่ ขับรถขณะมึนเมา (อายุความ 5 ปี), ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด (อายุความ 1 ปี), ขับรถโดยประมาททำให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย (อายุความ 1 ปี), ขับรถชนแล้วหนี ไม่ช่วยเหลือ (อายุความ 5 ปี) และขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (อายุความ 15 ปี)

ก่อนที่ “วรยุทธ” จะขอประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 500,000 บาท ซึ่งทางตำรวจอนุญาต แม้จะมีข้อสังเกตว่าคดีมีโทษหนักพอสมควร อาจทำให้ผู้ต้องหาหลบหนีได้ก็ตาม

ตลอดระยะเวลาหลายปีหลังเกิดเหตุ ขั้นตอนการดำเนินคดีเป็นไปอย่าง “ต๊วมเตี๊ยม” อย่างผิดปกติ ทั้งที่ในวงการพูดกันว่า คดีขับรถชนคนตาย ที่มีหลักฐานชัดเจน มีภาพจากกล้องวงจรปิด และผู้ต้องหาให้การรับสารภาพในชั้นต้น สามารถสรุปจบได้ไม่เกิน 3 เดือน รวบรวมพยานหลักฐานสั่งฟ้องได้ทันที

แต่คดี “บอส อยู่วิทยา” ลากกันมาได้ถึงเกือบ 8 ปี สำคัญที่จบแบบเจ็บๆเสียด้วย

ว่ากันว่า ตลอดระยะเวลาที่สอบสวนในชั้นตำรวจเป็นไปอย่างล่าช้านั้น เพราะมีการเปลี่ยนตัวชุดสอบสวนหลายชุด เพื่อที่จะได้ชุดที่ “ใจกล้า”ที่สุด

และที่สำคัญต้อง “หน้าด้าน” ที่สุดด้วย

ซึ่งก็ได้ผล เมื่อความล่าช้าที่ไม่สนใจหลัก “ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความไม่ยุติธรรม” นั้น ทำให้ 2 ใน 5 ข้อหา ในส่วนของข้อหาขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และขับรถโดยประมาท “ขาดอายุความ” ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.2556 หรือ 1 ปีให้หลังเกิดเหตุ

ก่อนหมดอายุความยังพบพฤติการณ์ของ “ตำรวจบางคน” ที่พยามช่วยเหลือ “บอส กระทิงแดง” อย่างสุดฤทธิ์ ในการปัดเป่าพยาน-หลักฐานที่เป็น “ผลลบ” ต่อคดี เช่น ความเห็นของกองพิสูจน์หลักฐาน เมื่อตรวจสภาพรถ และกล่องดำ “ฟันธง” ว่าขับขี่ด้วยความเร็วสูง แต่พนักงานสอบสวนกลับไม่นำมาใช้ประกอบสำนวน เลือกใช้บริการของผู้เชี่ยวชาญกองบังคับการตำรวจจราจร อันเป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล

ปรากฏว่า ความเร็วเพี้ยนไปจากเดิมกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากเกือบ 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เหลือ 70 กว่ากิโลเมตรต่อชั่วโมง แบบที่ใครได้ดูคลิปกล้องวงจรปิดต้องขยี้ตาซ้ำแล้วซ้ำอีก

จนถูกมองว่าเป็นขบวนการ “ล้มคดี” ว่า “เสี่ยบอส” ขับรถกินลมชมวิวมาด้วยความเร็วปกติ


จาก “ตำรวจ” ส่งไม้ต่อ “อัยการ”
พฤติการณ์ที่ผิดปกติจากตำรวจ กลายเป็นโรคติดต่อมาถึง “อัยการ”ที่เริ่มตั้งแต่ “ประวิงเวลา” โยนสำนวนไปมาให้ตำรวจแก้ไข กว่าจะได้ฤกษ์เข้าสู่กระบวนการอีกครั้งก็ปาเข้าไปเดือน เม.ย.2559 หลังเหตุการณ์เกือบ 3 ปี

เมื่อทางตำรวจสรุปสำนวนให้ “อัยการ”สั่งฟ้อง “วรยุทธ”เพียง 2 ข้อหา คือ ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อายุความ 15 ปี โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และข้อหาไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกชน อายุความ 5 ปี โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน

ส่วนข้อหา “เมาแล้วขับ”นั้น ทางอัยการ "ไม่สั่งฟ้อง"โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีหลักฐานว่า “วรยุทธ” ดื่มเหล้าก่อนขับ หรือหลังขับ รวมถึงหลักฐานว่าเสพโคเคนจนมึนเมาก็ไม่มีอยู่ในสำนวนคดีเช่นกัน จึงยกประโยชน์ให้จำเลย

เท่ากับว่าข้ออ้าง “เมาหลังขับ”ที่ใครก็ว่าฟังไม่ขึ้น แต่อัยการในฐานะ “ทนายแผ่นดิน” กลับรับฟัง แถมเชื่อสนิทใจ

พอรับลูกมา อัยการก็แอ๊กชั่นขึงขังว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งฟ้อง ยืนยันให้ “วรยุทธ” เข้าพบเพื่อส่งฟ้อง ในวันที่ 24 มิ.ย.2559

ระหว่างนั้น “ทายาทกระทิงแดง” ที่น่าจะมี “กุนซือดี”ก็ใช้ “ลูกไม้” ขอเลื่อนคดีไปถึง 7 ครั้ง โดยอ้างว่า ป่วยบ้าง ติดภารกิจในต่างประเทศบ้าง และมีครั้งหนึ่งที่อ้างว่า อยู่ในระหว่างร้องขอความเป็นธรรมพยานในประเด็นการขับรถเร็วไปที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นอีกตัวละครสำคัญของท้องเรื่อง ที่จะไล่เรียงในลำดับต่อไป

หลังถูกเลื่อน 7 ครั้ง โดยที่ไม่หือไม่อือ “อัยการสูงสุด” ก็ได้ออกหมายเรียกให้ “เสี่ยบอส” เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเป็นครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2560 แต่ “วรยุทธ” ก็ไม่มาเช่นเดิม

และเมื่อ “วรยุทธ”ไม่ปรากฏตัว อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ต้อง “ทำตามหน้าที่”มีหนังสือถึงพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ให้รวบรวมสำนวนเพื่อขอศาลอนุมัติหมายจับ

ส่งผลให้ “บอส-วรยุทธ” จึงมีสถานะเป็น "ผู้ต้องหาหนีหมายจับของศาล" ตั้งแต่นั้น ทว่าก็มีข้อมูลอีกว่า “เสี่ยเรดบูลล์”ดัน “นกรู้”ชิ่งออกไปต่างประเทศ ก่อนหมายจับจะออกได้ไม่กี่วัน

ช่วงเดียวกันนั้น ก็มีสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า พบ “บอส กระทิงแดง” ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย มีบอดี้การ์ดล้อมหน้าล้อมหลังอยู่ที่บ้านพักหรูในย่านมหาเศรษฐีกลางมหานครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนที่จะถูกออกหมายจับจริงๆ

ไม่กี่เดือนต่อมา ข้อหาขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ไม่หยุดรถช่วยเหลือที่มีอายุความ 5 ปีก็สิ้นอายุความไปอีก 1 คดี เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2560

ตอนนั้นทั้ง “ตำรวจ-อัยการ”ต้องโร่ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าว “แก้ต่าง” กันเป็นวรรคเป็นเวร ว่ากระบวนการดำเนินคดี “วรยุทธ”เป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย

แล้วยังปลอบประโลม “สังคมไทย” ด้วยว่า ไม่ต้องห่วงจะเร่งติดตามผู้ต้องหามาเข้าสู่กระบวนการ เน้นด้วยว่า “คดีข้อหาหนัก” ยังอยู่ หมดอายุความปี 2570 นู่น

พร้อมคุยโวว่า กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการในออกหมายสีน้ำเงิน และยกระดับเป็น diffussion for red notice จนกระทั่ง กองการต่างประเทศ ได้ร้องขอไปยัง “ตำรวจสากล-อินเตอร์โพล”เพื่อออกหมายแดงในระบบของ “อินเตอร์โพล” แล้ว หากพบเห็นในประเทศใดที่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก็ดำเนินการจับกุมได้ทันที

เรื่องราวผ่านไปอย่างเงียบเฉียบ โดยที่สังคมไม่ได้ไหวตัว รู้เพียงแค่ความเคลื่อนไหวของ “เสี่ยบอส” ที่ใช้ชีวิตหรูหราตามภาษาลูกอภิมหาเศรษฐี บินรอบโลกด้วยเครื่องบินเจ็ตของเรดบูลล์ นั่งเก้าอี้วีไอพีดูการแข่งรถฟอร์มูลาวันเชียร์ทีมของตัวเอง ใช้ชีวิตในมหานครกรุงลอนดอน สลับมาที่สิงคโปร์ หรือฮ่องกง ในบางโอกาส โดยที่หมายจับอินเตอร์โพลไม่ได้สร้างความหวาดหวั่นใจให้แต่ประการได้

ได้แต่คิดแล้วก็สงสัยว่า รัฐบาลไทย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ออกแอ็กชันใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในขณะที่คดี “ลูกตาสีตาสา” คนยากจนถูกขุดขึ้นมาเปรียบเทียบโดยตลอด


เครือข่าย “บิ๊กบราเทอร์ส” พลิกคดี??

ท้ายที่สุดก็อย่างที่ทราบกันว่า อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องทุกคดีของ “เสี่ยบอส” พร้อมร่อนหนังสือไปถึงตำรวจสากลเรียบร้อยก่อนหน้านี้ร่วมเดือน เพื่อให้ถอนชื่อ “วรยุทธ อยู่วิทยา” ออกจากหมายจับสากล ก่อนที่เรื่องจะมาแดงในประเทศไทยภายหลัง จากสื่อต่างประเทศ เพราะ “ตำรวจ-อัยการ” ไม่ปริปากใดๆเลย

เรื่องราวของ “ยอดชายนายบอส” จึงถูกขุดคุ้ยในทุกแง่มุมอีกครั้ง

และครั้งนี้ชำแหละเจาะลึกไปที่ “ความฟอนเฟะ” ของสายธารกระบวนการยุติธรรม ทั้ง “ตำรวจ-อัยการ” รวมไปถึงฝ่ายอื่นอย่างกลไกฝ่ายนิติบัญญัติของ สนช. ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมทั้งองค์กรอิสระอย่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ไม่พ้นวิสัย

ในส่วนของ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ (กมธ.กฎหมายฯ) ของ สนช. ที่รับคำร้องขอความเป็นธรรมจาก “เสี่ยบอส” ยังผลให้ “คดีพลิก” ไปหลายตลบ จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่ “ทนายเสี่ยบอส” ยื่นเรื่องร้องขอความเป็นธรรมไปที่ กมธ.กฎหมายฯ สนช. หลังจากเรื่องขอความเป็นธรรมไปที่อัยการสูงสุดถูกยุติ โดยไม่นำเอาข้อเท็จจริงในส่วนของคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญ และรายงานการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญมาพิจารณาสั่งคดี โดย “ทนายเสี่ยบอส”อ้างว่า เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้รับความเป็นธรรม

เรื่องนี้ ธานี อ่อนละเอียด สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดปัจจุบัน ในฐานะอดีตเลขานุการ กมธ.กฎหมายฯ สนช. เพิ่งออกมาชี้แจงหลังเป็นเรื่องเมื่อวันที่ 29 ก.ค.63 ประมาณว่า กมธ.มีหน้าที่เพียงสอบข้อเท็จจริง โดยเชิญบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง จากนั้นได้รวบรวมผลการสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดส่งไปยังอัยการสูงสุด และอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

“ยืนยันว่าการดำเนินการของ กมธ.เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2557 ม.13 วรรคสอง และข้อบังคับการประชุม สนช. ที่ให้ สนช.ทำหน้าที่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชน และส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งถือเป็นช่องทางหนึ่งให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เรามีหน้าที่เพียงสอบหาไม่ใช่สอบสวน”

ทำไปทำมาการยื่นเรื่องต่อ กมธ.กฎหมายได้ผล เมื่อเป็น “ปัจจัยหนึ่ง” ที่ทำให้ “อัยการสูงสุด” ที่สั่งคดีไปแล้ว สั่งให้ตำรวจสอบสวนเพิ่ม จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงคำสั่งคดี เป็น “สั่งไม่ฟ้องทุกข้อหา” ในที่สุด

โดยเฉพาะประเด็น “พยานใหม่” และ “ความเร็วเฟอรารี” ที่บอกตรงกันว่า “เสี่ยบอส” ขับรถด้วยความเร็วแค่ 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

พยานใหม่คนแรกคือ “พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร” ก็มีความสนิทสนมกับ “แม่บอส” ส่วนคนที่สอง “จารุชาติ มาดทอง”อีกหนึ่งพยานใหม่ก็บังเอิญอย่างร้ายกาจที่เพิ่งมาเสียชีวิตเพราะประสบอุบัติเหตุเฉี่ยวชนบนถนนเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2563 ที่จังหวัดเชียงใหม่

และน่าสนใจที่ กมธ.กฎหมายฯชุดที่แต่งตั้งในยุค คสช. ระหว่างปี 2557-2562 มี พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน กมธ. พร้อม “บิ๊กป๊อด”พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) น้องชาย พล.อ.ประวิตร อีกคนร่วมเป็น กมธ.แล้วยังมี ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อดีตอัยการสูงสุด เป็นรองประธาน กมธ.อยู่ด้วย

หนีไม่พ้นที่เครือข่าย “บิ๊กบราเทอร์ส” ที่เรืองอำนาจในขณะนั้น ถูกมองว่าอาจเกี่ยวข้องกับผลของคดีที่เปลี่ยนแปลงไปแบบ “หน้ามือ” เป็น “หลังเท้า”จนมีคำถามตามมาว่า มีการใช้อำนาจหรืออิทธิพลนำผลสอบของ กมธ.กฎหมายฯ ไปกดดันอัยการและตำรวจหรือไม่

เพราะถ้า “ผู้มากบารมี” ไม่ช่วย เรื่องไม่มีทางเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างแน่นอน

คล้ายกลับกรณีของ ป.ป.ช. ที่มี “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน ที่เดิมก็ถูกมองว่าเป็น “เด็กบิ๊กบราเทอร์ส” อยู่แล้ว ก็มีส่วนในคดี “บอส ตีนผี” เช่นกัน เมื่อ ป.ป.ช.รับสอบสวนคำร้องเอาผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจ 11 นายฐานช่วยเหลือ “วรยุทธ” สอบกันอยู่หลายปี ที่สุดมีแค่ 7 นาย ที่ถูกชี้มูลความผิดทางวินัย “ไม่ร้ายแรง” ส่งต่อให้ สตช.ลงโทษทางวินัย โดยที่หลายคนเกษียณอายุราชการไปแล้ว

กลายเป็นว่า ตำรวจที่ช่วยคนร้ายที่ฆ่าตำรวจ และเป็นคดีดัง สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอึกทึกครึกโครม ได้รับการลงโทษ “เบาหวิว”เสมือนเป็นการ “ให้ท้าย”ตำรวจที่คิดนอกลู่บนอกทางในอนาคตก็ว่าได้


รื้อแดนสนธยาของทนายแผ่นดิน
ไล่เรียงมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ตั้งแต้ “ต้นน้ำ” เกือบถึง “กลางน้ำ” ของสายธารยุติธรรมง่อยเปลี้ยไปเสียทั้งหมด

อาจจะเป็นด้วย “อิทธิพล-อำนาจ” หรือ “ผลประโยชน์” อื่นใดก็ตามแต่

การปรากฏข้อมูลไปสู่สาธารณะ ที่ต่างก็มองว่า “ผิดปกติ” ในกระบวนการสอบสวนหลายประเด็น โดยเฉพาะ 2 พยานบุคคลในที่เกิดเหตุ ที่เพิ่งเข้ามาให้การ “พลิกคดี” หลังเกิดเรื่องไปแล้วกว่า 7 ปี จน “ผู้ตาย” อย่าง “ดาบวิเชียร” ต้องกลายมาเป็น “จำเลยที่ 2” มีความผิดฐาน “ประมาทร่วม” ไปด้วย หรือความเร็วเก๋งเฟอร์รารีที่คำนวณผิดไปเป็น 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

การปล่อยให้คดีหมดอายุความ การให้น้ำหนักกับเรื่องเมาแล้วขับ-เมาระหว่างขับ กลายเป็น “เมาหลังขับ” กระทั่งผลการเสพโคเคน ที่กลายเป็นเรื่องไม่มีน้ำหนัก ไม่ได้รับการบรรจุเข้าสู่สำนวนใดๆ หรือข้อหาขับรถเร็วที่ประจักษ์พยานมีอยู่ กลับเลือกผลการวิเคราะห์ที่ทำให้ “ดำเป็นขาว”

กลายเป็นว่า “บอส กระทิงแดง” ขับรถปกติ ไม่เมา ไม่ผิด เพราะคนตายเปลี่ยนเลนกะทันหันไปตัดหน้า เป็นเรื่องที่สุดวิสัย

สิ่งที่กระบวนการยุติธรรมทำอยู่ “ค้านสายตา” สังคมทั้งประเทศ

สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการปฏิรูปประเทศ โดยในประเด็นนี้ต้องเน้นหนักไปที่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ไม่ใช่เพียงการ “ลูบๆคลำๆ” อย่างที่ผ่านมาตลอด 5 ปี ของ คสช.ต่อเนื่องถึงปีที่ 6-7 ในยุค “รัฐบาลลุงตู่” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในส่วนของตำรวจนั้น ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แม้จะยังไม่สำเร็จเห็นผล แต่อย่างที่เขาว่ากัน “ตำรวจดีก็เยอะ ตำรวจเลวก็มี” อยู่ที่คดีนั้นๆ จะตกไปอยู่ที่มือใคร และ “ตำรวจ” เองก็ยังมีสายบังคับบัญชาผ่านฝ่ายบริหาร ที่หากมีพฤติการณ์ส่อไปในทางที่ผิด ก็สามารถให้คุณ-ให้โทษได้ตามสมควร แต่กลับกัน “ทนายแผ่นดิน” อย่างอัยการ ที่อ้างว่าเป็น “หน่วยงานอิสระ” ไม่ยึดโยง-ขึ้นตรงกับอำนาจใดๆ แทบจะเรียกได้ว่าเป็น “แดนสนธยา” กระทั่ง “นายกฯ” ยังเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ตามกฎหมาย

และยังทำตัวประดุจ “ศาล” ที่ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ก้าวล่วงได้

หลายประเด็นหากไม่ถูกจุดขึ้นมาเป็น “กระแส” โดยภาคประชาชน ก็ถูก “ซุกซ่อน” ไว้ใต้พรม เช่นเดียวกับกรณี “บอส อยู่วิทยา”ที่ขนาดมีการทวงถามโดยตลอด ยังปล่อยหลุดรอด “ขาดอายุความ” กันแบบซึ่งหน้า พอสังคมเผลอเข้าหน่อย ก็รวบรัด “ปิดจ็อบ” ไปอย่างที่เห็น

แล้วยังมี “ดุลพินิจ” ที่น่าเคลือบแคลง เปรียบเทียบเฉพาะคดี “เสี่ยบอส” ที่หลบหนีคดีไม่เคยเฉียดมาพบอัยการ กับ “เสี่ยเบนซ์” สมชาย เวโรจน์พิพัฒน์ ที่เมาแล้วขับรถเบนซ์พุ่งชนรถเก๋ง ทำให้ พ.ต.ท.จตุพร งามสุวิชชากุล เสียชีวิตพร้อมภรรยา

กรณี “เสี่ยเบนซ์” ยอมรับความผิดทุกอย่าง ประกาศเลิกดื่มเหล้า-เลิกขับรถ ชดใช้ครอบครัวผู้ตายเบ็ดเสร็จ 45 ล้านบาท พร้อมส่งเสียบุตรผู้ตายจนจบการศึกษาในระดับที่ต้องการ โดยไม่คิดหลบหนี ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 6 ปี สารภาพลดเหลือ 3 ปี โทษจำคุกรอลงอาญา 3 ปี

ในขณะที่สังคมชื่นชมในความสำนักผิดของ “เสี่ยเบนซ์” แต่ทางอัยการกลับมีคำสั่งให้อุทธรณ์ เพื่อให้ศาลพิจารณาลงโทษโดยไม่รอลงอาญา

แต่ในขณะที่สังคมก่นด่า “เสี่ยบอส” ที่ไม่แสดงอกถึงความสำนึก ครอบครัว “ดาบวิเชียร” เรียกร้องค่าเสียหาย 8 ล้านบาท ก็ต่อรองเหลือเพียง 3 ล้านบาท ทางอัยการกลับไม่ฟ้องทุกข้อกล่าวหา

ไม่ใช่แค่กรณี “กระทิงแดงตีนผี” กรณีเดียวที่ผ่านมา “องค์กรอัยการ” และ “อัยการสูงสุด” ก็ทำหน้าที่ค้านสายตา คล้ายกับมี “อิทธิพลการเมือง” ทั้ง “ครอบงำ-บงการ” อยู่โดยตลอด

หาใช่องค์กรที่คุยเขื่องว่า “ปราศจากการแทรกแซง” อย่างที่ว่า

แถมคดีใหญ่หลายคดียังมีพฤติกรรม “รู้กัน” ระหว่าง “ขาใหญ่” ในองค์กรแห่งนี้จนอดวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ เพราะมักออกไปในรูป “ปฏิบัติราชการแทนในระหว่างเดินทางไปตรวจราชการ”

ส่วน สนช. หรือ ส.ว.ที่ได้ “ตั๋วพิเศษ” เข้าสู่อำนาจ ก็ควรสำเหนียกในการทำหน้าที่ตัวแทนประชาชน มากกว่าจะหลายเป็นเครื่องมือของ “มหาเศรษฐี”ทั้งหลาย เช่นเดียวกับ ป.ป.ช.ที่เป็น “ปลายทาง” ของกระบวนการยุติธรรมในส่วนเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ควรใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือลงโทษผู้กระทำความผิดให้หลาบจำ มากกว่า “ปล่อยผี-ให้ท้าย” เหมือนหลายกรณีที่ผ่านมา

ส่วนกรรมการสอบสวนที่ตั้งๆ กันขึ้นมา แค่อาจมองได้ว่าเป็นแค่กระบวนการ “ซื้อเวลา” ของ “นายกฯตู่” แม้จะได้ปรมาจารย์อย่าง วิชา มหาคุณ มาออกหน้าให้ก็ตาม รวมไปถึงชุดที่ สตช. และทางอัยการตั้ง หรือบรรดา กมธ.ในสภาฯตอนนี้ก็แค่ “โหนกระแส” ไม่มีผลลัพธ์จับต้องได้ใดๆ

ผลสอบออกมาสุดที่อาจต้องมี “แพะรับบาป” กันบ้างทั้งตำรวจ-อัยการ ที่สุดส่งต่อไป ป.ป.ช. ทอดเวลาสอบให้เรื่องซา แล้วค่อยไปจบที่ “ผิดวินัยไม่ร้ายแรง”

ส่วนคดีการตายของ “ดาบวิเชียร” ทุกอย่าง “จบบริบูรณ์” ไปแล้ว ทั้งขั้นตอนของตำรวจ-อัยการ หรือกระทั่งทายาทของ “ดาบวิเชียร” ที่ตามข้อมูล หย่าร้างกับอดีตภรรยา โดยไม่มีทายาทด้วยกัน ส่วนพ่อแม่ “ดาบวิเชียร” ก็เสียชีวิตไปแล้วด้วย

ที่หนักไปกว่านั้นคือมีข้อมูลล่าสุดจากปากของ “ณัฐนันท์ กลั่นประเสริฐ” พี่สะใภ้ดาบวิเชียรที่ขอพูดครั้งเดียวโดยยืนยันว่าไม่ได้เงินจากตระกูล “อยู่วิทยา” จำนวน 30 ล้านบาทเพราะได้แค่เพียง 3 ล้านบาทเท่านั้น

เท่ากับว่ากระบวนการรื้อฟื้นคดี “เป็นไปไม่ได้” ครั้นจะสอบสวนแล้วได้ “อัยการ-ตำรวจ”กี่สิบคนมา “บูชายันต์” ก็ย้อนกลับมาที่คำถามสำคัญว่า “แล้วยังไง”

คำตอบของอารมณ์สังคมตอนนี้คือ “บอส กระทิงแดง”ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ไม่บิดเบี้ยวผิดเพี้ยน

อย่าตอกย้ำวาทกรรม “คุกมีไว้ขังแต่คนจน”

อย่างไรก็ตามแต่ วาระแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เย้วๆกันอยู่ ประเด็นที่ต้องบรรจุเข้าไปก่อนวาระการเมือง ก็คือวาระสังคายนากระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะระบบสอบสวน-สั่งคดี

หาหนทางทลาย “แดนสนธยา” ที่เป็นม่านหมอกที่ “อัยการ” ใช้บังหน้าให้สิ้นซาก พลิกฟื้น “องค์กรอัยการ” ให้กลับมาทำหน้าที่ “ทนายแผ่นดิน” อย่างเต็มภาคภูมิเสียที

แต่ต้องไม่ลืมว่าวันนี้อารมณ์สังคมยังคุกรุ่น กว่าจะถึงวันนั้น อาจสายเกินแกง

และต้องย้ำกันอีกครั้งว่า ถ้า “ผู้มากบารมี” ไม่ช่วย เรื่องไม่มีทางเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างแน่นอน เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครๆ จะทำได้ และเห็นๆ กันอยู่ว่า กมธ ตำรวจและอัยการนั้นอยู่ในมือของ “ใคร”

คำตอบมีอยู่แล้ว อยู่ที่ว่า “จะเอายังไง!!.เพราะวันนี้เครือข่ายบิ๊กบราเทอร์สที่ให้การช่วยเหลือ “บอส วรยุทธ” ก็ยังคงมีอำนาจอยู่ในบ้านนี้เมืองนี้และมีอำนาจมากขึ้นทุกที

คำถามมีอยู่ว่า จะ “กล้า” ทำหรือไม่ก็เท่านั้น.



กำลังโหลดความคิดเห็น