xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 26 ก.ค.-1 ส.ค.2563

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายทักษิณ ชินวัตร
1.ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก “ทักษิณ” 5 ปี คดีแปลงค่าสัมปทานเอื้อ “ชินคอร์ป” ให้นับโทษต่อจากอีก 2 คดี รวมจำคุก 10 ปี!

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม กรณีการแปลงสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป ที่จำเลยถือหุ้นอยู่ ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท

คดีนี้ โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2551 ว่า ระหว่างวันที่ 9 ก.พ. 2544 ถึง 19 ก.ย.2549 ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 วาระติดต่อกัน จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 ด้วยการเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป ซึ่งเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยให้บุคคลอื่นมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นแทน และกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม

ทั้งนี้ ระหว่างพิจารณา จำเลยหลบหนี ศาลได้สั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว ต่อมามีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ให้ศาลฎีกาฯ พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ ศาลจึงยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป กระทั่งนัดอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา

โดยศาลฯ วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 (2) ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งขณะจำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 วาระ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเลยยังคงเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ซึ่งเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยให้บุคคลอื่นมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นแทน อันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาเดียวกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 100 (2) การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว มิใช่สองกรรมตามที่โจทก์ฟ้อง

นอกจากนี้จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ได้มอบนโยบายและสั่งการให้ตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 เพื่อจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐ โดยคณะรัฐมนตรีที่จำเลยเป็นหัวหน้ารัฐบาล มีมติอนุมัติให้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราภาษีและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 68) ลงวันที่ 28 ม.ค.2546 ให้ลดพิกัดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากอัตราร้อยละ 50 เหลือร้อยละ 10 และมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ก.พ.2546 เห็นชอบแนวทางให้คู่สัญญาภาคเอกชนนำภาษีสรรพสามิตมาหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ หรือค่าสัมปทานที่คู่สัญญาภาคเอกชนจะต้องนำส่งให้คู่สัญญาภาครัฐได้

จำเลยดำเนินการดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท เอไอเอส ซึ่งได้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) ซึ่งได้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) โดยทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ชินคอร์ป ซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ให้ทั้งสองบริษัทได้รับคืนเงินภาษีสรรพสามิตที่ชำระแล้ว โดยมีสิทธินำไปหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องนำส่งให้ ทศท. และ กสท. เป็นผลให้ ทศท. และ กสท. ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเข้ามีส่วนได้เสียในกิจการโทรคมนาคม และเป็นผลให้บริษัทที่จำเลยเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ได้รับประโยชน์ อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เมื่อเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่ต้องปรับบททั่วไปตามมาตรา 157 อีก

ศาลจึงพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

ทั้งนี้ องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมาก ให้ลงโทษนายทักษิณ ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี รวมเป็นจำคุก 5 ปี โดยให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีเอ็กซิมแบงก์ และต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีหวยบนดิน ส่วนข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก หลังศาลฎีกาฯ พิพากษาดังกล่าว ได้ออกหมายจับนายทักษิณ จำเลย เพื่อมาบังคับตามคำพิพากษาแล้ว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ศาลฎีกาฯ ได้พิพากษาจำคุกนายทักษิณ ในคดีเอ็กซิมแบงก์เป็นเวลา 3 ปี และจำคุกคดีหวยบนดินเป็นเวลา 2 ปี เมื่อรวมโทษจำคุกในคดีแปลงค่าสัมปทานเอื้อชินคอร์ปนี้ อีก 5 ปี จึงรวมเป็น 10 ปี โดยไม่รอลงอาญา


2.“บิ๊กตู่” ตั้ง คกก.สอบกรณีอัยการ-ตร.สั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา” ขณะที่ “จารุชาติ” พยานปากเอก เสียชีวิตกะทันหัน!

นายจารุชาติ มาดทอง พยานปากเอกที่ทำให้นายวรยุทธ หลุดพ้นคดี
ความคืบหน้ากรณีสื่อต่างประเทศรายงานข่าวว่า อัยการสูงสุดประเทศไทยสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทแสนล้านของกระทิงแดง ข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย กรณีขับรถเฟอร์รารี่ ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2555 ทั้งที่คดีดังกล่าวยังเหลืออายุความอีกหลายปี นอกจากนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ไม่ได้เห็นแย้งกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ และดำเนินการเพื่อถอนหมายจับนายวรยุทธแล้ว ปรากฏว่า หลังข่าวดังกล่าวถูกตีแผ่ ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของอัยการและตำรวจอย่างหนัก ในลักษณะ 2 มาตรฐานในการสั่งคดีคนรวยกับคนจน บ้างก็ว่า คุกมีไว้ขังคนจน การสั่งคดีของอัยการและตำรวจในครั้งนี้ ส่งผลสะเทือนและสั่นคลอนภาพลักษณ์ของทั้ง 2 องค์กรที่เป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมอย่างมาก ชนิดที่สร้างความฉาวโฉ่ไปทั่วโลก
ต่อมา เมื่อวันที่ 26 ก.ค.นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดับไฟแต่ต้นลม ด้วยการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11 (6) ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบอัยการและตำรวจว่า เหตุใดคดีนายวรยุทธจึงหลุดพ้นข้อกล่าวหาทั้งหมด ทั้งที่อายุความคดียังเหลือ 7 ปี หากพบการแทรกแซง ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ต้องยอมตัดนิ้วร้ายเพื่อรักษากระบวนการยุติธรรม ให้มีความน่าเชื่อถือของสังคม ถ้านายกฯ นิ่งเฉย ก็เตรียมตัวเตรียมใจกลับบ้านเก่าได้เลย

วันเดียวกัน (26 ก.ค.) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีตำรวจไม่เห็นแย้งอัยการที่สั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยมี พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.เป็นประธาน พร้อมคณะกรรมการรวม 10 ราย โดยให้เวลาตรวจสอบ 15 วัน

ขณะที่นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธเช่นกัน โดยมีนายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน พร้อมคณะทำงานรวม 7 คน โดยให้คณะทำงานมีอำนาจเรียกสำนวนมาตรวจสอบ รวมถึงสอบถามบุคคลที่เกี่ยวข้อง และให้ดำเนินการโดยด่วนที่สุด

ด้านนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เผยว่า กมธ.ได้ส่งหนังสือเชิญอัยการสูงสุดที่ไม่สั่งฟ้องคดี, ผบ.ตร.และตำรวจ 5 นาย ที่เป็นจุดตั้งต้นในการเข้าสอบสวนคดีนี้ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุตริจแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดวินัยไม่ร้ายแรงไปก่อนหน้านี้ ให้มาชี้แจงต่อ กมธ.ในวันที่ 29 ก.ค. “อยากให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า กมธ.กฎหมายฯ จะไม่ปล่อยผ่านเรื่องนี้อย่างแน่นอน...”

ต่อมา เมื่อวันที่ 29 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เผยหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่สังคมเกิดความกังขาเกี่ยวกับคดีนายวรยุทธว่า รัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหาร จำเป็นต้องให้เกิดความชัดเจนขึ้น โดยไม่ก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรม โดยได้สั่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยมีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ขอให้มั่นใจนายกฯ ไม่ปล่อยปละละเลยและไม่ได้นิ่งนอนใจ ปัญหาเหล่านี้ต้องแก้ให้ได้และความยุติธรรมต้องมีในสังคมไทยโดยไม่แบ่งชนชั้น ซึ่งซ้ำเสมอมาไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมหรือด้านอื่นๆ ต้องเดินหน้าทุกอย่าง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า “ส่วนกรณีที่มีบางคนเชื่อมโยงกรณีของบอส อยู่วิทยา รอดพ้นคดีขับรถหรูชน ด.ต.วิเชียร เสียชีวิต กับการบริจาคเงิน 300 ล้านบาทให้กับรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 นั้น คงไม่เกี่ยวกัน คนละเรื่อง ยืนยันไม่เคยเกี่ยวผลประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยเสียหายเรื่องเหล่านี้ จึงขอให้ความเชื่อมั่นด้วย จะพยายาททำอย่างเต็มที่เพื่อคลี่คลายปัญหาต่างๆ ทั้งหมดทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้”

ด้านนายวิชา มหาคุณ เผยหลังได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ และตำรวจไม่เห็นแย้งว่า นายกฯ ขอร้องให้ไปช่วย แต่ไม่ขอพูดกระบวนการการทำงานว่า ผลการตรวจสอบจะเป็นอย่างไร แต่จะทำงานให้เร็วที่สุด โดยคำสั่งนายกฯ กำหนดเวลาเบื้องต้นไว้ 30 วัน และว่า สิ่งสำคัญคือ ต้องทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม จะดูข้อเท็จจริงให้ชัดเจน เพื่อหาสาเหตุของปัญหา และนำไปสู่ข้อเสนอการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ให้เป็นที่พึ่งหวังของประชาชนได้อย่างแท้จริงต่อไป โดยจะไม่ก้าวล่วงเรื่องรายละเอียดในสำนวนคดี รวมถึงการทำงานของตำรวจและอัยการ

วันเดียวกัน (29 ก.ค.) ที่รัฐสภา ได้มีการประชุม กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรค พปชร.เป็นประธาน ซึ่งมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของอัยการและตำรวจมาชี้แจงกรณีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ซึ่งปรากฏว่า นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นคนสั่งคดีไม่ฟ้องนายวรยุทธ ไม่ได้มาชี้แจง แต่ให้คนอื่นมาแทน ซึ่งที่ประชุมมีการซักถามตำรวจและอัยการหลายประเด็น ทั้งกรณีผลตรวจร่างกายนายวรยุทธที่พบมีสารโคเคนในร่างกาย กรณีนายสุเวช หอมอุบล พ่อบ้านนายวรยุทธ ที่ออกมารับผิดแทน กรณีเหตุใดตำรวจจึงกลับคำเรื่องความเร็วของรถนายวรยุทธขณะเกิดเหตุ ฯลฯ

ซึ่งทางตำรวจระบุว่า การไม่ฟ้องนายวรยุทธกรณีสารแปลกปลอมในร่างกาย เป็นความเห็นของพนักงานสอบสวนหลายคน ส่วนนายสุเวช พ่อบ้านนายวรยุทธ มีการดำเนินคดีข้อหาแจ้งความเท็จไปแล้ว และศาลตัดสินลงโทษไปแล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า กรณีพบสารโคเคนในร่างกายนายวรยุทธ ทางตำรวจระบุว่า ได้รับการยืนยันจากแพทย์ที่รักษาฟันให้นายวรยุทธว่า โคเคนดังกล่าวใช้ในการรักษาฟัน ซึ่งปรากฏว่า ภายหลังได้มีทันตแพทย์หลายรายออกมายืนยันว่า ไม่มีการใช้โคเคนในการรักษาฟันมา 150 ปีแล้ว

ทั้งนี้ ทั้งตัวแทนตำรวจและอัยการ ได้ขอเลื่อนการชี้แจงประเด็นต่างๆ ต่อ กมธ.กฎหมายฯ ไปเป็นสัปดาห์หน้า โดยอ้างว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบสำนวนโดยละเอียด

เมื่อวันที่ 29 ก.ค.เช่นกัน ได้มีการประชุมในส่วนของตำรวจที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีพยาน 2 ปากที่เพิ่งโผล่เป็นพยานให้นายวรยุทธในช่วงหลังว่า ไม่ปรากฏอยู่ในสำนวนการสอบสวนของ สน.ทองหล่อ เป็นพยานที่ผู้ต้องหาร้องไปยังพนักงานอัยการ ผ่านกรรมาธิการให้สอบสวนเพิ่มเติม อัยการจึงให้สอบเพิ่ม พนักงานสอบสวนไม่มีสิทธิที่จะมีความเห็นในช่วงนี้ได้อีก เพราะไม่ใช่การสอบในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว และ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ถืออำนาจ ผบ.ตร.ในการไม่แย้ง โดย พล.ต.ท.เพิ่มพูน ไม่มีสิทธิไม่มีอำนาจในการชั่งน้ำหนักพยาน และเรื่องเห็นแย้งกับเรื่องความเห็นทางคดี มันแยกออกจากกัน

ขณะที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ยืนยันว่า ไม่เคยเห็นสำนวนคดีนายวรยุทธที่อัยการส่งมา และว่า 5 ปีที่ดำรงตำแหน่งมา ไม่เคยเซ็นสำนวนเห็นแย้งหรือไม่เห็นแย้ง ไม่เคยผ่านตน เพราะแบ่งงานให้รอง ผบ.ตร.รับผิดชอบชัดเจน และไม่รู้จักนายบอส อยู่วิทยา แต่อย่างใด

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กทม. ได้ยื่นหนังสือต่ออธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ขอให้เปิดไต่สวนก่อนที่จะอนุมัติการถอนหมายจับนายวรยุทธ ซึ่งขัดแย้งกับความรู้สึกของสังคม ซึ่งศาลได้เซ็นรับเรียบร้อยแล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า กระแสความไม่พอใจและรับไม่ได้ต่อกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ และตำรวจไม่เห็นแย้ง ไม่เพียงส่งผลสะเทือนต่อองค์กรอัยการและตำรวจ รวมถึงตัวนายวรยุทธ และธุรกิจของครอบครัวเท่านั้น แม้แต่บุคคลในครอบครัวของนายวรยุทธ ก็อยู่เฉยไม่ได้ จนต้องออกจดหมายเปิดผนึกเช่นกัน โดยพี่น้องตระกูล “อยู่วิทยา” 8 คน ได้แก่ สายพิณ พหลโยธิน (อยู่วิทยา), ศักดิ์ชาย อยู่วิทยา, สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา,จิรวัฒน์ อยู่วิทยา, ปนัดดา อยู่วิทยา, สุปรียา อยู่วิทยา, สราวุฒิ อยู่วิทยา และนุชรี อยู่วิทยา ได้ส่งจดหมายเปิดผนึก ขอโทษสังคมเป็นอย่างสูงที่ข่าวของบุคคลในครอบครัว ได้สร้างความรู้สึกโกรธ เกลียด ไม่พอใจ จนเป็นเหตุของกระแสการเรียกร้องของสังคมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ พร้อมชี้แจงว่า ตั้งแต่วันเกิดเหตุ ครอบครัวนายวรยุทธไม่ได้หารือใดๆ โดยคาดหวังว่า ครอบครัวของนายวรยุทธจะทำทุกอย่างให้เป็นที่ยอมรับของสังคมในที่สุด และพี่น้องทุกคนเรียกร้องให้นายวรยุทธออกมาแสดงความกระจ่างและความบริสุทธิ์ใจให้ครอบครัวอยู่วิทยาที่เหลือ รวมทั้งสังคมและสื่อมวลชนให้เร็วที่สุด และดำเนินการให้ถูกต้องตามครรลองของสังคม

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 29 ก.ค.ต่อเนื่องวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา นายจารุชาติ มาดทอง 1 ใน 2 พยานปากเอกของนายวรยุทธที่เคยให้การในภายหลังว่า ขับรถตามหลัง ด.ต.วิเชียร ในวันเกิดเหตุ และอ้างว่า เห็น ด.ต.วิเชียร เปลี่ยนเลนกะทันหัน จนถูกรถนายวรยุทธชน พร้อมอ้างว่า รถนายวรยุทธใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. ได้เสียชีวิตกะทันหันที่ จ.เชียงใหม่ โดยข่าวระบุว่า เกิดอุบัติเหตุนายจารุชาติ ขี่รถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่ง ซึ่งอีกฝ่ายบาดเจ็บ แต่นายจารุชาติเสียชีวิต ซึ่งแม้จะมีภาพจากกล้องวงจรปิดในคืนเกิดเหตุ แต่เป็นภาพในระยะไกล และมีบางฝ่ายสงสัยว่า เป็นอุบัติเหตุจริงหรือไม่ เนื่องจากมาเกิดในช่วงที่กำลังจะมีการเรียกนายจารุชาติมาชี้แจงในฐานะพยานพอดี

3.ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนจำคุก “เปรมชัย” 1 ปี ไม่รอลงอาญา คดีติดสินบนเจ้าหน้าที่!


นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด
เมื่อวันที่ 29 ก.ค.) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 ได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 7 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 และนายยงค์ โดดเครือ (คนขับรถ) จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ประกอบมาตรา 83
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2562 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำคุกนายเปรมชัย จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนนายยงค์ จำเลยที่ 2 พิพากษายกฟ้อง ต่อมา นายเปรมชัย จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายเปรมชัย จำเลยที่ 1 กระทำความผิดจริง เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืน นายเปรมชัย ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 500,000 บาท เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างฎีกา ด้านศาลพิจารณาแล้วอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกัน 500,000 บาท

4.“บิ๊กแป๊ะ” สั่งสำรองราชการ “พล.ต.อ.วิระชัย” ปมปล่อยคลิปเสียงสนทนาคดียิงรถ “บิ๊กโจ๊ก”!


(ขวา) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. (ซ้าย) พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร.
เมื่อวันที่ 29 ก.ค. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้มีคำสั่ง ตร.ที่ 387/2563 ลงวันที่ 29 ก.ค.2563 ให้สำรองราชการ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. โดยระบุว่า ตามคำสั่ง ตร.ที่ 383/2563 ลงวันที่ 24 ก.ค.2563 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. ซึ่งถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยมีพฤติการณ์และการกระทำเข้าลักษณะมีเจตนาเปิดเผยความลับของทางราชการ และฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งว่าด้วยการให้ข่าวสัมภาษณ์ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของ ตร.อย่างร้ายแรง ประกอบกับกองบังคับการปราบปราม ได้รับคำร้องทุกข์ในกรณีกล่าวโทษว่า มีการกระทำอันเป็นการทำผิดต่อรัฐ มีมูลเข้าข่ายตามความผิด พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 74 และตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 21 เรื่อง การห้ามดักฟังทางโทรศัพท์ และเครื่องมือสื่อสารอื่นใดนั้น
เนื่องจากกรณีดังกล่าว เป็นเหตุในการสั่งสำรองราชการได้ ตามนัยข้อ 3 (1) แห่งกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจประจำ ตร. หรือส่วนราชการใด หรือสำรองราชการ ในส่วนราชการใด พ.ศ. 2548 ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรมในการดำเนินการทางวินัยและอาญา เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการในภาพรวมของ ตร. อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 61 (2) แห่ง พรบ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 จึงให้ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร.สำรองราชการ ตร. (อัตราเลขที่ สรส.1)

มีรายงานว่า ตาม กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจประจำ ตร. หรือส่วนราชการใด หรือสำรองราชการในส่วนราชการใด พ.ศ. 2548 ข้อ 3 ระบุว่า การสั่งให้ข้าราชการตำรวจสำรองราชการในส่วนราชการใด โดยให้พ้นจากตำแหน่ง หน้าที่เดิม ให้สั่งได้เมื่อมีเหตุในกรณีหนึ่งกรณีใด (1) ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวนหรือต้องหาว่ากระทำผิดอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา เว้นแต่ความผิดซึ่งถูกฟ้องหรือต้องหาเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ แต่ยังไม่ถึงขั้นถูกสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามมาตรา 95

เมื่อมีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจสำรองราชการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้กันตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งในระดับเดียวกันกับตำแหน่งเดิมของผู้ที่ถูกสั่งให้สำรองราชการไว้ มีกำหนด 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่คำสั่งสำรองราชการมีผลใช้บังคับ หากผู้ที่ถูกสั่งให้สำรองราชการยังไม่หมดเหตุสำรองราชการภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้พิจารณาแต่งตั้งผู้อื่นไปดำรงตำแหน่งที่กันไว้ได้

ทั้งนี้ การสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือตำแหน่งเทียบเท่า ประจำหรือสำรองราชการในส่วนราชการใด ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง นับตั้งแต่วันประจำหรือสำรองราชการตามมาตรา 104

มีรายงานด้วยว่า การสั่งสำรองราชการ พล.ต.อ.วิระชัย ทำให้การแต่งตั้งโยกย้ายระดับ ผบก.- รอง ผบ.ตร. วาระประจำปี 2563 ในเดือน ต.ค.นี้ มีตำแหน่งระดับ รอง ผบ.ตร. ว่างเพิ่มอีก 1 ตำแหน่ง จากเดิมที่ว่าง 2 ตำแหน่ง จากการเกษียณอายุราชการของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ และ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย รอง ผบ.ตร.

5.สะพัด นายกฯ ทูลเกล้าฯ รายชื่อ ครม.ใหม่แล้ว ดึง “สุพัฒนพงษ์” คุมพลังงาน “นฤมล” รมช.แรงงาน!


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
เมื่อวันที่ 30 ก.ค. มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มีการทูลเกล้าฯ รายชื่อรัฐมนตรีใหม่แล้ว โดยการปรับ ครม. ครั้งนี้ จะมีรัฐมนตรีใหม่ 6 คน 7 ตำแหน่ง ประกอบด้วย นายปรีดี ดาวฉาย เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายอนุชา นาคาศัย เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมีข่าวว่า นางนฤมล ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมรับตำแหน่งรัฐมนตรีในการปรับ ครม. ครั้งนี้
สำหรับรัฐมนตรีที่ลาออกไปก่อนหน้านี้มี 6 คน คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี, นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, มรว.จตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

แหล่งข่าวกล่าวว่า การปรับ ครม. ครั้งนี้ สะท้อนว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้ปรับตามแรงกดดันของฝ่ายการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แต่อย่างใด โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่พรรคพยายามผลักดันให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แล้วให้นายอนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรค พปชร. มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสหกรรมแทน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดึงคนนอกอย่างนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแทน และนายอนุชาได้เป็นแค่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแทนนายเทวัญ ลิปตพัลลภ เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 31 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวทูลเกล้าฯ รายชื่อรัฐมนตรีใหม่แล้วว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ ซึ่งมีเวลาตามที่วางไว้แล้วอย่างที่เคยบอก คือทำให้ทัน และต้องนำทูลเกล้าฯ ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ส่งไป

เมื่อถามว่า น.ส.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้วหรือยัง หลังมีข่าวว่าจะได้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่เห็นเรื่อง ส่วนจะหาโฆษกรัฐบาลคนใหม่หรือไม่นั้น ยังไม่รู้ เมื่อถามต่อว่า นายกรัฐมนตรีจะเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเองหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า ก็จำเป็นต้องดูในภาพรวม

ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องเข้ามาช่วยดูสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ดูอยู่เหมือนเดิม เมื่อถามย้ำว่า มีกระแสข่าว พล.อ.ประวิตร จะมาดูตำรวจ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า “ไม่มี ท่านก็ทำงานของท่านเยอะอยู่แล้ว ผมก็ต้องช่วยแบ่งเบาภาระของท่าน”


กำลังโหลดความคิดเห็น