ขาดไปเดือนเดียว สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็จะอยู่ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจในรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครบ 5 ปีพอดี แต่มีเหตุให้ต้องลาออกไปพร้อมกับทีมเสียก่อน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากถูกพล.อ.ประยุทธ์ ส่งข้อความผ่านไลน์มาไล่ออก โดยอ้างว่า “มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องปรับรัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลทางการเมือง”
ทั้งๆ ที่เพิ่งจะชูสโลแกน “รวมใจสร้างชาติ” ประกาศแนวทางการทำงานแบบใหม่ นิวนอร์มอล ไปหยกๆ แต่เหตุผลในการกดดัดสมคิด และทีม 4 กุมารออกไป เป็นวิธีคิดเดิมๆ ที่ให้น้ำหนักผลประโยชน์ทางการเมือง มากกว่าคำนึงถึงประโยชน์ของชาติและประชาชน
5 ปีของสมคิด ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นทันตาเห็น เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลก ทั้งในเรื่องการส่งออก และการท่องเที่ยว เมื่อโลกมีปัญหาก่อนหน้าการระบาดของไวรัสโควิด-19 และพื้นฐานภายในก็อ่อนแอ ทั้งจากปัญหาความขัดแย้งการเมือง 1 ทศวรรษเต็มๆ และความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างขยายออกไปทุกที จึงดูเหมือนว่า ทีมสมคิดจะหมดเวลาไปกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำได้แค่แจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งแล้วครั้งเล่า
ในความเป็นจริง 5 ปีของสมคิด กับทีมงานด้านเศรษฐกิจของเขา ซึ่งนอกเหนือจาก 4 กุมารที่ร่วมอยู่ในรัฐบาลประยุทธ์ 2 แล้ว ยังมีอีก 3 รัฐมนตรีในรัฐบาลประยุทธ์ 1 คือ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ความสำคัญกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจใหม่ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันในอนาคต
การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต้องใช้เวลานานกว่าจะเกิด กว่าจะเสร็จ กว่าจะเห็นผล เมื่อเสร็จแล้ว คนก็มักจะลืมไปว่า ใครเป็นคนต้นคิดผลักดันให้เกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้ว เป็นอย่างไร
ตัวอย่างเช่น โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่เกิดขึ้นในยุคพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพิ่งจะเป็นที่ยกย่องสรรเสริญกันว่า ยกระดับเศรษฐกิจไทยจากประเทศเกษตรกรรมให้เป็นอุตสาหกรรม เป็นฐานการผลิตใหญ่ในเอเชีย ก็เมื่อสี่ห้าปีมานี้เอง
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จึงเป็นงานปิดทองหลังพระที่ไม่มีคนเห็น จะมีก็แต่พวกที่คอยหาเรื่องตำหนิติเตียนว่า เอื้อทุนใหญ่ ขายแผ่นดินให้ต่างชาติ ดังเช่น เสียงวิจารณ์ต่อโครงการอีอีซี ที่ทีมสมคิดเป็นผู้ผลักดัน
ถ้าไม่ใช่ทุนใหญ่อย่างกลุ่มซีพี จะมีใครกล้าลงทุนเป็นแสนล้าน ใช้เวลาคืนทุน 20-30 ปีกับโครงการที่ไม่มีใครรู้ว่า จะขาดทุนหรือกำไร อย่างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือถ้าไม่ใช่ทุนใหญ่อย่างหมอปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ กับคีรี กาญจนพาสน์ ใครจะกล้าเสี่ยงกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา
5 ปีของสมคิดกับทีมเศรษฐกิจของเขา ได้ผลักดันให้ประเทศไทยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ที่เห็นเป็นรูปธรรมเพราะเสร็จแล้ว เห็นแล้วว่ามีประโยชน์อย่างไร ก็คือ รถไฟฟ้าใน กทม.ที่เกิดขึ้นเกือบครบทุกสาย ตามแผนแม่บทที่คาราคาซังมานาน
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ในราคาค่าโดยสารที่ถูกมาก คือ 42 บาทตลอดสาย หากสมคิด ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการขนส่งและจราจรในยุครัฐบาลประยุทธ์ 1 ไม่ตัดสินใจขอให้พล.อ.ประยุทธ์ใช้มาตรา 44 ให้เจรจากับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ เป็นผู้เดินรถส่วนต่อขยาย แลกกับการตรึงค่าโดยสารไว้ตลอดอายุสัญญา แทนการเปิดประมูลหาผู้เดินรถรายใหม่ ป่านนี้ไม่รู้ว่า จะเปิดเดินรถส่วนต่อขยายได้หรือยัง หรือถ้าเปิดได้ ค่าโดยสารสูงสุดก็คงอยู่ในอัตรา 42+42 บาท เป็นอย่างต่ำ
รถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่เปิดประมูลได้ผู้รับสัมปทานแล้วกำลังก่อสร้างอยู่ และที่กำลังจะประมูลเกิดขึ้นได้ในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็เพราะนโยบายเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนหรือที่เรียกว่า PPP ซึ่งเป็นการแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชน รัฐได้รถไฟฟ้าสายใหม่ โดยไม่ต้องลงทุนเองทั้งหมด แต่ต้องอุดหนุนเอกชนส่วนหนึ่ง เอกชนได้ผลตอบแทนจากค่าโดยสาร การพัฒนาที่ดินซึ่งไม่ใช่ของตายว่าจะได้กำไร 100% ประชาชนได้ระบบขนส่งมวลชนที่ทั่วถึง ในราคาที่เหมาะสม
5 ปีของสมคิดกับทีมเศรษฐกิจของเขา ทำให้ทางรถไฟของไทยเพิ่มขึ้นจาก 1 พันกว่ากิโลเมตร เป็น 4 พันกิโลเมตรเป็นครั้งแรกในรอบ 100 กว่าปีของการรถไฟแห่งประเทศไทย ด้วยการสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างระยะที่ 1 ด้วยการผลักดันของรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลประยุทธ์ 1 เมื่อเสร็จแล้ว จะทำให้การเดินทาง และการขนส่งด้วยรถไฟมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่ารัฐมนตรีคมนาคมที่มาจากการเลือกตั้ง จะบริหารจัดการอย่างไรด้วย
นอกจากโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นระบบคมนาคมขนส่งแล้ว 5 ปีของสมคิดกับทีมของเขา ทำให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย สังคมไร้เงินสดเป็นจริงด้วยการผลักดันของรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ที่มาจากการแต่งตั้ง คือ การทำให้เกิดพร้อมเพย์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของแผนการพัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2560
พร้อมเพย์เป็นโครงสร้างพื้นฐานทำให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ยกเลิกค่าธรรมเนียมโอนเงินข้ามธนาคาร 15 บาท เพราะการโอนเงินผ่านแอปพลิเคชัน มีต้นทุนที่ถูกมาก การโอนเงินชำระค่าสินค้า บริการผ่านแอปพลิเคชัน เป็นหัวใจสำคัญของการค้าขายในระบบอีคอมเมิร์ซ
ระบบพร้อมเพย์ยังถูกต่อยอดให้เกิดฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ที่รวบรวมข้อมูลพื้นฐานของคนไทยไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคนเป็นครั้งแรก ผ่านโครงการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างเช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการชิมช้อปใช้ โครงการเราไม่ทิ้งกัน และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่ผู้ต้องการรับเงินต้องลงทะเบียน และผู้ประกอบการที่ต้องการรับอานิสงส์จากการแจกเงิน ต้องลงทะเบียนด้วยเช่นกัน
น่าเสียดาย หากฐานข้อมูลขนาดใหญ่เช่นนี้จะไม่ถูกนำไปพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างระบบอีคอมเมิร์ซที่เป็นของไทย 100%
5 ปีของสมคิด ทำให้เกิดโครงการเน็ตประชารัฐเชื่อมต่อหมู่บ้าน 24,700 แห่งทั่วประเทศ ที่อยู่นอกโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ ให้เข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่รัฐเป็นผู้ลงทุน โครงการนี้เกิดขึ้นและสำเร็จในยุคที่พิเชษ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่ยังไม่มีการเชื่อมต่อจากจุดศูนย์กลางประจำหมู่บ้านไปสู่ครัวเรือน เพราะติดขัดข้อกฎหมาย ทำให้เสียเวลาอยู่พักใหญ่ ประกอบกับรัฐมนตรีกระทรวงดีอีที่มาจากการเลือกตั้งให้ความสำคัญกับศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์มากกว่าเรื่องอื่นๆ
นี่คือ ส่วนหนึ่งของผลงานที่สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับทีมงานของเขา ฝากไว้ให้แผ่นดิน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา