“ศักดิ์สยาม” วางผังปี 64 เร่งศึกษาโครงข่ายคมนาคมพัฒนาโลจิสติกส์ภาคใต้ ผุดท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ผุด 2 โมเดล พัฒนาท่าเรือเก่า หรือถมทะเลสร้างท่าเรือใหม่ ดันรถไฟทางคู่และมอเตอร์เวย์ แลนด์บริดจ์เชื่อม “ชุมพร-ระนอง”
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “MOT 2020 Move On Together คมนาคมเคียงข้างคนไทย ฟันเฟืองฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง COVID-19” ว่า การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทั้ง 4 มิติ ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศนั้น มีแผนงานครอบคลุมทั่วประเทศ โดยในส่วนของพื้นที่ภาคใต้จะมีการศึกษาเพื่อพัฒนาท่าเรือน้ำลึก ระดับความลึกที่ 15 เมตร เชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย (จ.ชุมพร-จ.ระนอง) ซึ่งได้วาง 2 รูปแบบ คือ พัฒนาท่าเรือเดิมที่มีหรือสร้างท่าเรือใหม่ ซึ่งอาจจะถมทะเล ซึ่งทั่วโลกทำ เช่น สิงคโปร์ มาเก๊า โดยจะประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน และแก้ปัญหาผลกระทบประชาชน ดังนั้นจะต้องตัดสินใจเรื่องการอนุรักษ์และบูรณาการให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่หากเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งอาจจะทำให้เสียโอกาส ซึ่งแม้ตนจะไม่ใช่คนภาคใต้ แต่ก็อยากเห็นภาคใต้เจริญ
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะศึกษาส่วนของท่าเรือน้ำลึก รวมไปถึงเรื่องรูปแบบการลงทุนกับเอกชน (PPP) โดยศึกษาในปี 2564 ใช้เงินจากงบกลาง วงเงิน 75 ล้านบาท คาดว่าจะมีความชัดเจนในการลงทุน
นอกจากนี้ จะมีโครงการแลนด์บริดจ์ทั้งมอเตอร์เวย์ โดยกรมทางหลวง (ทล.) ใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ศึกษา และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ศึกษารถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางชุมพร-ระนอง ระยะทาง 109 กม. เพื่อเชื่อมท่าเรือจากฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะได้ข้อสรุปในปี 2565 และนำเสนอนายกฯ ต่อไป
“จะมีคำถามว่า ทำไมถึงไม่ทำคลองคอดกระ เรื่องนี้เพราะปัญหาระดับน้ำทะเลอันดามันและอ่าวไทยไม่เท่ากัน ทำให้ต้องสร้างสถานีสำหรับปรับระดับน้ำ ซึ่งใช้งบประมาณจำนวนมาก และเสียเวลามากกว่ารูปแบบการทำท่าเรือ และแลนด์บริดจ์มอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่เชื่อม ซึ่งจะไม่ตอบโจทย์การประหยัดเวลาและงบประมาณในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ทางน้ำ”
สำหรับในปี 2563 กระทรวงคมนาคมขับเคลื่อนงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี ซึ่งพบปัญหาอุปสรรค เช่น การเวนคืนโครงการมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) โดยปรับเพิ่มค่าเวนคืนให้สอดคล้องกับราคาปัจจุบัน ทำให้สามารถก่อสร้างและมีเป้าหมายเปิดให้บริการได้ตามแผนงาน รวมถึงมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ซึ่งขณะนี้ได้เสนอผลการประมูลโครงการร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ทั้ง 2 สายไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว คาดว่าจะพิจารณาในสัปดาห์หน้า ซึ่งเอกชนขอรับผลตอบแทนต่ำกว่าราคากลางถึง 36-37% เป็นประโยชน์ต่อรัฐอย่างมาก
ส่วนมอเตอร์เวย์สายใหม่ “นครปฐม-ชะอำ” มูลค่า 79,006 ล้านบาท ลงทุนแบบ PPP Net Cost อยู่ระหว่างทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องเวนคืนบริเวณ จ.เพชรบุรี หากทำความเข้าใจได้จะเร่งเสนอ ครม. แต่หากยังติดขัดอาจต้องทบทวนรูปแบบปรับแนวเพื่อเลี่ยงจุดที่มีปัญหา แต่จะกระทบต่อการศึกษา PPP และ EIA ที่ทำให้โครงการยิ่งล่าช้าออกไป
สำหรับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กำลังแก้ปัญหา EIA แบบก่อสร้างสถานีอยุธยา โดยทำความเข้าใจกับกรมศิลปากร กรณีไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสถาปัตยกรรม
ส่วนรถไฟไทย-จีน สัญญา 2.3 (การวางราง และระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ) วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท ได้บรรลุข้อตกลงกับจีนแล้ว อยู่ระหว่างการแปลเอกสารสัญญาจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยและส่งให้อัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายไทย และจะลงนามสัญญาในเดือน ต.ค.นี้ที่ประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ส่วนโครงการในอีอีซี เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การส่งมอบพื้นที่เป็นไปตามแผนและเปิดให้บริการได้ในปี 2568 ตามแผนงาน รวมถึงเมืองการบินอู่ตะเภา ซึ่งจะมีการต่อขยายมอเตอร์เวย์สาย 7 ไปถึงอู่ตะเภา ระยะทาง 7 กม. โดยใช้งบจากอีอีซี และท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 คาดว่าจะเสนอผลประมูลต่อคณะกรรมการอีอีซีภายในเดือน ก.ค.นี้ จะสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนประเทศต่างๆ และคนไทยได้