xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” คุยทูตญี่ปุ่น แย้มสัปดาห์หน้าสรุปผ่อนปรนการเดินทาง - พอใจโครงการ EEC คืบหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” คุยทูตญี่ปุ่น อัปเดตโครงการ EEC แย้มสัปดาห์หน้าสรุปเงื่อนไขเดินทางไทย-ญี่ปุ่น ย้ำเกณฑ์ตรวจเชื้อโควิดต้นทาง พร้อมแจงสายสีแดงลงทุน PPP รวมแพกเกจ “ก่อสร้าง-เดินรถ-บริหารสถานีบางซื่อ” แก้ล่าช้าและลดภาระงบประมาณรัฐ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลัง นายคาซูยะ นาชิดะ (H.E. Mr. NASHIDA Kazuya) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และคณะ เข้าพบเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งว่า ญี่ปุ่นได้สอบถามถึงความคืบหน้า โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะโครงการที่มีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุน ประกอบด้วย โครงการถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ซึ่งขณะนี้การส่งมอบพื้นที่งานก่อสร้างให้เอกชนเป็นไปตามกรอบเวลาโครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งได้มีการลงนามกับเอกชนผู้ชนะการประมูลแล้ว และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งอยู่ระหว่างตกลงราคากับผู้ประมูล โดยคาดว่า จะได้ข้อสรุปอย่างช้าในเดือน ส.ค.นี้

ทั้งนี้ ทางญี่ปุ่นแสดงความพอใจภาพการดำเนินนโยบายพัฒนาพื้นที่ EEC ของไทยสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงโดยรัฐบาลไทยยืนยันว่าจะสามารถเปิดให้บริการโครงการต่างๆ ภายในปี 2568 ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อภาครัฐและนักลงทุนของญี่ปุ่น และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศ

สัปดาห์หน้ามีข่าวดีผ่อนปรนเดินทางไทย-ญี่ปุ่น

สำหรับการเดินทางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ทั้งทางอากาศและทางน้ำนั้น รมว.คมนาคมกล่าวว่า ไทยยังคงเน้นใช้มาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ในการคัดกรองบุคคล ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 2 ประเทศได้มีการเจรจากัน โดยภายในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนถึงมาตรการผ่อนปรนการในการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางญี่ปุ่นมีปัญหาเพราะระเบียบการตรวจโรคโควิดนั้น จะตรวจเฉพาะคนป่วยเท่านั้น ส่วนคนไม่ป่วยจะไม่ตรวจ ซึ่งจะมีปัญหากรณีที่เดินทางมาไทยแล้วตรวจพบว่าติดเชื้อและเกิดภาระค่าใช้จ่ายกับผู้เดินทางและสายการบิน ซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาและทราบผลในสัปดาห์หน้า

ประเทศไทยมีมาตรการในการป้องกันโควิดที่ดี เป็นอันดับ 2 ของโลก และได้รับการ คาดหมายจากองค์กรระหว่างประเทศว่าไทยจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลก ขณะที่นักลงทุนญี่ปุ่นต้องการเดินทางเข้ามาดูแลธุรกิจที่มีการลงทุนในประเทศไทย และไม่เฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นเท่านั้น แต่นักลงทุนจากหลายประเทศต้องการเดินทางเช่นกัน ซึ่งได้มีการทำเรื่องที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย โดยจะต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขที่ไทยกำหนด ซึ่งท่านทูตญี่ปุ่นยืนยันว่านักลงทุนของญี่ปุ่นที่จะเข้ามาไทยจะมีการตรวจสุขภาพจากต้นทางที่ญี่ปุ่น มีการจัดซื้อประกันวงเงิน 1 แสนเหรียญสหรัฐ และเมื่อเข้ามาถึงไทย ก็ต้องรับการตรวจเชื้ออีก หากพบเชื้อจะทำไห้ไม่ต้องกระทบการเงินของไทย หากเงื่อนไขที่จะทำกับญี่ปุ่นเป็นผลดี จะสามารถนำไปใช้เป็นข้อตกลงกับประเทศอื่นๆ ต่อไป

“การคัดกรองและปฏิบัติตามมาตรฐานสาธารณสุขที่ดี การเดินทางจะทำได้แน่นอน เพราะตามประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ฉบับล่าสุด ไม่ได้ห้ามทำการบินแล้ว เพียงแต่สายการบินจะต้องทำตามเงื่อนไขมาตรฐานสาธารณสุข คนจากต่างประเทศที่เข้ามาจะมีการปฏิบัติอย่างไร มีเงื่อนไข ไม่ได้เข้ามาแล้วจะไปไหนได้อย่างเสรี จะต้องกำหนดเส้นทางมีขอบเขตที่ชัดเจน จนกว่าจะพ้นระยะเวลากักกันโรค หรือ Quarantine ซึ่งหากทำได้กับญี่ปุ่น จะได้ไปทำข้อตกลงกับประเทศอื่นต่อไป”

เปิดทางต่างชาติร่วมประมูล “มอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่”

นอกจากนี้ ยังได้แจ้งให้ญี่ปุ่นทราบถึงนโยบายของรัฐบาลไทยในการขยายพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) วางแผน

รวมถึงนโยบายการบูรณาการ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ กับโครงการรถไฟทางคู่ ระยะทางกว่า 6,000 กิโลเมตรทั่วประเทศ (MR-MAP) เพื่อเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะมีการศึกษาออกแบบ ในปี 2564 และจะเปิดประมูล โดยคำนึงถึง Thai First ก่อนแต่หากศักยภาพนักลงทุนไทยมีไม่พอ อาจต้องใช้รูปแบบ ประมูลนานาชาติ แต่จะต้องมี Thai First และให้ต่างชาติเข้ามาร่วมเป็นกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ช่วยเพิ่มศักยภาพ

อย่างไรก็ตาม ทางญี่ปุ่นระบุว่า พร้อมที่จะสนับสนุนด้านเทคโนโลยีระบบอุโมงค์ที่จะเชื่อมต่อทางด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดของไทย ซึ่งญี่ปุ่นนั้นมีเทคโนโลยีที่จะช่วยประหยัดงบประมาณ ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกับญี่ปุ่นเพื่อทำการศึกษาต่อไป รวมถึงการศึกษานำระบบ Big Data มาใช้ในระบบขนส่งทางราง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อข้อมูลส่วนบุคคล

ปรับสายสีแดง ลงทุน PPP รวมแพกเกจ ก่อสร้าง-เดินรถ-บริหารสถานีบางซื่อ

ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งใช้เงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ ไจก้า นั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ขณะนี้มีความล่าช้า ซึ่งได้ชี้แจงต่อญี่ปุ่นถึงปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา รวมถึงแนวทางที่จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนเป็น PPP เพื่อลดภาระงบประมาณจากภาครัฐ โดยจะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในการก่อสร้าง สายสีแดงส่วนต่อขยายและบริหารสถานีบางซื่อ

ทั้งนี้ เนื่องจากการดำเนินการรูปแบบเดิมจะขาดทุนใน 7 ปีแรก ในขณะที่งบประมาณรัฐจำกัด และเกิดโรคโควิด จึงต้องหาแนวทางที่คุ้มค่า เพื่อหาเงินคืนไจก้าโดยเร็วที่สุด




กำลังโหลดความคิดเห็น