ร.ฟ.ท.ชงบอร์ดเคาะตั้งบริษัทลูกสายสีแดงและเร่งเปิดประมูลหาเอกชนบริหารพื้นที่สถานี ปรับรูปแบบรับทั้ง 13 สถานี เร่งทดสอบระบบเปิดเดินรถต้นปี 64 พร้อมทุ่ม 300 ล้านสร้างสถานบางซื่อชั่วคราว รับรถไฟดีเซลช่วงก่อสร้างไฮสปีด 3 สนามบิน
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ว่า ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธาสัญญาที่ 1 (สถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) คืบหน้า 98.62% สัญญาที่ 2 (ทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต) สมบูรณ์เกือบ 100% สัญญาที่ 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟ) คืบหน้า 73.53% ซึ่งขณะนี้ได้รับมอบขบวนรถแล้ว 5 ขบวน หรือ 24 ตู้ จากทั้งหมด 130 ตู้ ซึ่งกลุ่ม MHSC จะส่งมอบครบภายในปีนี้ ล่าช้ากว่าแผนที่จะครบในเดือน มิ.ย. 63 เนื่องจากประสบกับภัยพิบัติ
ทั้งนี้ งานโยธา การติดตั้งระบบจะเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้ และเริ่มการทดสอบระบบและจะเปิดเดินรถไฟสายสีแดงในต้นปี 2564 ตามแผน โดยคาดว่าจะมีผู้โดยสารในปีแรกประมาณ 8 หมื่นคน/วัน และเพิ่มเป็น 1.3 แสนคนในปี 2575 ส่วนสถานีกลางบางซื่อจะมีผู้ใช้บริการผ่านเข้าออกในปี 64 ประมาณ 208,000 คน/วัน และเพิ่มเป็น 396,000 คน/วัน ในปี 75 เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางแห่งใหม่ของประเทศซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางไกล
ในวันที่ 19 มี.ค. จะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.เพื่อจัดตั้งบริษัทเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยจะขออนุมัติเงินกู้ 3,000 ล้านบาทเป็นทุนจดทะเบียน และจัดสรรบุคลากรในช่วงแรก 773 อัตรา โดยโอนย้ายพนักงานจาก บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ตลิงก์) จาก ร.ฟ.ท.และเปิดรับสมัครใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางเดิมตามที่ คนร.อนุมัติไว้ ซึ่งหากบอร์ดเห็นชอบจะเสนอคมนาคมและ ครม.เพื่อเร่งจัดตั้งบริษัทภายในเดือน มิ.ย.นี้
ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคมให้พิจารณาการเปิด PPP ให้เอกชนเข้ามาเดินรถสายสีแดงนั้น ร.ฟ.ท.จะศึกษาคู่ขนาน เนื่องจากขณะนี้ข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้ตัดสินใจ จงเดินตามแนวทางที่ คนร.มีมติเห็นชอบ และให้ทันกับการเปิดเดินรถต้นปี 64 ทั้งนี้ ตามเงื่อนไข ร.ฟ.ท.มีเวลาพิสูจน์การบริหารสายสีแดง 5 ปี หากรายได้ผลงานไม่เข้าเป้าจะพิจารณาในการให้เอกชนรับเดินรถต่อไป
นอกจากนี้จะเสนอบอร์ดพิจารณาแนวทางการบริหารสถานีรถไฟสายสีแดง โดยให้เอกชนบริหาร 13 สถานี (ร่วมทุนเอกชน PPP ตาม พ.ร.บ.2562) ในทุกกิจกรรม ทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์ การบริการ โฆษณา การทำความสะอาด รักษาความปลอดภัย ที่จอดรถ โดยให้เอกชนออกแบบการบริหารและเสนอรูปแบบการพัฒนาและยื่นข้อเสนอทางการเงินเข้ามา โดย ร.ฟ.ท.จะกำหนดเป็นกรอบแนวทางความต้องการไว้เท่านั้น ส่วนเปิดประมูลแล้วเอกชนจะสนใจหรือไม่ยังไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากการบริหารทั้ง 13 สถานีมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่ ร.ฟ.ท.ไม่ต้องการอุดหนุนใดๆ
“เดิมที่จะให้เอกชนบริหารสถานีบางซื่อแห่งเดียว ขณะที่หากรวมบริหารแค่สถานีดอนเมืองและรังสิตยังอาจจะยังคุ้มค่าและไม่มีรายได้พอที่จะอุดหนุนการเดินรถ ส่วนจะจูงใจเอกชนเข้าร่วมประมูล PPP หรือไม่ ซึ่งหากสุดวิสัยจัดหาเอกชนไม่ทันจริงๆ รถไฟจะต้องบริหารจัดการเองไปก่อน ส่วนการเดินรถสายสีแดงนั้น ยังเชื่อว่าจะเร่งรัดจัดตั้งได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้เพื่อเริ่มกระบวนการในการทดสอบระบบพอดี”
ทุ่ม 300 ล้านทำสถานีบางซื่อชั่วคราวรับรถดีเซลช่วงสร้างไฮสปีด 3 สนามบิน
นายวรวุฒิกล่าวว่า ในระยะแรกรถไฟทางไกล ซึ่งเป็นรถดีเซลรุ่นเก่ายังใช้สถานีกลางบางซื่อไม่ได้ เนื่องจากจะเกิดมลพิษภายในสถานี ร.ฟ.ท.จึงทำการออกแบบเพื่อก่อสร้างสถานีบางซื่อใช้ชั่วคราวในบริเวณสถานีรถไฟเดิม ติดสถานีกลางบางซื่อ ขณะนี้ออกแบบเสร็จแล้ว เตรียมเสนอบอร์ด ร.ฟ.ท.ขออนุมัติงบประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อให้รถไฟดีเซลใช้เป็นชุมทางแทนหัวลำโพง ในระหว่างที่จะมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และรถไฟสายสีแดงอ่อน (Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. ในช่วงปี 64 ซึ่งจะทำให้รถไฟวิ่งเข้ามายังหัวลำโพงไม่สะดวก
สำหรับสถานีกลางบางซื่อนั้นจะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสถานีมีความยาว 596.6 เมตร ความกว้าง 244 เมตร ความสูง 43 เมตร พื้นที่ใช้สอยรวม 274,192 ตารางเมตร ชั้นใต้ดินมีพื้นที่รวม 72,542 ตร.ม. เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถที่รองรับได้ถึง 1,624 คัน
ชั้น 1 มีพื้นที่รวม 86,700 ตร.ม. เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว ร้านค้า ศูนย์อาหาร โถงพักคอยและจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ชั้นลอยมีพื้นที่รวม 12,020 ตร.ม. เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม ร้านค้า และห้องควบคุม
ชั้นที่ 2 มีพื้นที่รวม 42,000 ตร.ม. เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล 8 ชานชาลา
ชั้นที่ 3 มีพื้นที่รวม 42,300 ตร.ม. เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟความเร็วสูง 12 ชานชาลา ได้แก่ รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ตเรลลิงก์) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายใต้ จำนวน 4 ชานชาลา
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ที่มีพื้นที่ 186,030 ตร.ม. มีบึงน้ำขนาด 14,000 ตร.ม. โดยเป็นลานน้ำพุประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย