ผู้จัดการสุดสัปาห์ - เป็นที่แน่นอนแล้วว่ากระทรวงพลังงาน จะปรับรื้อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือแผนพีดีพี ของประเทศยกกระบิ หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำเอายอดการใช้พลังงานทั่วโลกหดตัวในรอบ 70 ปี แต่ที่น่าจับตาอย่างยิ่งก็คือ “โรงไฟฟ้าชุมชน” ที่รัฐบาลหมายมั่นจะใช้ผลักดันเศรษฐกิจรากหญ้าให้พลิกฟื้นจากพิษโควิด กลับเจอพิษการเมืองที่ลามจากเกมไล่ “แก๊งสี่กุมาร” เป็นอันจอดสนิทในเวลานี้จะไปต่ออย่างไร
ในภาพใหญ่ เศรษฐกิจทั่วทั้งโลกที่หดตัวอย่างรุนแรงจากพิษโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการพลังงานลดต่ำลงตามไปด้วย โดยสำนักงานพลังงานสากล (EIA) ประเมินว่า การใช้พลังงานของโลกในปีนี้จะลดลงมากที่สุดในรอบ 70 ปี โดยการใช้น้ำมันของโลกลดต่ำลงและการใช้ไฟฟ้าของโลกหดตัวลง 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นับเป็นสถิติที่ต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2473
ขณะที่ไทยในช่วง 5 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) การใช้น้ำมันลดลง 13.4% ส่วนไฟฟ้าลดลง 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น กระทรวงพลังงาน จึงเตรียมพร้อมเพื่อปรับแผนพลังงานของประเทศใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ถ้าฟังตามที่ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนา “ทิศทางพลังงานประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด” ที่จัดโดยคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็พูดชัดว่า การใช้พลังงานที่ลดลงทำให้ต้องทบทวนแผนพลังงานหลักของประเทศทั้งหมด
สำหรับแผนพลังงานของประเทศ ประกอบด้วย 5 แผนหลัก คือ แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (Thailand Integrated Energy Blueprint-TIEB) ฉบับใหม่ หรือ แผนแม่บทพลังงาน, แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1), แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) ,แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561-2580 (EEP 2018) , แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561-2580 (Gas Plan 2018) โดยการทบทวนแผน PDP 2018 Rev.1 อาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564
การรื้อแผนพลังงานจากผลกระทบโควิด-19 ส่งผลปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงในเวลานี้ ทำให้สำรองไฟฟ้าของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 35-40% และต้นทุนค่าไฟฟ้าต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ตามที่นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ และโฆษก กฟผ. ให้ข้อมูลในงานประชุมเวทีเดียวกัน ทางออกในเรื่องนี้ ทางกฟผ.จะส่งเสริมการส่งออกไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะลงทุนสายส่งเพื่อรองรับแผนนี้ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า เมื่อรวมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเร่งก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานทั้งของ กฟผ. และ ปตท. ในปี 2563-2565 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.1 ล้านบาท
ในข่าวร้ายก็มีข่าวดีด้วยคือผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ราคาพลังงานลดลง ทั้งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และราคาก๊าซอ่าวไทย , เมียนมาร์ โดยราคาก๊าซฯเฉลี่ยผลิตไฟฟ้าลดลงในรอบ 4 เดือนสุดท้ายของปี 2563 ซึ่งปีนี้ ปตท. เตรียมนำเข้า LNG จากตลาดจร จำนวน 11 ลำ คาดว่าจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลงกว่า 3 พันล้านบาท หรือ 1.50 สตางค์/หน่วย
ส่วนทิศทางของน้ำมัน กรมพัฒนาธุรกิจพลังงาน จะเลื่อนการประกาศใช้น้ำมันแก๊สโซฮอลล์ อี 20 เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศ จากเดิม 1 ตุลาคม 2563 ออกไปอีก 9 เดือนหรือกลางปีหน้า เพราะเอทานอลที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของนำมัน อี 20 ถูกจัดสรรไปใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
นอกจากนั้น กระทรวงพลังงานยังจะขอปรับแผนประกาศใช้น้ำมันมาตรฐานยุโรป ระดับที่ 5 (EURO 5) จากเดิมจะประกาศใช้ วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นวันที่ 1 มกราคม 2568 เนื่องจากการล็อกดาวน์สกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศไม่สามารถเดินทางเข้ามาตรวจงานปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันของไทยได้ ทั้งนี้ ตามแผนลงทุนปรับปรุงของทุกโรงกลั่นมีมูลค่ารวม 50,000 ล้านบาท
วกกลับมาดูการทบทวน แผน PDP 2018 Rev.1 ซึ่งจะโยงไปถึงโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่ง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผลักดันเต็มเหนี่ยวเพื่อเป้าหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจรากหญ้า ล่าสุดยังอยู่ในอาการจอดสนิท แว่วว่า งานนี้มีก๊กก๊วน “สองเกลอ” ที่หมายมั่นปั้นมือเข้ามาคุมกระทรวงพลังงาน แทน “สี่กุมาร” อยู่เบื้องหลังการลากถ่วง จะใช่หรือไม่ใช่ ยังต้องรอดูกันต่อไป
แต่เรื่องของเรื่องที่ต้องไล่ไทม์ไลน์ให้เห็นกันก่อนก็คือ การปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ PDP 2018 rev.1 มีการบรรจุโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากกว่า 1,933 เมกะวัตต์ ซึ่งกำหนดว่าภายในปี 2565 จะเข้าระบบ จำนวน 700 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าชุมชนประเภท Quick Win ปริมาณรับซื้อไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ เอาไว้ในแผนนั้น ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มาตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2563 แล้ว แต่กลับมีความล่าช้า ทั้งๆ ที่ว่ากันว่า เรื่องอยู่ในแฟ้มเสนอครม.เพื่อขอความเห็นชอบแล้ว แต่มีเจอโรคเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ไม่มีการหยิบขึ้นมาพิจารณา
ลุ้นกันหลายยก ตอนประชุมครม.เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ก็วืด ที่ประชุมครม. ยังไม่มีการพิจาณาเรื่องดังกล่าว ตามที่นายสนธิรัตน์ ให้สัมภาษณ์สื่อด้วยความมั่นใจว่าคงไม่มีปัญหาเพราะเป็นโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก เวลานั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) วางไทม์ไลน์โชว์หราหน้าเว็บไซต์ ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนตามกรอบเวลาหาก ครม.อนุมัติตามที่เสนอ แต่เมื่อผิดแผน กกพ. ได้ดึงไทม์ไลน์โรงไฟฟ้าชุมชนออกจากเว็บไซต์ไปก่อน
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ. ให้เหตุผลในการดึงไทม์ไลน์ผลิตไฟฟ้าชุมชนออกจากหน้าเว็บไซต์ว่า ป้องกันการสับสนของประชาชน และต้องรอนโยบายชัดเจนเสียก่อน โดยยืนยันว่าจะไม่มีการเปิดรับเอกสารผู้เข้าร่วมโครงการฯ ล่วงหน้าก่อน PDP 2018 ฉบับใหม่จะผ่าน ครม. เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการทำผิดตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมาย
ตามไทม์ไลน์เดิม กกพ.และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้จัดทำกรอบเวลาดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ประเภทโครงการ Quick Win เอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า เมื่อครม.ให้ความเห็นชอบ PDP 2018 rev.1 ภายในเดือน มิถุนายน 2563 กกพ.จะสามารถออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ได้ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2563 และเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการยื่นข้อเสนอเข้ามาภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน ก่อนจะนำข้อเสนอส่งให้ คณะอนุกรรมการพิจารณารับซื้อไฟฟ้า ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน พิจารณาคัดเลือก และจะประกาศชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการในวันที่ 2 กันยายน 2563 และให้มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ภายใน 30 ธันวาคม 2563 และผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ภายในปี 2564
แต่เมื่อเรื่องยังไม่เข้าครม. หรือ ครม. ยังไม่อนุมัติแผน จนกระทั่งการประชุม ครม.ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา เรื่องก็ยังเงียบหาย ไทม์ไลน์ข้างต้นจึงต้องปรับกันใหม่แต่ยังคงอยู่ในกรอบเวลาเดิม ตามที่นายวันชัย บรรลือสินธุ์ รองอธิบดี พพ. บอกว่า กระทรวงพลังงาน ได้ประกาศเลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ประเภท Quick Win 100 เมกะวัตต์ จากกำหนดให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2563 เลื่อนไปเป็นปี 2564 เหตุผลเนื่องจากได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และแผน PDP 2018 rev.1 ครม.ยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้วิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศได้เตรียมความพร้อมเข้าร่วมโครงการแล้ว หากครม.อนุมัติแผน PDP 2018 rev.1 แล้ว กระทรวงพลังงาน จะเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการในเดือนกรกฎาคม 2563 และคัดเลือกข้อเสนอโครงการได้เสร็จในเดือนกันยายน 2563 และให้ลงนามในสัญญาได้ในเดือนธันวาคม 2563 ก่อนจะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 ซึ่งยังคงเป็นไปตามกรอบเวลาเดิมมีขยับเวลาเพียงเล็กน้อย
สำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 2018 ที่มีแผนจะเปิดรับซื้อในปี 2563 ได้แก่ 1.โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 700 เมกะวัตต์ 2.โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 60 เมกะวัตต์ 3.โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน เพื่อให้ครบตามเป้าหมายใหม่ 900 เมกะวัตต์ และ 4.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 90 เมกะวัตต์
การเลื่อนพิจารณาแผนพีดีพีฉบับปรับปรุงใหม่ครั้งที่ 1 ซึ่งกระทบการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ และ โฆษก มองว่า แผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ยังไม่ผ่านการพิจารณาของ ครม. อาจมีเหตุผลที่รัฐบาลต้องพิจารณาว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าได้จริงไหม และถ้ามีโรงไฟฟ้าชุมชนจะทำให้มีการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ท่ามกลางสำรองไฟฟ้าสูงเกินความต้องการในขณะนี้หรือไม่
เหตุผลของ กฟผ. ซึ่งต้องรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนเข้าระบบนั่นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องที่เป็นเบื้องหน้าเบื้องหลังที่เม้าท์กันให้แซ่ดในแวดวงพลังงานก็คือว่า ระหว่างที่มีข้อสงสัยทำไมเจอโรคเลื่อน ก็มีใครบางคนฉวยโอกาสปั่นข่าวลือว่ามีขบวนหาประโยชน์จากโครงการนี้
ว่ากันว่า มีรายการจัดสรรปันส่วนโควตากันเรียบร้อย ตั้งแต่ Quick Win 100 เมกะวัตต์ จนถึงโครงการใหม่ 700 เมกะวัตต์ ก็มีจัดคิวกันใครได้ก่อนหลัง โดยวิ่งวุ่นกันฝุ่นตลบตั้งแต่ท้องถิ่นยัน กกพ. กระทรวงพลังงาน ทุกขั้นตอนเงินสะพัด รอเพียงครม.อนุมัติ และสัญญาว่าจ่ายครบจบแน่
ฝุ่นตลบในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเกิดขึ้นท่ามกลางเกมแซะเก้าอี้กลุ่มสี่กุมาร ซึ่งประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กระทั่งสุกงอมเต็มที่เมื่อกลุ่มสี่กุมาร ลาออกตำแหน่งรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
จากนี้ไปก็ต้องจับตาดูว่า นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สมัยแรก อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด อดีตกรรมการ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ที่มีข่าวจะเข้ามาเป็น รมว.พลังงาน จะเอายังไงต่อกับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องไม่ลืมกระแสข่าวที่ว่า มีรายการผสมโรงจาก “ลุงป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องการผลักดันเป็นโรงไฟฟ้าขยะมากกว่าโรงไฟฟ้าชุมชน บนความเชื่อที่ว่า โรงไฟฟ้าขยะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ชุมชนได้ เข้าทำนอง “ขยะข้าต้องมาก่อน” ซึ่งที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าขยะก็มีปัญหาอุปสรรคทำให้หลายๆ พื้นที่หยุดชะงักและล้มโครงการไป หากแผน PDP ที่ทบทวนใหม่ตอบโจทย์ได้ตรงกว่าค่อยมาว่ากัน
ติดตามกันต่อไปว่า การปรับรื้อแผนพลังงานใหม่และโรงไฟฟ้าชุมชน จะเดินหน้าต่ออย่างไร หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คนใหม่ เข้ามาเสียบแทน