กระทรวงพลังงานเตรียมข้อมูลรอบด้านเกาะติดการใช้พลังงานหลังโควิด-19 กระทบยอดใช้พลังงานโลกหดตัวสูงสุดรอบ 70 ปี ขณะที่ไทยลดลงตามทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า จ่อปรับแผนพลังงานใหม่หมด เล็งปรับพีดีพีฉบับใหม่ไตรมาส 4 ปีนี้นำร่อง
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนาทิศทางพลังงานประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด จัดโดยคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ว่า ขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดถึงการใช้พลังงานภาพรวมในปี 2563 หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้การใช้น้ำมันและไฟฟ้าลดลง โดยสำนักงานพลังงานสากล (EIA) ประเมินว่าการใช้พลังงานของโลกปี 2563 จะลดลงมากสุดในรอบ 70 ปี รวมถึงหากมีการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ก็อาจกระทบต่อการใช้ได้อีก ซึ่งเหล่านี้ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการปรับแผนพลังงานของประเทศเช่นกัน โดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศระยะยาว 20 ปีฉบับใหม่ (ร่าง PDP-2021) ที่อาจจะปรับในไตรมาส 4 ปีนี้
“ความเสี่ยงของการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ EIA ประเมินว่าการใช้น้ำมันจะยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติในปีนี้ และการใช้ไฟฟ้าของโลกก็หดตัว 5% มากสุดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ 2473 ขณะที่ไทยลดลงหนักเช่นกัน ช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปีนี้ การใช้น้ำมันลดลง 13.4% ไฟฟ้าลดลง 3.8% ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิดเพื่อปรับแผนพลังงานให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทั้งการทบทวนแผนพีดีพีฉบับใหม่และอีก 4 แผนพลังงานหลักของประเทศในไตรมาส 1 ปี 2564" นายกุลิศกล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ดำเนินงานหลากหลายด้านเพื่อลดผลกระทบโควิด-19 เช่น การลดราคาเชื้อเพลิง การคืนเงินประกันไฟฟ้า การตรึงราคาก๊าซหุงต้ม การลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงการเร่งรัดการลงทุนตามแผนพลังงานปี 63-65 รวม 1.1 ล้านบาทภายใต้โครงการพลังงานสร้างไทย เป็นต้น
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ และโฆษก กฟผ. กล่าวว่า การจะปรับแผนพีดีพีหรือไม่อย่างไรคงขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลเป็นสำคัญ ซึ่งตามหลักการแล้วการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงเพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ก็ย่อมต้องทำให้แผนการใช้พลังงานที่กำหนดไว้เปลี่ยนไป ซึ่งรวมไปถึงสำรองไฟฟ้าที่จะสูงขึ้นจึงต้องปรับแผนเพื่อบริหารจัดการโรงไฟฟ้า อาทิ การเลื่อนจ่ายไฟฟ้า
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า จากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลให้การใช้พลังงานภาพรวมลดลงแน่นอน โดยสะท้อนตามทิศทางเศรษฐกิจของปรระเทศ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของราคาพลังงานมีทิศทางปรับลดเช่นกันจากการบริโภคที่ลดต่ำโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และราคาก๊าซอ่าวไทย-พม่า ก็จะมีผลดีทำให้ราคาก๊าซเฉลี่ยที่จะนำไปสู่เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าลดลงในรอบ 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ ปตท.ได้ดำเนินการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในรูปแบบตลาดจร (Spot) หรือ Spot LNG แล้ว 7 ลำ ส่งมอบช่วง มี.ค.-ก.ค. 2563 ราคาเฉลี่ย 2.48 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าก๊าซฯ ราว 2,600 ล้านบาท และลดค่าไฟฟ้าได้ราว 2,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น Ft ลดลง 1.04 สตางค์
ทั้งนี้ ปตท.คาดว่าจะดำเนินการนำเข้า LNG ในปีนี้ได้ตามแผนที่วางไว้ 11 ลำ คิดเป็นปริมาณ LNG ประมาณ 6.6-7.7 แสนตัน คาดว่าจะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 3,000 ล้านบาท แม้ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในปีนี้จะลดลง 3% จากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ติดลบ โดย ปตท.ได้มีการบริหารจัดการก๊าซฯ ในอ่าวไทยเพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay แล้วหันไปนำเข้า Spot LNG แทน โดย ปตท.ได้ประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด ทั้งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งปลายปีนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ มีแผนนำเข้า LNG มาป้อนโรงไฟฟ้าด้วย