กฟผ.ติดตามการใช้ไฟใกล้ชิดหลังโควิด-19 ฉุดการใช้ชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ โดยหาก ศก.ไทยปีนี้ติดลบ 8.1% ตามที่ ธปท.คาดการณ์การใช้ไฟฟ้าจะติดลบในระดับ 8% เช่นกัน หวั่นทำสำรองไฟพุ่งและอาจกระทบต่อการนำเข้าแอลเอ็นจี ด้าน BGRIM ลั่นไม่กังวลนโยบายแอลเอ็นจีจะสะดุด
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศใกล้ชิดเพราะผลกระทบไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงตามทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์อัตราการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2563 จะติดลบ 8.1% ซึ่งหากเป็นไปตามทิศทางนี้คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะติดลบใกล้เคียงกับจีดีพีซึ่งจะกระทบต่อสำรองไฟฟ้าของประเทศจะเพิ่มเป็น 40%
"ไฟฟ้าสำรองของประเทศที่สูงขึ้นก็ต้องวางแผนการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจากต้นทุนต่ำสุดไปสู่ต้นทุนสูงสุด หรือ Merit Order ซึ่งมีทั้งของ กฟผ.และเอกชน ส่วนโรงไฟฟ้าที่ต้องเดินก่อนก็ต้องเป็นไปตามสัญญา must take, must run อย่างไรก็ตาม การใช้ไฟฟ้าเดือน พ.ค.ที่ติดลบ 10% นั้น ล่าสุดเดือน มิ.ย.เริ่มดีขึ้น" นายพัฒนากล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าเพราะเกี่ยวข้องกับนโยบายการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) แบบราคาตลาดจร (Spot) ซึ่งในส่วนของ กฟผ.ก็ได้ขออนุมัตินำเข้าเพิ่มเติม ขณะที่ บมจ.ปตท.ขอนำเข้าปีนี้ 11 ลำ และยังมี 3 เอกชนเตรียมพร้อมนำเข้า เพราะเมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงต่ำกว่าแผน หากนำเข้าแอลเอ็นจีราคา Spot เข้ามามากก็จะส่งผลกระทบต่อก๊าซสัญญาตลาดรวม (POOL GAS) หากเหลือใช้ก็จะเกิดปัญหาต่อ สัญญาไม่ใช้ก็ต้องจ่าย TAKE OR PAY เป็นภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า แม้ว่าการนำเข้าราคา Spot จะเป็นผลดีต่อค่าไฟฟ้าในปีนี้เพราะราคาต่ำ ซึ่งทางกระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาภาพรวมอย่างรอบคอบ ดังนั้น ในปีนี้ กฟผ.จะได้นำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มเติมจากที่นำเข้ามาแล้ว 2 ลำหรือไม่นั้น ก็คงจะต้องดูผลกระทบจากโควิด-19 เป็นสำคัญ
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM กล่าวว่า จากกรณีปัญหาทางการเมือง ซึ่งกลุ่ม 4 ยอดกุมาร โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่ากากระทรวงพลังงาน เป็นหนึ่งใน 4 ที่ลาออกจากพลังประชารัฐนั้น บริษัทฯ ไม่มีความกังวลว่าจะทำให้นโยบายส่งเสริมการนำเข้าแอลเอ็นจีสะดุด เนื่องจากเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลตั้งแต่ต้น มีกฎระเบียบต่อเนื่องมาตลอด ซึ่งการชะลอนำเข้าแอลเอ็นจีนั้นอาจรอความชัดเจนเรื่องการตั้งหน่วยงานเข้ามาดูแลระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (TSO) ของ ปตท.
ทั้งนี้ BGRIM ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้วในปริมาณ 6.5 แสนตันต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับทางผู้ผลิตและจำหน่ายแอลเอ็นจีระดับโลกกว่า 20 ราย คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้ และมองว่าเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ หากนำเข้าแอลเอ็นจีราคาถูกก็จะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกลง และจะสามารถช่วยผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ