xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นข่าวดี “กกพ.” เตรียมเคาะให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายคืนเงินค่าประกันมิเตอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กกพ.เสนอใช้โครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานเดิมออกไปอีก 1 ปี หลังพบข้อดีทำให้สามารถดึงเงินที่ลงทุนไม่เป็นไปตามแผนของ 3 การไฟฟ้าดูแลค่าไฟประชาชนจนสามารถตรึงค่าเอฟทีตลอด 16 เดือนต่อเนื่องจนถึงงวดล่าสุด (ม.ค.-เม.ย. 63) คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.8 หมื่นล้านบาท โดยเตรียมปรับค่าไฟฐานใหม่เริ่มปี 2564 พร้อมเล็งเคาะให้ 2 การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายคืนเงินคืนค่าประกันมิเตอร์ให้ผู้ใช้ไฟรายย่อย

นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กกพ.ได้เสนอกระทรวงพลังงานขอแก้ไขโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าฐานที่ใช้ตั้งแต่ปี 2558-2562 ไปจนถึงปี 2563 ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เดือนธันวาคมนี้ เนื่องจากพบว่าโครงสร้างค่าไฟปัจจุบันมีผลดีในการนำเงินลงทุนของ 3 การไฟฟ้าที่ไม่เป็นไปตามแผน (Call Back) มาบริหารจัดการจนส่งผลให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่จะปรับทุก 4 เดือนตามต้นทุนการผลิตไฟฟ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ต้นปี 2562 จนถึงงวดล่าสุด (ม.ค.-เม.ย. 63) รวม 16 เดือน คิดเป็นมูลค่า 18,789 ล้านบาท ที่สามารถลดภาระรายจ่ายให้ประชาชนได้

“โครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานจะครบ 5 ปี ซึ่งตามปกติจะต้องมีการทบทวนใหม่ จึงขอขยายไปอีก 1 ปี และในปี 2563 จะทำการศึกษาปรับโครงสร้างให้สอดรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไป โดยจะศึกษาเสร็จเพื่อใช้ในปี 2564” นายชาญวิทย์กล่าว

นอกจากนี้ กกพ.ยังอยู่ระหว่างการทบทวนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2561-2564 ให้ทันสมัย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับกิจการพลังงานของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะใช้เงินงบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์ 5,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาทในการดำเนินงาน

น.ส.นฤภัทร์ อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า สำนักงาน กกพ.ได้หารือกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อคืนตัวเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย (บ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก) ที่มีอยู่ราว 22 ล้านราย คิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท สำหรับผู้ที่จ่ายค่าไฟต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี หรือลูกค้าชั้นดี โดยเตรียมเสนอเรื่องนี้ให้ กกพ.พิจารณาดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะยื่นใช้ไฟใหม่ก็จะต้องจ่ายเงินค่าประกันการใช้ไฟเช่นเดิม ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานสัญญาให้บริการผู้ไช้ไฟรายย่อยที่มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2559

“ปกติเมื่อมีการขอใช้ไฟต่อการไฟฟ้าฯ จะต้องวางเงินค่าประกันการใช้ไฟรายละ 2,000-4,000 บาท และมีการนำไปฝากได้ดอกเบี้ย กกพ.จึงได้ดำเนินการที่จะคืนดอกเบี้ยออมทรัพย์เฉลี่ยทั้งปีของธนาคารกรุงไทยคืนทุก 5 ปี ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมเริ่มจ่ายแล้ว แต่บ้านที่อยู่อาศัยจะเริ่มจ่ายในเดือน ก.พ. ปี 2563 แต่เนื่องจากดอกผลเงินประกันเป็นจำนวนเงินน้อยมากจึงคิดว่าจะจ่ายเงินต้นที่วางไว้ด้วยแต่ต้องเป็นลูกค้าชั้นดี ส่วนรายใหญ่ที่เป็นภาคอุตสาหกรรมนั้นการวางเงินประกันมักใช้เป็นแบงก์การันตีจึงไม่ได้เป็นปัญหาอะไร” น.ส.นฤภัทร์กล่าว

สำหรับทิศทางค่าไฟตลอดปี 2563 นั้นยังคงต้องติดตามราคาน้ำมันที่จะมีผลสะท้อนมายังราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเบื้องต้นมีทิศทางขาลงเล็กน้อยแต่ยังต้องคำนึงถึงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทและการใช้ไฟฟ้าภาพรวม ซึ่งในงวดแรก (ม.ค.-เม.ย. 63) กกพ.ได้ประกาศตรึงค่าเอฟทีไปแล้ว ขณะที่การรับซื้อไฟฟ้าใหม่ๆ ยังจำเป็นจะต้องรอดูการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-80 หรือ (PDP 2018) อีกครั้งที่จะต้องไปในทิศทางเดียวกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AED P2018) เช่นกัน

“กกพ.มีการประกาศหลักเกณฑ์การซื้อไฟตามนโยบายรัฐ ทั้งโซลาร์ ภาคประชาชน ขยะอุตสาหกรรม ฯลฯ การรับซื้อพลังงานทดแทนใหม่ๆ ก็คงอยู่ที่นโยบายเช่นกัน และต้องรอการปรับแผนพลังงานต่างๆ ด้วย” น.ส.นฤภัทร์กล่าว


นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ รองเลขาฯ สำนักงาน กกพ.กล่าวว่า การมาขอยื่นเป็นผู้นำเข้าและจัดหาหรือ Shipper ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่ปัจจุบันมีเพียง บมจ.ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่อยู่ระหว่างการนำร่องทดลองนำเข้ายังไม่มี แต่มีเพียงการสอบถามเข้ามา 2-3 ราย เช่น บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เป็นต้น แต่ทั้งนี้ กกพ.อยู่ระหว่างการปรับปรุงระเบียบการดูแลผู้บริหารท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (TSO) เพื่อรองรับนโยบายการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส มีอิสระ และมีประสิทธิภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น