xs
xsm
sm
md
lg

พพ.รับโซลาร์ภาคประชาชนคนเมินเหตุลงทุนไม่คุ้ม เร่งทบทวน ธ.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พพ.” เตรียมหารือรอบด้านเร่งทบทวนโครงการโซลาร์ภาคประชาชนใหม่ คาดสรุป ธ.ค.นี้ รับภาคครัวเรือนเมินเข้าร่วม เหตุส่วนใหญ่กลางวันไปทำงานไม่คุ้มหากติดตั้ง แย้มแม้เพิ่มราคารับซื้ออาจไม่ใช่คำตอบ อาจเล็งมาตรการอื่นๆ แทน ด้านเดลต้าฯ ตอกย้ำติดโซลาร์รูฟคุ้มค่าการลงทุน คืนทุนได้เร็วขึ้น

นายสุรีย์ จรูญศักดิ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ พพ.อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) เพื่อที่จะเร่งสรุปแนวทางการทบทวนโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่ได้นำร่องรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้จำนวน 100 เมกะวัตต์ ในปี 2562 ว่าสาเหตุใดประชาชนจึงให้ความสนใจต่ำกว่าที่คาดไว้ คาดว่าจะสรุปแนวทางได้ภายในเดือนธันวาคมนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนถึงทิศทางดำเนินานในปี 2563

ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (พีดีพี 2018) กำหนดการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2580 ซึ่งในที่นี้เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาภาคครัวเรือน หรือโซลาร์ภาคประชนชน 1,000 เมกะวัตตต์ ระยะ 10 ปี โดยนำร่องปี 2562 จำนวน 100 เมกะวัตต์ก่อน โครงการนี้มุ่งเน้นการผลิตเองใช้เองเป็นหลัก ส่วนที่เหลือรัฐรับซื้อในอัตรา 1.68 บาทต่อหน่วย ขณะนี้ประชาชนยื่นแสดงความสนใจเพียง 4.85 เมกะวัตต์เท่านั้น เบื้องต้นพบว่าสาเหตุหนึ่งมาจากโครงการนี้เป็นการส่งเสริมในภาคที่อยู่อาศัย (ครัวเรือน) หากจะคุ้มทุนจะต้องเป็นผู้ที่อาศัยในช่วงกลางวัน แต่ส่วนใหญ่มักไปทำงานนอกบ้าน

“โครงการนี้เน้นให้ผลิตเองใช้เอง เหลือจึงขาย และรัฐรับซื้อส่วนเกินระยะ 10 ปี ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย ภาคครัวเรือนถ้าติดตั้งแล้วไม่มีคนอยู่บ้านกลางวันจึงไม่คุ้ม เพราะหลักการต้องผลิตเองใช้เองเป็นหลัก ต่างจากอาคารโรงงานที่จะใช้กลางวันทำให้มีความคุ้มค่า ดังนั้นก็ต้องวิเคราะห์ว่าแม้จะให้อัตรารับซื้อสูงขึ้นก็อาจจะยังไม่จูงใจก็ได้ เพราะที่สุดก็ไม่ได้ใช้กลางวันอยู่ดี ต้องวิเคราะห์ว่าอาจจะให้แนวทางการส่งเสริมอื่นๆ แทนหรือไม่ ซึ่งก็จะเร่งสรุปเพื่อให้ระดับนโยบายตัดสินใจอีกครั้ง” นายสุรีย์กล่าว

สำหรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี 2015) เดิมกำหนดส่งเสริมโซลาร์ทั้งหมด 6,000 เมกะวัตต์ ในปี 2579 แต่แผนพีดีพีใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 เมกะวัตต์ พพ.จึงอยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนเออีดีพีใหม่ให้สอดรับกับพีดีพึ 2018 โดยหลังจากมีความชัดเจนถึงนโยบายโซลาร์ภาคประชาชนแล้วก็จะทำให้เห็นภาพแนวทางความชัดเจนของแผน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจเริ่มหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อใช้เองในการลดค่าใช้จ่ายมากขึ้นกรณีที่ พพ.มาศึกษาดูงานล่าสุดของ เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ติดตั้งในการประหยัดค่าไฟมีความคุ้มค่าอย่างมาก ธุรกิจเหล่านี้ยังสามารถนำเงินลงทุน 50% ขอลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้เป็นเวลา 3 ปี จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้อีกด้วย


นายปิติสุข จิตเกษม ผู้อำนวยจัดการทั่วไป บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอด 4 ปีของการลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในอาคารโรงงานของเดลต้าฯ จำนวน 6.3 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 245 ล้านบาท สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้รวม 65 ล้านบาท หรือประหยัดต่อหน่วยได้ 15-17% จะคืนทุนได้ภายใน 4-4.5 ปี ถือเป็นความคุ้มทุนและสิ้นปีนี้จะมีกำลังผลิตติดตั้งรวม 7 เมกะวัตต์

สำหรับการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาดใหญ่ที่สุด อยู่ในโรงงานที่ 5 ขนาดกำลังการผลิต 3.2 เมกะวัตต์ จำนวนแผงโซลาร์เซลล์ 18,347 แผ่น บนพื้นที่หลังคากว่า 22,532 ตารางเมตร สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่า 4,675,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง/ปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ประหยัดเงินได้มากกว่า 20 ล้านบาทต่อปี ด้วยมูลค่าการลงทุน 125 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น