xs
xsm
sm
md
lg

คิกออฟโรงไฟฟ้าชุมชนปี63 เป้าพันเมกะวัตต์เงินสะพัดแสนล.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360-"สนธิรัตน์"เผยนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการและท้องถิ่นทั่วประเทศอย่างคึกคัก เตรียมออกประกาศหลักเกณฑ์การลงทุนและเริ่มคิกออฟปี 63 ตั้งเป้า 1,000 เมกะวัตต์ ดันเศรษฐกิจไทยเงินสะพัดกว่า 1 แสนล้านบาท

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าของนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ว่า ขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ยกร่างหลักเกณฑ์และแนวทางการร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนเสร็จแล้ว โดยจัดทำรายละเอียดที่ครบสมบูรณ์ และได้นำข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้รับจากเวทีรับฟังความความคิดเห็นมาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนและประชาชนแล้ว และหลังจากนี้ พพ. จะนำเสนอร่างหลักเกณฑ์นี้เสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จากนั้นจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2563

"โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นนโยบายที่ตอบโจทย์ประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศ สามารถเป็นเจ้าของพลังงานได้ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ ยกระดับชุมชนสู่การเป็นผู้ผลิต ผู้ใช้ และผู้จำหน่ายไฟฟ้า จึงได้รับความสนใจอย่างมากมาย มีองค์กรท้องถิ่นและผู้ประกอบการที่มีศักยภาพลงทุน สอบถามเข้ามายังกระทรวงพลังงานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ร่างหลักเกณฑ์ที่กำลังจะออกมานี้ จึงถือเป็นการสร้างความชัดเจนให้ทุกฝ่ายได้ดำเนินงานขั้นต่อไป"นายสนธิรัตน์กล่าว

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า โรงไฟฟ้าชุมชน ถือเป็นการพลิกมิติด้านพลังงานครั้งสำคัญ จากที่เคยถูกมองว่าอยู่ในกลุ่มทุนใหญ่ มาสู่มือของประชาชนคนเล็ก คนน้อย สามารถมีสิทธิ์ มีเสียง มีส่วนร่วมกับชุมชนของตนเองได้ โดยอาศัยวัตถุดิบทางการเกษตร พืชผลพลังงานตามบริบทของท้องถิ่น และทรัพยากรหมุนเวียนตามธรรมชาติ เช่น แสงแดด นับว่าสอดคล้องกับทิศทางด้านพลังงานสะอาด และกระแสอนุรักษ์ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังก้าวไปอีกด้วย

สำหรับขนาดของโรงไฟฟ้าชุมชนแต่ละแห่งนั้น จะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (vspp) ซึ่งมีขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ต่อโรง มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ซึ่งนโยบายของกระทรวงพลังงาน มีเป้าหมายจะส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนรวมทั้งสิ้น 1,000 เมกะวัตต์ (MW) เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนในภาพรวมไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทนี้ และเข้าระบบได้ในปี 2565 ที่สำคัญโครงการประเภท Quick Win จะสามารถส่งไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายใน 6 เดือน หลังจากการได้ผลการคัดเลือก

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ในส่วนรูปแบบการขายไฟฟ้าคืนกลับมายังภาครัฐนั้น ได้มอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมข้อมูลปริมาณความต้องการไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาคไว้แล้วว่าในแต่ละพื้นที่มีมากน้อยอย่างไร พร้อมวางระบบสายส่งที่มีศักยภาพ ส่วนการเปิดการรับซื้อไฟฟ้าจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งปัจจุบัน กกพ. เตรียมความพร้อมเบื้องต้นไว้ระดับหนึ่งเช่นเดียวกัน จึงมั่นใจว่าโครงการนี้จะมีความพร้อมดำเนินการ สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างเป็นระบบ


กำลังโหลดความคิดเห็น