นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ปตท.ยังเจรจาเดินหน้าขายก๊าซธรรมชาติให้กับบริษัท หินกองเพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) อยู่ แม้ว่าบริษัทดังกล่าวจะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้วก็ตาม ซึ่งขั้นตอนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ต้องขออนุมัติจากภาครัฐ รวมทั้งต้องดำเนินการจองใช้ระบบท่อและคลังก๊าซฯ (เทอร์มินัล) ก่อน ซึ่งปัจจุบันมีเพียงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพียงรายเดียวที่ขอจองใช้ท่อและเทอร์มินัลภายใต้ข้อกำหนดการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่สาม หรือ Third Party Access (TPA Codes)
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) บริษัทเอกชนหลายราย ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), บริษัท หินกอง เพาเวอร์ฯ ได้รับอนุญาตนำเข้า LNG ปริมาณ 1.4 ล้านตัน/ปี, บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) นำเข้า LNG ปริมาณ 6.5 แสนตัน/ปี, กัลฟ์ แอลเอ็นจี นำเข้า LNG ปริมาณ 3 แสนตัน/ปี
“ขณะนี้ ปตท.ยังเดินหน้าเจรจาขายก๊าซฯ กับภาคเอกชนและโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อรักษาดีมานด์ขายก๊าซฯ โดยมั่นใจว่าราคาจัดหาก๊าซฯ สามารถแข่งขันได้ โดยปีนี้คาดว่าความต้องการใช้ก๊าซฯ จะทรงตัวหรือต่ำกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบจากปีก่อน ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซฯ ในประเทศอยู่ที่ 4.5-4.8 พันล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน”
นายวุฒิกรกล่าวต่อไปว่า ปตท.ยังรอความชัดเจนนโยบายภาครัฐเพื่อปรับโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่ รวมทั้งเตรียมปรับสูตรราคาก๊าซฯ เป็น 2 ตลาด คือ 1. ราคาตลาดรวม (Pool Market Price) ที่ราคาเฉลี่ยมาจากก๊าซฯ อ่าวไทย พม่า และสัญญา LNG ระยะยาวของ ปตท. และ 2. ราคาตลาด (Market Price) นั้น มองว่าในส่วนของการจัดหาก๊าซฯ ป้อนโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง ปตท.ก็ควรมีบทบาทที่มาดำเนินการ ซึ่งราคาก็ควรอยู่บนฐานการคำนวณ แต่หากเป็นการจัดหาก๊าซฯ ในส่วนอื่นๆ ก็ต้องรอดูกติกาของภาครัฐต่อไป ทิศทางราคา LNG ในรูปแบบตลาดจร (Spot) ในช่วงปลายปีนี้มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 3 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู
ส่วนแผนการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขาย LNG ในภูมิภาค หรือ Regional LNG Hub นั้น ปตท.ยังดำเนินการต่อเนื่อง และจะเริ่มทำทดสอบตลาดเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 3/2563 ในการนำเข้า LNG มาแล้วส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคนี้ในรูปแบบคาร์โก้ก่อนขยายปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นในอนาคต