กฟผ.ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาว 1 0ปี (Global DCQ) กับ ปตท. คิดเป็นปริมาณรับซื้อก๊าซฯ 736 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน สัญญามูลค่ากว่า 3.4 แสนล้านบาท
รายงานจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า วันนี้ (19 มิ.ย.) นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาว หรือสัญญา Global DCQ ระยะยาว 10 ปี (ก.ค.63-ก.ค. 73) กับนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน
สัญญาซื้อขายก๊าซฯระยะยาวฉบับใหม่ (GLOBAL DCQ) ดังกล่าว ทาง ปตท.จะเป็นผู้จัดหาก๊าซฯ ป้อนให้กับโรงไฟฟ้าทั้งหมดของ กฟผ.อาทิ โรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ โรงไฟฟ้าวังน้อย โรงไฟฟ้าจะนะ (ยกเว้นโรงไฟฟ้าน้ำพอง) คิดเป็นปริมาณซื้อขายก๊าซธรรมชาติ สูงสุด 736 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน สัญญามีมูลค่า 3.4 แสนล้านบาท โดยสัญญานี้มีการเจรจากันมายาวนาน หลังจากสัญญาซื้อขายก๊าซฯระยะยาวฉบับเดิมระหว่างปตท.กับกฟผ.ที่ซื้อขายก๊าซฯกันมาตั้งแต่ปี 2524 ได้สิ้นสุดลงเมื่อปี 2558 หลังจากนั้นก็มีการขยายสัญญาแบบปีต่อปีจนถึงปัจจุบัน ที่สัญญาจะหมดลงในวันที่ 30 มิ.ย. 2563
การบรรลุข้อตกลงในการเจรจาสัญญา Global DCQ ระหว่าง กฟผ.และ ปตท. เป็นไปตามนโยบายของรมว.พลังงาน ตามมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จากที่ผ่านมา ที่สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาว สิ้นสุดอายุไปตั้งแต่ ปี 2558 และ กฟผ.เลือกแนวทางการทำสัญญาระยะสั้นแบบปีต่อปีมาโดยตลอด
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า สัญญาระยะยาวดังกล่าว ได้ให้นโยบายให้ 2 หน่วยงานไปเจรจากัน เพื่อให้เป็นสัญญาระยะยาว เพื่อความมั่นคงของประเทศ ที่จะเกี่ยวเนื่องกับการผลิตก๊าซในอ่าวไทย อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯก็ได้ส่งเสริมการแข่งขันการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี ) เพื่อให้เกิดการนำเข้าในราคาต่ำที่สุด และทำให้เกิดผลดีต่อค่าไฟฟ้าของภาคประชาชน แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูเรื่องความมั่นคงควบคู่กันไปด้วย ล่าสุดประเทศไทยมีผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าแอลเอ็นจีแล้ว 5 ราย ได้แก่ ปตท., กฟผ., กัลฟ์, หินกองเพาเวอร์, กลุ่มบีกริม เพาเวอร์
ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานบอร์ด กฟผ.กล่าวว่า กระทรวงฯได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสม หลังจากที่มีผู้เสนอปรับโครงสร้างราคา เช่น ราคาอ้างอิงน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน เหมาะสมหรือไม่ ส่งผลให้ราคาก๊าซอ่าวไทย รวมทั้งราคาตลาดรวมหรือ POOL GAS (ราคาเฉลี่ยอ่าวไทย-พม่า และสัญญานำเข้าแอลเอ็นจีระยะยาว) อยู่ที่ประมาณ 7 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู สูงกว่าราคาตลาดจรของแอลเอ็นจี ที่ราคาปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งมีการประเมินกันว่า ราคาแอลเอ็นจีตลาดจรอาจจะเป็นราคาชั่วคราว และจากราคาน้ำมันที่ต่ำลงก็อาจจะทำให้ราคาที่ผูกกับน้ำมันเป็นผลดีต่อค่าไฟฟ้าในอนาคต
โดยบอร์ด กฟผ.ได้เสนอแผนการจัดหา LNG ของ กฟผ.ระหว่างปี 2563-2565 โดยจะนำเข้าแอลเอ็นจี ในปริมาณ ปีละ 0.6 ล้านตัน, 1.9 ล้านตัน และ 1.5 ล้านตัน ตามลำดับนั้นก็อยู่ในระหว่างที่เสนอขอความเห็นชอบจากกระทรวงพลังงาน ซึ่งการนำเข้าแอลเอ็นจีของ กฟผ.ก็เป็นไปตามการ รักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและบริหารจัดการต้นทุนค่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งกำหนดเป็น 2 แนวทาง คือ การจัดซื้อระยะยาว โดยจัดซื้อจาก ปตท.ภายใต้สัญญาหลักซื้อขายก๊าซธรรมชาติ Global DCQ และการจัดซื้อระยะสั้น โดยจัดหา LNG เพิ่มเติมในส่วนที่เกินจากปริมาณตามข้อผูกพันในสัญญากับ ปตท.