ปตท.เร่งจัดหาแอลเอ็นจีตลาดจรที่มีราคาถูกให้ครบตามเป้าหมาย 11 ลำในปีนี้ หรือรวม 6.6-7.7 แสนตัน รวมทั้งดึง GPSC ศึกษาโอกาสการทำธุรกิจแอลเอ็นจีหลังรัฐเปิดกว้าง
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท.ได้เร่งดำเนินการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในรูปแบบตลาดจร (Spot) ตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มอบหมายให้ ปตท.เร่งจัดซื้อแอลเอ็นจีตลาดจรในช่วงที่มีราคาถูก เพื่อมาเฉลี่ยต้นทุนค่าเชื้อเพลิงก๊าชธรรมชาติที่เป็นต้นทุนเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าสัดส่วนถึง 70% ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศมีราคาถูกลง
โดย ปตท.ได้ทำสัญญาจัดซื้อแอลเอ็นจีตลาดจรแล้ว จำนวน 5 ลำ ปริมาณลำละ 6-7 หมื่นตัน ซึ่งได้เริ่มนำเข้าลำแรกมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 ที่เหลือจะทยอยส่งมอบตามความต้องการใช้เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างความต้องการใช้ก๊าซฯในแต่ละช่วงเวลาด้วย ซึ่ง ปตท.มีแผนจะนำเข้าในปีนี้จำนวน 11 ลำ คิดเป็นปริมาณรวม 6.6-7.7 แสนตัน มีความเป็นไปได้ที่จะนำเข้าได้ครบตามแผนที่วางไว้ โดย ปตท.จะประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด ทั้งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม
นายวุฒิกรกล่าวถึงกรณีที่ กกพ.อนุมัติออกใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ให้แก่ภาคเอกชนหลายรายว่า ปตท.มองว่าเป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น หากจะนำเข้าก๊าซฯ ได้จริงยังต้องผ่านการพิจารณาของภาครัฐอีกหลายขั้นตอนซึ่งขณะนี้ ปตท.ก็มีแผนจะร่วมมือกับบริษัทในเครือ คือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในธุรกิจแอลเอ็นจีที่ภาครัฐจะเปิดกว้างมากขึ้นในอนาคต โดยยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้เพราะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นการศึกษา แต่โดยหลักการแล้วจะต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และหากอะไรที่ภาคเอกชนดำเนินการได้ ปตท.เองก็ควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกันด้วย
ส่วนความคืบหน้าโครงการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายแอลเอ็นจีในภูมิภาค (Regional LNG Hub) ขณะนี้ยังเดินหน้าตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขายแอลเอ็นจีของภูมิภาคตามแผนที่วางไว้ว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปีนี้ หลังจากเริ่มทดสอบกิจกรรมการให้บริการต่างๆ ในช่วงไตรมาสแรก
ในส่วนของการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลักที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะรับซื้อก๊าซฯจาก ปตท.นั้น คาดว่าจะมีการลงนามกันได้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งในส่วนของสัญญาใหม่ กฟผ.ได้กำหนดที่จะพิจารณาทางเลือกจัดหาแอลเอ็นจีในรูปแบบอื่นๆได้ด้วย โดยปริมาณก๊าซฯที่จะซื้อจาก ปตท.ในแต่ละปีจะมีปริมาณไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความต้องการใช้