โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่พิจารณาเพื่อยื่นขอใบอนุญาต Shipper นำเข้า LNG โดยร่วมศึกษากับ ปตท. คาดได้ข้อสรุปไตรมาส 3 นี้ เล็งนำเข้าก๊าซป้อนโรงไฟฟ้า SPP Replacement ทั้ง 6 โรง
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า บริษัทกำลังพิจารณายื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเทียบเท่ากับผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้ารายอื่นที่ได้รับใบอนุญาต Shipper เพื่อนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LNG) จาก กกพ.ไปเมื่อเร็วๆ นี้
บริษัทฯ จะร่วมกับ บมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ประกอบการธุรกิจ LNG รายใหญ่ที่ครอบคลุมทั้งวงจร (Value Chain) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมดำเนินธุรกิจ LNG คาดว่าจะสรุปผลการดำเนินการในไตรมาส 3/2563
"กลุ่ม ปตท.มีจุดแข็งเป็นผู้ประกอบการจัดหา LNG อยู่แล้ว และ handle ในปริมาณที่มากที่สุดตอนนี้ ขณะที่เรามีจุดแข็งในการเป็นผู้ใช้ก๊าซฯ รายใหญ่รายหนึ่งของประเทศ ก็มาดูร่วมกันว่าจะบูรณาการร่วมกันอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยทำให้บริษัทมีขีดความสามารถในการแข่งขันไม่ด้อยไปกว่าคนอื่นในเรื่องต้นทุน ส่วนจะมีวิธีการอย่างไร แต่ละบริษัทมีวิธีการที่แตกต่างกัน เบื้องต้นได้คุยกับ ปตท.แล้วก็มาในเชิงบวก ไม่น่าจะเกิน 1-2 ไตรมาสนี้ก็น่าจะรู้ ไตรมาส 3 ก็อาจจะรู้" นายชวลิตกล่าว
ทั้งนี้ บริษัทใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า คิดเป็นปริมาณในรูปแบบ LNG เกือบ 2 ล้านตัน/ปี และปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าประเภท SPP ที่ใกล้จะหมดอายุ (SPP Replacement) อีก 7 สัญญา กำลังผลิตรวมประมาณ 600 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งจะเริ่มทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 2565โดยทั้ง 7 สัญญาจะต้องจัดหาเชื้อเพลิงใหม่ โดยในส่วนนี้มี 6 สัญญาใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิง ส่วนอีก 1 สัญญาเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดเล็ก ซึ่งการจัดหาเชื้อเพลิงสำหรับ SPP Replacement นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อบริษัท ขณะที่ก็ต้องรอดูนโยบายการเปิดเสรีก๊าซฯ และการปรับสูตรราคาก๊าซฯ ของกระทรวงพลังงานและ กกพ.ประกอบกันด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมกับ ปตท.ศึกษาความเป็นไปได้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่รัฐบาลมีแผนจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว เบื้องต้น ปตท.ให้ความสนใจโครงการตามแนวท่อก๊าซฯ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนและมีเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ความสนใจเชื้อเพลิงประเภทก๊าซชีวภาพ และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งต้องรอดูผลการศึกษาว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้า 3 รายเพิ่งได้รับใบอนุญาต Shipper เพื่อนำเข้า LNG เข้ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าของตนเอง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง ได้แก่ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ได้รับใบอนุญาต 1 ใบ โดยเตรียมนำเข้า LNG ปริมาณ 3 แสนตัน/ปี, บริษัทร่วมทุนระหว่าง GULF และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ในนามบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) ได้รับใบอนุญาต 1 ใบ เตรียมนำเข้า LNG ปริมาณ 1.4 ล้านตัน/ปี และกลุ่ม บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ได้รับใบอนุญาต 1 ใบ เตรียมนำเข้า LNG ในปริมาณ 6.5 แสนตัน/ปี