BGRIM เสนอรัฐปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรรมชาติสะท้อนราคาตลาดเพื่อให้ค่าไฟฟ้าลดลง ยกเลิกราคาขายเอสพีพีแพงกว่าไอพีพี มั่นใจยอดขายยังโตตามเป้าหลังอุตสาหกรรมฟื้นตัว ต้นทุนก๊าซทยอยลด
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าเอสพีพีและผู้รับใบอนุญาตนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี เสนอว่า ขณะนี้ราคาก๊าซตลาดจรในโลกราคากว่า 2 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ถูกกว่าราคาในไทยที่เฉลี่ยทุกแหล่งอยู่ที่ประมาณ 9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ดังนั้น เพื่อให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศลดลง อุตสาหกรรมแข่งขันได้ ประชาชนก็ได้ประโยชน์ ภาครัฐจึงควรพิจารณาปรับสูตรโครงสร้างราคาก๊าซทั้งระบบ โดยราคาก๊าซฯ อ่าวไทยไม่ควรอิงราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6 เดือน เพราะเมื่อราคาไม่สะท้อนราคาปัจจุบัน ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสับสนในความไม่สัมพันธ์ของต้นทุนที่ขึ้น-ลง ส่วนก๊าซฯ ที่ขายให้โรงไฟฟ้าเอสพีพี (ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้ารายเล็ก) ควรยกเลิกราคาที่ขายแพงกว่าโรงไฟฟ้าไอพีพี (ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่) 9 บาทต่อล้านบีทียู
"ต้นทุนค่าไฟฟ้า พบว่าร้อยละ 70 มาจากค่าเชื้อเพลิง หากค่าก๊าซลดลงได้ ค่าไฟฟ้าก็จะลดลง และเอสพีพีก็ถือว่าเป็นประโยชน์ผลิตทั้งไฟฟ้าและไอน้ำป้อนโรงงานอุตสาหกรรม การลงทุนค่าไฟฟ้าก็เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจ โดยขณะนี้เวียดนามค่าไฟฟ้าเพียง 2.70 บาท/หน่วย แต่ไทยอยู่ที่ประมาณ 3.50 บาท/หน่วย" นางปรียนาถกล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัทที่มีการเตรียมนำเข้าแอลเอ็นจีปี 2565 ปริมาณ 650,000 ตันได้นั้น ได้มีผู้ติดต่อจำหน่ายให้เป็นจำนวนมากทั้งเทรดเดอร์และผู้ผลิต โดยเสนอราคาที่ต่ำและจะเจรจาซื้อระยะยาว 10-15 ปี เนื่องจากขณะนี้ตลาดเป็นของผู้ซื้อ โดยเมื่อบริษัทซื้อก๊าซราคาถูกก็จะนำมาลดค่าไฟฟ้าให้ลูกค้าต่อไป
ปัจจุบันประเทศไทยผู้มีใบอนุญาตนำเข้าแอลเอ็นจีทั้งหมด 5 ราย ได้ แก่ ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, กัลฟ์, หินกองเพาเวอร์ และ บี.กริม ซึ่งจะต้องนำเข้าผ่านสถานีแปรสภาพและท่อของ ปตท. โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ย้ำว่าปริมาณนำเข้ายังต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาล ซึ่งจะดูเรื่องต้นทุนค่าไฟฟ้าและความมั่นคงพลังงานเป็นหลัก
นางปรียนาถกล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจและทั่วโลกจะถดถอยจากภาวะการระบาดของโควิด-19 แต่ปีนี้บริษัทยังไม่ลดเป้าหมาย คาดรายได้โตขึ้นร้อยละ 10-15 ทั้งจากลูกค้ารายใหม่ที่รับซื้อไฟฟ้าตามแผนเพิ่มขึ้น และต้นทุนราคาก๊าซฯ ทยอยปรับลดลง โดย ปตท.แจ้งปรับลดราคาก๊าซ หลังมีการนำแอลเอ็นจีราคาตลาดจรเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 1-4/2563 ราคาก๊าซเฉลี่ยเป็นดังนี้ 267, 265, 235 และ 210 บาท/ล้านบีทียู ตามลำดับ ขณะเดียวกัน เพื่อความปลอดภัยในการดำเนินธุรกิจบริษัทได้มีกู้เงิน 9,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่อง ขณะที่บริษัทมีกระแสเงินสดประมาณ 21,000 ล้านบาท โดยในช่วงล็อกดาวน์เดือนมีนาคม-เมษายนมีลูกค้าบางกลุ่มหยุดหรือลดกำลังผลิต เช่น ค่ายรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค แต่ขณะนี้ก็ได้กลับมาเดินเครื่องผลิตแล้ว ขณะที่สินค้ากลุ่มแพกเกจจิ้งและเครื่องปรับอากาศมีการผลิตและใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
นางปรียนาทมั่นใจว่าบริษัทจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามแผน คือ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ในปี 2565 โดยปัจจุบันมีสัญญาไฟฟ้าแล้ว 3,547 เมกะวัตต์ ผลิตเข้าระบบไปแล้ว 3,019 เมกะวัตต์ กำลังมีการเจรจาขยายการลงทุนทั้งสร้างโรงใหม่ ซื้อกิจการ ทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย เกาหลีใต้